Lifestyle

เปิดใจ "ครูอาสาปกาเกอะญอ" สอนภาษาไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครูอาสาสมัคร"ปกาเกอะญอ" ฝึกเด็กสอนผู้ใหญ่อ่าน-เขียน"ไทย"

      “สมัยก่อนคนในชุมชน จะเขียนหนังสือ อ่านหนังสือภาษาไทยไม่ได้ เวลาไปติดต่อราชการก็ต้องใช้วิธีการปั๊มลายนิ้วมือ แทนการเขียน แต่ 2-3 ปีมานี้ตั้งแต่จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ทุกคนในชุมชนอายุ 15-59 ปี ได้รู้หนังสือ ให้เด็กนักเรียนทุนพระราชทาน ช่วยสอนผู้ใหญ่อ่านและเขียนภาษาไทย ก็ดีขึ้นอย่างน้อยๆ เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเริ่มเขียนชื่อตัวเองได้ อ่านได้ ไปที่ราชการพูดคุยได้เข้าใจภาษาไทยมากขึ้น”    

    วิธีการเรียนการสอนภาษาไทยของครูอาสาสมัคร "จันทร์จิรา คีรีบรรพตกล" ครูสำนักบริหารงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศศช.) “แม่ฟ้าหลวง” ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บ้านห้วยมะโหนกคี ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

      หมู่บ้านห้วยมะโหนกคี ม.7 อยู่ห่างจากตัวเมืองท่าสองยาง ราว 52 กิโลเมตร มีเส้นทางลาดยางราว 45 กิโลเมตร อีก 7 กิโลเมตรเป็นถนนดินลูกรังสูงชันไปตามไหล่เขา ชุมชนแห่งนี้มีประชากรทั้งหมด 225 คนเป็น ชาย 109 คน หญิง 116 คน เป็นชาวไทยภูเขา ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) มีอาชีพเกษตรกร หาของป่า ไปจนถึงรับจ้างทั่วไป ด้วยอยู่พื้นที่ห่างไกลหน่วยงานจัดการศึกษาเข้าถึงได้ยาก อีกทั้งชาวบ้านไม่สื่อสารภาษาไทย อ่าน เขียนไม่ได้ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งประสบปัญหาเวลาติดต่อหน่วยงานราชการ เจ็บป่วยไปพบแพทย์การสื่อสารบอกอาการไม่ได้ ปัจจุบันยังมีชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ไม่รู้หนังสือถึง 133 คน

เปิดใจ "ครูอาสาปกาเกอะญอ" สอนภาษาไทย

       ครูจันทร์จิรา เล่าว่า ที่ศศช.บ้านห้วยมะโหนกคี มีครูอาสาฯ 2 คน คือเธอและครูเสกสรรค จุลลศรี ที่สอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เพราะเน้นจัดการศึกษาให้กับทั้งชุมชน มีผู้เรียนทั้งสิ้น 47 คน เป็นชาย 26 คน และหญิง 21 คน ในตอนเช้าทุกคนก็จะมาเรียน ส่วนเย็นเลิกเรียนก็กลับบ้าน ปัญหาสำคัญของที่นี่คือ คนในชุมชนซึ่งเป็นชาว ปกาเกอะญอ ไม่สามารถสื่อสาร พูด อ่าน ภาษาไทยได้ เขาจะสื่อสารภาษาถิ่น ของเขา ซึ่งการจัดการเรียนการสอนให้ชาวบ้านในชุมชนได้เรียนรู้ภาษาไทย ก็ใช้วิธีการให้นักเรียนซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชนเป็นคนไปสอน

      นักเรียนที่ได้รับมอบหมายให้สอนนั้น เป็นนักเรียนทุนพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะคัดเลือกเด็กที่เรียนอยู่ระดับป.4-ป.6 โดยได้รับทุน5,000 บาทต่อปี โดยนักเรียน1 คนจะต้องสอนหนังสือผู้ใหญ่ 5 คน ซึ่งจะใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียนแล้ว โดยจะมีสมุดคู่มือ แบบฝึกหัดให้เป็นแนวทางในการสอน มีทั้งให้ฝึกคัดลายมือ รู้จักพยัญชนะ ตัวสะกด อ่านออก และพูดสื่อสารได้ แต่เป้าหมาย คือ ต้องสอนให้ผู้ใหญ่อ่าน เขียน พูดภาษาไทย โดยเฉพาะชื่อของตนเอง จะต้องเขียนเป็นภาษาไทยได้ถูกต้อง ขณะเดียวกัน ในทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะนัดรวมตัวเพื่อติดตาม ประเมินผล หากมีข้อบกพร่องก็จะแนะนำและแก้ไข

เปิดใจ "ครูอาสาปกาเกอะญอ" สอนภาษาไทย เปิดใจ "ครูอาสาปกาเกอะญอ" สอนภาษาไทย

"ครูจันทร์จิรา คีรีบรรพตกล" 

      “คนที่ไม่รู้หนังสือซึ่งยังมีค่อนข้างมาก ซึ่งถ้าชาวบ้านที่อยู่ในวัย 15-59 ปีเขาพร้อมที่จะเรียนรู้ ฝึกอ่าน ฝึกเขียน แต่ถ้าเป็นคนสูงวัยไปแล้ว คืออายุ 60 ปีขึ้นไปเขาจะไม่ค่อยสนใจ อยากเรียนรู้ อ่าน เขียนแล้ว แต่ในฐานะครู เราจะเลือกสอนไม่ได้ แต่ต้องสอนทุกคนในชุมชนให้มีความรู้ ก็ต้องหากิจกรรมส่งเสริม และกระตุ้นเพื่อสร้างการรับรู้การใช้ภาษาไทย”ครูจันทร์จิรา กล่าว

      กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทาง ศศช.บ้านห้วยมะโหนกคี ทำอยู่มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสียงตามสายที่ให้ผู้นำชุมชน หรือ ครู หรือ นักเรียนที่รับผิดชอบมาประกาศแจ้งข่าวสาร เหตุการณ์สำคัญ กิจกรรมของชุมชนให้ทุกคนได้ทราบ กิจกรรมฉายภาพยนต์บันเทิง ที่มีการพากษ์เสียงภาษาไทย โดยจะมีช่วงเวลาการฉาย 19.00-21.00 น. ยังมีกิจกรรมที่กระตุ้นการใช้ภาษาไทย นั่นคือ การร้องเพลงไทย (คาราโอเกะ) ไปจนถึงกิจกรรมเสวนา ที่เกี่ยวกับสุขอนามัย เป็นต้น

เปิดใจ "ครูอาสาปกาเกอะญอ" สอนภาษาไทย เปิดใจ "ครูอาสาปกาเกอะญอ" สอนภาษาไทย

     “จันทร์จิรา” ครูอาสากศน.วัย 33 ปี จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง หลักสูตร 5 ปี เรียนที่ศูนย์ให้การศึกษาโรงเรียนชุมชนบ้านแม่ต้าน โดยได้พระราชทานทุนการศึกษาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีเชื้อสาย ปกาเกอะญอ มีความผูกพันและพื้นเพเป็นคนที่นี่ คุ้นเคยกับบริบท วัฒนธรรมในพื้นที่ดี เธอเริ่มบทบาทของครูอาสาบนดอยตั้งแต่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อจบป.ตรี ก็มาเป็นครูอาสา กศน.โดยไม่ได้คิดย้ายไปไหน เหตุผลสำคัญอยากใช้ความรู้ ความสามารถที่มีเพื่อพัฒนาชีวิตของคนในชุนชนพื้นที่สูง

0 เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ 0 [email protected]

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ