Lifestyle

ไพรินทร์ -เอกนิติ –ศุภชัย” 3คพอต.ดูแลต่างชาติเปิดม.ในไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

3 กรรมการในคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.) เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย และเป็นตัวจากภาคเอกชน

 

       .เมื่อวันที่ 20 มิย. 2560 “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ” ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สกอ. 955/2560 แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ 3 คน ประกอบด้วย 1.นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร 2.นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ และ3.นายศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.) เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย และเป็นตัวจากภาคเอกชน

   ไล่เรียงจาก ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ (B.Eng) จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ (M.Eng) จาก Tokyo Institute of Technology, ประเทศญี่ปุ่น และปริญญาเอก วิศวกรรมศาสตร์ (D.Eng) จาก Tokyo Institute of Technology, ประเทศญี่ปุ่น

    ปัจจุบัน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล,กรรมการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย,ที่ปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ ,กรรมการ คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ สำนักขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ

    สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ,กรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ,กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) ,กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

    ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง  หลังจบ ม.6 จากวชิราวุธวิทยาลัย ได้เข้าศึกษาต่อที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังคว้าเศรษฐศาสตร์ บัณฑิต เกียรตินิยม เริ่มต้นชีวิตการทำงานในภาคเอกชนรับราชการในปี 2536 ที่ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง 

    ต่อมาสอบทุน ก.พ. ตามความต้องการของสำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่ University of Illinois at Urbana-Champaign มลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่ Claremont Graduate University มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ

   ผลงานที่เขา ภาคภูมิใจมากที่สุดเพราะเป็นคนออกแบบและวางรากฐานของระบบการ วิเคราะห์และประมาณการเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นทางการขึ้นครั้งแรกในกระทรวงการคลัง และเป็นคนจัดทำรายงานประมาณการเศรษฐกิจไทย ฉบับแรกของกระทรวงการคลัง เคยดำรงตำแหน่งอัครราชทูต ฝ่ายเศรษฐกิจการคลัง ประจำสหราชอาณาจักรและยุโรป

    ซึ่งเป็น ตำแหน่งเดียวกับ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ เคยทำที่ลอนดอน บทความบางส่วนของ ดร. ป๋วย ที่ ธปท. รวบรวมไว้ ได้สร้าง แรงบันดาลใจและให้ข้อคิดในการทำงานได้เป็นอย่างดี

    เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย จะลดน้อยถอยลงจึงต้อง เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและทางด้านสังคมควบคู่ กันไป โดยเฉพาะระบบการศึกษาที่ต้องมีคุณภาพและเปิดโอกาสให้เด็ก ไทยได้เข้าศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

     ขณะที่ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จบการศึกษา ปริญญาตรี บริหารธุรกิจ จากบอสตันยูนิเวอร์ซิตี้ สหรัฐอเมริกา - ปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ (การเงิน) จากบอสตันยูนิเวอร์ซิตี้ สหรัฐอเมริกา 

      “ศุภชัย ” ซึ่งร่วมในนโยบายประชารัฐด้านการศึกษา ที่เจ้าตัวบอกว่าเป้าหมายแรกคือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในการพลิกระบบการศึกษาไทย จนไปสู่เป้าหมายของการเป็น “ศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียน” ซึ่งปลายทางของการศึกษาจะไปจบที่การวิจัย และการที่เอกชนสามารถนำงานวิจัยของนักวิจัยนั้นไปใช้ได้ การวิจัยในเชิงเทคโนโลยีที่เป็นอนาคตของโลกนั้น มี 4 ด้าน ได้แก่ 1.ไบโอ เทคโนโลยี ซึ่งจะรวมไปถึงด้านการแพทย์ 

       และมองว่าประเทศไทยมีพื้นฐานที่ดีในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะจะมีความเกี่ยวข้องกับการเกษตรด้วย ที่เรามีพื้นฐานอยู่แล้ว 2.ดิจิทัล เทคโนโลยี แน่นอนว่าไทยเรามีศักยภาพมหาศาล 3.โรบอติก ซึ่งไทยมีอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างใหญ่ คืออุตสาหกรรมยานยนต์ และยังมีกลุ่มนักศึกษานำหุ่นยนต์ไปแข่งขันและชนะเลิศในต่างประเทศมาจำนวนมาก สุดท้าย 4.นาโน เทคโนโลยี 

      แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้คือ จะต้องมี “แล็บ ฟาซิลิตี้” จะต้องเลือกมหาวิทยาลัยที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับภาคเอกชน จะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างกันในการสนับสนุนด้านการลงทุน และการนำนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์เก่งๆ ระดับโลกเข้ามา โดยภาครัฐสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้หลายวิธี ทั้งในเรื่องเงินและการให้แรงจูงใจ  

      “หากรัฐเจียดงบประมาณมาปีละ 2 หมื่นล้านบาท จากงบประมาณด้านการศึกษาที่มีอยู่แล้วปีละ 5.1 แสนล้านบาท มาทำแล็บ ฟาซิลิตี้ และบางส่วนนำไปจ้างบุคลากรระดับโลกเวียนเข้ามาตามสัญญาจ้าง เชื่อได้เลยว่าอย่างน้อยจะมี 3 มหาวิทยาลัยของไทยได้ขึ้นแท่นเป็นสถานศึกษาระดับโลก และที่่ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเข้ามานั้น ก็เพราะว่าเราต้องการเร่งรัดดำเนินการให้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น จากนั้นยังสามารถต่อยอดงานวิจัยไปสู่งานระดับสูง และนำไปใช้ด้านการพาณิชย์ ทางการค้าได้อีก”  

      นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการส่งข่าวไปยังประเทศต่างๆ เพื่อแจ้งว่าประเทศไทยจะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาจัดตั้งสถาบันการศึกษาได้ เช่น ประเทศอังกฤษ เป็นต้นจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) จะวิเคราะห์ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมของรัฐบาล เพื่อจับคู่กับสาขาวิชาที่สอดคล้องกัน และกำหนดแนวทางการดำเนินการ เพื่อจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าสาขาวิชาใดบ้างที่สามารถและไม่สามารถดำเนินการใดบ้าง

      นอกจากนั้นยังต้องกำหนดโค้ช และหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่ขาดแคลนมาช่วยเหลือประเทศไทย รวมถึงชักชวนมหาวิทยาลัยต่างชาติมาตั้งแคมปัสในประเทศไทย ขณะเดียวกันจะต้องกำหนดสัดส่วนระหว่างนักศึกษาไทยกับนักศึกษาต่างชาติที่จะมาเรียน เพื่อต้องการให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นเอเชียฮับทางด้านการศึกษา

       ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์  ประธานกรรมการกลุ่มโรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ Thailand & UK กล่าวว่าเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลเปิดให้ม.ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่การที่ต่างชาติจะมาลงทุนเขาจะพิจารณาเรื่องความพร้อมด้านต่างๆอีกมาก ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาถึงสถานที่ตั้ง การอำนวยความสะดวก จำนวนประชากร และการเข้าถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่้างๆด้วย ที่เป็นปัจจัยหลักๆของการลงทุน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในเมืองใหญ่ๆที่มีความพร้อมอย่างเช่น พัทยา เป็นต้น

      คงต้องรอดูกันต่อไปว่า “การเปิดให้ ม.ต่างชาติ”มาลงทุนในไทยจะเกิดขึ้นจริงได้มากน้อยแค่ไหน ระหว่างร่วมลงทุนกับม.ที่พร้อม กับการจัดตั้งสถาบันการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับประชาคมอาเซียนหรือเออีซี ในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ที่มหาวิทยาลัยไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้และมีบุคลากรไม่เพียงพอ

       0 ทีมข่าวคุณภาพชีวิต [email protected]

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ