Lifestyle

จากอดีตสู่ปัจจุบัน ครบรอบ 83 ปี ม.ธรรมศาสตร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก้าวสู่83 ปี มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2477 โดยมีชื่อเมื่อเริ่มก่อตั้งว่า "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง" (มธก.)

     "...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา..." ปรัชญาของการตั้งมหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ (มธ.) ปรากฏตามสุนทรพจน์ ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รายงานต่อผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์

     ก้าวสู่83 ปี มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2477 โดยมีชื่อเมื่อเริ่มก่อตั้งว่า "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง" (มธก.) มหาวิทยาลัยนี้ถือกำเนิดมาจากความคิดริเริ่มของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (รัฐมนตรีว่าการ กระทรวง มหาดไทย ในขณะนั้น)

     โดยเล็งเห็นว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ขณะนั้นมีจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว เมื่อมีการ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ.2475 ประเทศชาติ มีความจำเป็นต้องมีบุคคล ที่มีความรู้ ทางกฎหมาย การปกครอง และสังคม มารับใช้ประเทศชาติโดยด่วน จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง พ.ศ.2476 เพื่อเปิดสอนในวิชาแขนงดังกล่าว เมื่อพระราชบัญญัติผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ได้มีพิธี เปิดมหาวิทยาลัยขึ้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 โดยผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์เป็นผู้กระทำพิธีเปิด และ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยคนแรกของมหาวิทยาลัย (และเป็นบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยคนเดียว เพราะต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ ตำแหน่ง เป็นอธิการบดี.

จากอดีตสู่ปัจจุบัน ครบรอบ 83  ปี ม.ธรรมศาสตร์

      ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงเป็นตลาดวิชา และเป็น มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย โดยให้สิทธิแก่ผู้ที่เคยศึกษาในโรงเรียน

      กฎหมายผู้สำเร็จประโยคมัธยมศึกษา และเปิดกว้างให้ถึงผู้ที่เป็น ข้าราชการ สมาชิกสภาผู้แทน ฯ ผู้แทนตำบล ครู ทนายความ เข้าเรียน ได้ด้วย ปรากฏว่าในปีแรกมีผู้สมัครเข้าศึกษาถึง 7,094 คน

      วิชาที่เปิดสอนมี 2 แขนงคือ หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต ซึ่งสอนวิชากฎหมายเป็นหลัก แต่ได้สอนวิชารัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการฑูตด้วย เมื่อจบปริญญาตรีธรรมศาสตรบัณฑิตก็อาจศึกษาต่อปริญญาโท แยกเป็นแขนงนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการฑูตต่อไป วิชาอีกแขนงหนึ่งคือ วิชาการบัญชี โดยมี หลักสูตร 3 ปี สำหรับประกาศนียบัตร ทางการบัญชี (เทียบเท่าปริญญาตรี) และ 5 ปี สำหรับประกาศนียบัตร ชั้นสูงทางการบัญชี (เทียบเท่าปริญญาโท)

      จากวิสัยทัศน์ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ทำให้ผู้ไม่มีโอกาสได้ศึกษาถึงขั้นมหาวิทยาลัยได้จบปริญญา และประกาศ นียบัตรไปรับใช้ประเทศชาติ ในทางการเมือง กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ วงการธุรกิจ และอาชีพอิสระเป็นอันมาก

      สำหรับที่ตั้งมหาวิทยาลัย ครั้งแรกใช้ตึกโรงเรียนกฎหมายเดิมที่เชิงสะพานผ่านฟ้าภิภพลีลา ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2478 มหาวิทยาลัยขอซื้อที่ดินบริเวณ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเดิมป็นที่ของทหาร และปรับปรุงอาคารเดิมพร้อมทั้งสร้างตึกโดม (อันหมายถึงปัญญา และความเฉียบแหลม) เงินที่ซื้อที่ดินรวมทั้ง การก่อสร้างได้มาจากเงินที่มหาวิทยาลัย เก็บจากค่าสมัคร และค่าเล่าเรียน (คนละ 20 บาท ต่อปี) นอกจากนี้ ในเวลาต่อมามหาวิทยาลัยยังได้ตั้งธนาคารเอเชียขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ สำหรับนักศึกษาวิชาการบัญชี ใช้เป็นที่ฝึกงานด้วย

       ในปี พ.ศ.2481 มหาวิทยาลัยตั้งโรงเรียนเตรียมปริญญามีหลักสูตร 2 ปี เพื่อรับผู้ประสงค์จะเข้าเรียนต่อ ที่มหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยตรง โรงเรียนเตรียมปริญญามีหลักสูตรการสอนหนักไปทางด้านภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และวิชาด้านสังคม เช่น ปรัชญา วิชาเทคโนโลยี ดนตรี พิมพ์ดีด และชวเลข เป็นต้น โรงเรียนเตรียม ปริญญามีทั้งหมดรวม 8 รุ่น จนถึงปี พ.ศ.2490 จึงถูกยกเลิกไป

      เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหาร ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ด้วยเหตุผลทางการเมือง และการ ปกครอง ของคณะรัฐประหาร ทำให้ มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบ และถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัย การเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ชื่อมหาวิทยาลัยถูกตัดคำว่า"การเมือง" ออก เปลี่ยนเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ตำแหน่ง ผู้ประศาสน์ การถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นอธิการบดี หลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิตถูกเปลี่ยนแปลงเป็น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี ความเป็นตลาดวิชาหมดไป ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ พ.ศ.2495

      ในปี พ.ศ.2518 ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี ท่านเห็นว่า ควรที่จะขยายการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ในชั้น ปริญญาตรีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มีส่วนสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมเช่นเดียวกับหลักสูตรทางสังคมศาสตร์ที่มียู่เดิม พื้นที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ไม่เพียงพอ ต่อการขยายตัว ทางวิชาการและการพัฒนา มหาวิทยาลัยจึงเจรจาขอใช้ที่ดินนิคมอุตสาหกรรม กระทรวง อุตสาหกรรม เนื้อที่ประมาณ 2,400 ไร่ ที่รังสิต เพื่อสนองรับการขยายตัว ของมหาวิทยาลัยต่อไป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงขยายออกไปที่รังสิต เรียกว่า มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเจริญ ก้าวหน้าและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังขยายไปที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยาด้วย โดยอยู่บนพื้นฐานการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ ดั่งเช่น จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ขอบคุณข้อมูล/ภาพจาก เว็บไซต์ www.tu.ac.th, www.glurr.com

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ