Lifestyle

สปสช.รับเงินจากอภ.ให้เอ็นจีโอแค่1.5 แสนบาท

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สปสช.ย้ำเงินได้จากอภ.ไม่ใช่ส่วนลดซื้อยา เป็นเงินสนับสนุนภาครัฐ แต่ละปีได้ราว 80-100 ล้านบาท ระบุ 80% ให้หน่วยบริการ 20% พัฒนาระบบ ปี57-59 ให้เอ็นจีโอแค่ 1.5 แสน

      จากกรณีที่มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อยาที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ดำเนินการเมื่อซื้อขายยาปริมาณมากจากองค์การเภสัชกรรม(อภ.)จะได้่รับส่วนลดและกันเงินที่เหลือมอบให้กลุ่มเอ็นจีโอไปทำภารกิจองค์กร 

       เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2560   ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า อภ.ได้ชี้แจงหลายครั้งแล้ว ว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่ส่วนลดจากการซื้อยา แต่เป็นเงินที่ อภ.ให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในลักษณะการให้สวัสดิการนอกเหนือจากส่วนลดที่ได้ให้ไว้แล้วแก่หน่วยงานรัฐ ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของ อภ. ซึ่งเงินสนับสนุนดังกล่าวไม่ถือเป็นเงินค่านายหน้าหรือเงินค่าคอมมิชชั่น ไม่ใช่เงินส่วนลด และไม่ใช่เป็นเงินส่งเสริมการขาย กำหนดเบิกจ่ายภายใน 1 ปี หากไม่เบิกจ่ายเงินนี้จะเข้าสู่บัญชี อภ.

สปสช.รับเงินจากอภ.ให้เอ็นจีโอแค่1.5 แสนบาท

    ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการระบุว่ามีการนำเงินดังกล่าวไปสนับสนุนเอ็นจีโอนั้น สปสช.ขอชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ในการใช้จ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐในส่วนนี้ เป็นการใช้ตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ พ.ศ.2546 เพื่อให้การสนับสนุนและส่งเสริมทางด้านการบริหาร วิชาการ การวิจัย การพัฒนา การอบรมสัมมนา การศึกษาดูงาน การศึกษาต่อเนื่อง รวมทั้งการสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่น โดยในส่วนของเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่ สปสช.ได้รับจาก อภ.นั้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ออกระเบียบว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ พ.ศ.2557 ขึ้น ซึ่งระเบียบนี้เป็นไปตามหลักการและเหตุผลของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545ที่เน้นการทำงานร่วมกับอปท.และองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

     "ต้องทำเรื่องเสนอโครงการเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ แต่ผู้อนุมัติปล่อยเงินคือผู้อำนวยการอภ. สัดส่วนการจัดสรรเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐนี้ ร้อยละ 80 ตามโครงการหรือกิจกรรม เพื่อสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยบริการและบุคลากรของหน่วยบริการ และอีกร้อยละ 20 เพื่อสนับสนุนการปฎิบัติงานการพัฒนาระบบหรือเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งกิจกรรมสาธารณประโยชน์"ทพ.อรรถพรกล่าว 

   ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2557-2559 มีโครงการที่สนับสนุนเอ็นจีโอ 1 โครงการ คือ โครงการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ โดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย วงเงิน 1.5 แสนบาท

สปสช.รับเงินจากอภ.ให้เอ็นจีโอแค่1.5 แสนบาท

     สำหรับตัวอย่างโครงการที่สนับสนุนกรมและสมาคมต่างๆ เช่น โครงการจัดทำเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 5-19 ปี กรมอนามัย วงเงิน 2.4 ล้านบาท โครงการถอดบทเรียนและพัฒนาศักยภาพความเป็นพื้นที่ต้นแบบด้านแพทย์แผนไทย กรณีศึกษา จ.สกลนคร ให้กับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จำนวน 893,300 บาท โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายวิชาชีพและประชาชนในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยสมาคมพยาบาลโรคหัวใจและทรวงอก จำนวน 1.5 ล้านบาท โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยในหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่เขต 3 นครสวรรค์(หลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 330 ชั่วโมง) รพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี วงเงิน 503,820 บาท เป็นต้น

      ล่าสุดในปี 2560 สปสช.ไม่ได้ดำเนินการเพื่อส่งโครงการจากหน่วยบริการ กรม มูลนิธิต่างๆ เพื่อขออนุมัติใช้งบประมาณในส่วนนี้ เพื่อต้องการลดปัญหาที่มีผู้ไม่หวังดีขยายข้อมูลไม่ถูกต้อง แต่อาจถูกตั้งข้อสังเกตจากหน่วยตรวจสอบว่า การไม่ขอรับเงินส่วนนี้อาจเข้าข่ายสร้างความเสียหายให้กับสำนักงานได้

     "แต่ละปีมีเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐในส่วนนี้สำหรับ สปสช.ประมาณ 80-100 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ สปสช.เคยทำหนังสือแจ้ง อภ.ว่า เห็นควรให้จัดสรรเงินดังกล่าวไปให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ในฐานะหน่วยกำกับดูแลและสนับสนุนหน่วยบริการในวงเงิน 75ล้านบาท แต่ สตง.เห็นว่า หากให้ สป.สธ.เป็นผู้ดำเนินการแทนอาจถือเป็นการขัดต่อข้อบังคับของ อภ. ไม่ตรงประเด็นตามข้อเสนอแนะของ สตง. และอาจขัดต่อ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จึงได้แนะนำให้ สปสช.ออกระเบียบการใช้เงินดังกล่าว และต่อมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงได้ออกระเบียบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวขึ้น"ทพ.อรรถพรกล่าว 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ