Lifestyle

5 เหตุผลก่อความรุนแรงในครอบครัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย 5 เหตุผลก่อความรุนแรงในครอบครัว ขณะที่กว่า 67% เห็นว่าภาพที่ปรากฎในโซเชียลเพิ่มโอกาสเกิดความรุนแรงในครอบครัว

       ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อพฤติกรรมการก่อความรุนแรงระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว” ระหว่างวันที่ 23 – 28 มิถุนายน 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,160 คน

        จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.51 เพศชายร้อยละ 49.49 อายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรู้สึกต่อข่าวการก่อความรุนแรงระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 32.26 รู้สึกโกรธ/โมโหผู้กระทำเป็นอันดับแรกเมื่อได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมก่อความรุนแรงภายในครอบครัว รองลงมารู้สึกสงสารผู้ถูกกระทำเป็นอันดับแรกคิดเป็นร้อยละ 26.27 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.54 ร้อยละ 12.5 และร้อยละ 8.11 รู้สึกตกใจ รู้สึกหดหู่/เศร้าเสียใจ และรู้สึกแปลกใจ/สงสัยในข้อเท็จจริงเป็นอันดับแรกตามลำดับ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.63 รู้สึกเฉยๆ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 1.69 มีความรู้สึกอื่นๆ

        สำหรับปัจจัยสำคัญสูงสุด 5 ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดการก่อความรุนแรงระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ การติดอบายมุข (สุรา/ยาเสพติด/การพนัน) คิดเป็นร้อยละ 85.9 การทะเลาะเบาะแว้งคิดเป็นร้อยละ 83.95 สภาพแวดล้อมในบริเวณที่อยู่อาศัยคิดเป็นร้อยละ 81.76 การขาดการดูแลเอาใจใส่/ถูกทอดทิ้งตั้งแต่เด็กคิดเป็นร้อยละ 79.65 และไม่มีความผูกพันทางสายเลือดโดยตรงกับสมาชิกในครอบครัวคิดเป็นร้อยละ 76.86

       ในด้านความคิดเห็นต่อปัญหาการก่อความรุนแรงภายในครอบครัว กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.8 มีความคิดเห็นว่าปัญหาการก่อความรุนแรงระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.5 มีความคิดเห็นว่าลักษณะการอยู่รวมกันแบบครอบครัวที่มีขนาดเล็กลงในปัจจุบันมีส่วนทำให้เกิดปัญหาการก่อความรุนแรงระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวขึ้นได้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.01 มีความคิดเห็นว่าการหย่าร้าง/แต่งงานใหม่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาการก่อความรุนแรงระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวขึ้นได้

       ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 67.57 มีความคิดเห็นว่าการเผยแพร่ภาพความรุนแรงต่างๆ ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มีส่วนเพิ่มโอกาสให้ผู้คนมีพฤติกรรมก่อความรุนแรงกับสมาชิกภายในครอบครัวได้มากขึ้น และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.71 มีความคิดเห็นว่าการนำเสนอฉากความรุนแรงในละคร/ภาพยนตร์มีส่วนเพิ่มโอกาสให้ผู้คนมีพฤติกรรมก่อความรุนแรงกับสมาชิกภายในครอบครัวได้มากขึ้น

       ในด้านความคิดเห็นต่อการดำเนินการกับผู้ก่อคดีเกี่ยวกับความรุนแรงภายในครอบครัว กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.46 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดไม่ให้ผู้ต้องโทษในคดีก่อความรุนแรงกับสมาชิกในครอบครัวได้อาศัยอยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวที่ถูกกระทำความรุนแรงหากผู้ต้องโทษได้รับการปล่อยตัวหลังพ้นโทษ

        นอกจากนี้ ร้อยละ 68.16 เห็นด้วยที่จะมีการกำหนดให้ผู้ต้องโทษในคดีก่อความรุนแรงกับสมาชิกในครอบครัวต้องเข้ารับการอบรมขัดเกลาจิตใจเป็นระยะเวลาหนึ่งหากผู้ต้องโทษได้รับการปล่อยตัวหลังพ้นโทษ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.1 มีความคิดเห็นว่าไม่ควรให้ผู้ต้องโทษในคดีก่อความรุนแรงกับสมาชิกภายในครอบครัวได้รับสิทธิ์การลดหย่อนโทษ

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ