Lifestyle

“เชื้อดื้อยาจุลชีพ”คร่าชีวิตคนไทยปีละ3หมื่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รองนายก“ณรงค์”เผย“เชื้อดื้อยาจุลชีพ”คร่าชีวิตทั่วโลก 7 แสนคน เฉพาะไทยเสียชีวิตปีละ 3 หมื่นคน ชงตั้งคกก.ระดับชาติ วางกรอบแก้ไขปัญหาลดการใช้ยาไม่เหมาะสม

          พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลัง การประชุมคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2560 ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 41คนและทรงคุณวุฒิ 10 คน มีบทบาทสำคัญในการลดปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศ ซึ่งปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาระดับโลก องค์การอนามัยและสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญ มีการประชุมเฉพาะด้านอย่างต่อเนื่อง

          พลเรือเอกณรงค์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 71 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 ประเทศไทยในฐานะประธานของประเทศ G77 นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (High Level Meeting on Antimicrobial Resistance)แสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทย และ กลุ่มประเทศ G77ที่จะร่วมแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาในระดับโลก เน้นความร่วมมือของหน่วยงานและทุกภาคส่วน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาสูงถึง 700,000 คน

          "หากไม่เร่งแก้ไขคาดว่าในปี 2590 ผู้เสียชีวิตจะสูงถึง10 ล้านคน โดยประเทศในทวีปเอเชียจะมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 4.7ล้านคน คิดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจประมาณ3.5พันล้านล้านบาท สำหรับประเทศไทย พบการเสียชีวิตประมาณปีละ30,000คนคิดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจประมาณ 4.2หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยามาจากการใช้ยาต้านจุลชีพที่เพิ่มขึ้นและมีการใช้อย่างไม่เหมาะสม"รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

          พลเรือเอกณรงค์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560 -2564 เป็นแผนยุทธศาสตร์ฉบับแรกของไทย ที่เน้นการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นกรอบการทำงานให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

         "1.การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) 2.การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ 3.การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม 4.การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง 5.การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน และ 6.การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน"พลเรือเอกณรงค์ กล่าว

           พลเรือเอกณรงค์  กล่าวอีกว่า ตั้งเป้าบรรลุเป้าหมาย5ข้อคือ ลดป่วยจากเชื้อยาร้อยละ 50 ลดการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับคนร้อยละ 20 และสำหรับสัตว์ร้อยละ30ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและใช้ยาต้านจุลชีพเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ20มีระบบจัดการการดื้อยาที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์มาตรฐานสากล

          รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ฯในระยะเร่งด่วนปีงบประมาณ2560ได้ดำเนินการตามเป้าหมายดังนี้1.ตั้งคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ 2.มีนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผลที่ครอบคลุมยาต้านจุลชีพ 3.มีการนำร่องระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านบูรณาการในโรงพยาบาลอย่างน้อย2แห่ง

          "4.มีประกาศฯยกเลิกยาต้านจุลชีพจากยาสามัญประจำบ้าน1ฉบับ5.มีประกาศฯปรับประเภทยาต้านจุลชีพ6.มีประกาศเรื่องควบคุมการผลิต ขาย ใช้ ยาผสมลงในอาหารสัตว์1ฉบับ 7.มีการนำร่องระบบมาตรฐานการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป24แห่งใน12เขตสุขภาพ8.มีการนำร่องระบบมาตรฐานการจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงอย่างน้อย2แห่ง"พลเริอเอกณรงค์ กล่าวในที่สุด

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ