Lifestyle

บรรณารักษ์ยุคใหม่4.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“บรรณารักษ์”หากไม่มีการปรับตัวท่ามกลางโลกที่ทุกคนมีอำนาจในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ห้องสมุดก็จะตายไปและบรรณารักษ์ ก็จะกลายเป็นอาชีพที่หมดความจำเป็น

      การเดินหน้าประเทศไทยตามนโยบาย“ไทยแลนด์ 4.0”ตั้งเป้าหมายให้คนไทยทุกช่วงวัยมีทักษะ ความรู้และความสามารถเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีการศึกษาคุณภาพสูงและสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยสนับสนุนให้ใช้อินเตอร์เทอร์เน็ตเพื่อหาความรู้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมการอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 ..ดูจะเป็นโจทย์ใหญ่ให้กับหน่วยงานในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะบทบาทสำคัญอย่าง“บรรณารักษ์”หากไม่มีการปรับตัวท่ามกลางโลกที่ทุกคนมีอำนาจในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ห้องสมุดก็จะตายไปและบรรณารักษ์ ก็จะกลายเป็นอาชีพที่หมดความจำเป็นไปตามยุคสมัย

บรรณารักษ์ยุคใหม่4.0

      25 ปีนานมีบุ๊คส์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ“Librarian4.0 รวมกลเม็ดชวนให้เด็กและเยาวชนอยากอ่านหนังสือ” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมการอ่านมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูบรรณารักษ์จากทั่วประเทศที่เข้าร่วมงานกว่า 300 คน

     ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้TK Park ระบุว่าห้องสมุดโรงเรียนหรือห้องสมุดประชาชนของไทย แต่ละที่อาจมีข้อจำกัดในหลายปัจจัย คงต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ไป แต่การปรับตัวก็สามารถทำได้ในลักษณะเดียวกันใน 4 ประเด็น 

บรรณารักษ์ยุคใหม่4.0

      เริ่มจากการปรับพื้นที่ให้มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายยืดหยุ่นและผ่อนปรนมากขึ้น ทำให้เด็กรู้สึกสบายใจเมื่อเข้ามาใช้บริการ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องจัดพื้นที่อื่นๆ ภายในโรงเรียนทำให้เขารู้สึกว่าอยู่ตรงไหนก็สามารถเรียนรู้ได้ ด้านหนังสือหรือสื่อการเรียนรู้ต้องมีหลากหลายครบทุกสาระวิชา ไม่ว่าครูวิทย์ ครูคณิต หรือครูวิชาใด พาเด็กๆ มาใช้บริการก็สามารถหยิบหนังสือภายในห้องสมุดมาใช้สอนได้ หนังสือที่เราเลือกมาก็ต้องตรงกับความสนใจของนักเรียนเช่นกัน ทั้งหนังสือด้านวิชาการ 

     รวมถึงหนังสือเสริมความรู้ที่สอนทักษะชีวิตด้วย นอกจากหนังสือแล้ว ก็ต้องเน้นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ ที่ต้องทำให้เข้ากับเด็กแต่ละช่วงวัย แต่ประเด็นสำคัญคือ กิจกรรมต้องทำให้เด็กมีส่วนร่วมกับเราจริงๆ เราต้องหาอุบายที่จะนำเด็กไปสู่การเรียนรู้ที่แท้จริง ในขณะที่ตัวครูเองก็ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้ความรู้มาเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้านความรู้ เปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการเปิดใจ ศึกษาและใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เท่าทันยุคสมัยและพฤติกรรมเด็กในปัจจุบัน

     นอกจากการปรับบทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์แล้ว การส่งเสริมการอ่านในโรงเรียนคงต้องทำอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย ดังตัวอย่างความสำเร็จของโรงเรียนเมืองพัทยา 11 และโรงเรียนเมืองพัทยา 7 ที่ตั้งเป็นนโยบายส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นรูปธรรมและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องถึง 7 ปี โดยผกาพันธุ์ วีระสิงห์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองพัทยา7และนฤมล อินทพงษ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองพัทยา 11 ได้แบ่งปันกิจกรรมที่ทำ

บรรณารักษ์ยุคใหม่4.0

       ได้แก่ กลเม็ด“รักตัวเองต้องอ่านหนังสือ” โดยมีกระบวนการ คือ ร่วม–เลือก–อ่าน–แลก–แตกประเด็น โดยเริ่มจากตัวแทนครูและนักเรียนร่วมกันรวบรวมหนังสือต่างๆ แบบไม่ซ้ำกัน จำนวนเท่านักเรียนในโรงเรียน นำมาให้นักเรียนเลือกคนละ 1 เล่ม ทำเป็นกิจกรรมหน้าเสาธง จากนั้นอ่านหนังสือของตนเองภายในเวลา 2 สัปดาห์ และอ่านได้เท่าไหร่ก็บันทึกตามที่อ่านได้เมื่อถึงกำหนดจึงนำเล่มของตนเองมาแลกกับคนอื่น เวียนไปเรื่อยๆ เมื่อครบกำหนดนักเรียนจะได้แสดงความคิดเห็นถึงหนังสือที่ได้อ่าน ทั้งหน้าเสาธง หน้าชั้นเรียน รวมไปถึงภายในกลุ่มเฟสบุ๊คของโรงเรียน โดยเพื่อนๆ สามารถแสดงความคิดเห็นถึงถึงหนังสือนั้นๆ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือคิดต่างก็ตาม

     กลเม็ด“นินทาหนังสือ” กลเม็ดนี้จะมีคณะทำงานคัดเลือกหนังสือมา 1 เรื่องเท่านั้น จากนั้นจึงจัดซื้อหนังสือตามที่เลือก แล้วแจกให้นักเรียนแต่ละสายชั้นได้อ่าน เมื่อครบกำหนด จะตั้งกลุ่ม และพูดคุยถึงหนังสือที่ได้อ่าน ตามความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีการตีความจากหนังสือมาแสดงละคร เชิญนักเขียนมาพบปะพูดคุย เพื่อร่วมวิจารณ์กันอีกด้วย

    สิ่งที่ทำให้กิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จผกาพันธุ์ วีระสิงห์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองพัทยา 7 เปิดเผยว่า“เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกๆ คนในโรงเรียน ทั้งผู้บริหาร บุคลากรและครูทุกคน ต้องร่วมกิจกรรมนี้เหมือนกัน ไม่เฉพาะแค่นักเรียนเท่านั้น ที่ครู ผู้บริหารต้องทำด้วยเพื่อให้เป็นตัวอย่างกับนักเรียน เมื่อคนส่วนมากทำก็เกิดเป็นกระแสไปกระตุ้นให้คนที่ยังไม่ทำมีแรงบันดาลใจว่าต้องทำเช่นกัน รวมไปถึงการบอกต่อทั้งปากต่อปาก รวมไปถึงการนำโซเชี่ยลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ยิ่งเสริมให้เกิดกระแสการบอกต่อมากยิ่งขึ้น

บรรณารักษ์ยุคใหม่4.0

      ครูแคท-วรัทยา แซ่แต้ ครูบรรณารักษ์ และครูโบ-ปาณิสรา เมฆโหรา ครูภาษาไทย จากโรงเรียนมัธยมปัญญารัตน์ กล่าวว่าปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของคนส่วนใหญ่ถูกผูกติดกับโซเชียลมีเดีย นักเรียนก็เช่นกัน เราห้ามไม่ให้เล่นไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้จักนำสิ่งที่เขาสนใจมารวมเป็นส่วนหนึ่ง เขาก็จะเกิดความสนใจและอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นไอเดียที่ดีให้เราว่าโรงเรียนของเราควรพัฒนาห้องสมุดของโรงเรียนให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้ของนักเรียน

    ครูโบ เผยว่าปกติเราจะเห็นแต่ครูเป็นผู้ให้ ทำให้เราเห็นว่าไม่ใช่แค่ครูเท่านั้นที่จะเป็นคนอธิบายหรือนำกิจกรรมได้อย่างเดียว แต่เราต้องปรับตัวโดยการนำเด็กเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยให้เด็กเป็นคนอธิบายและนำกิจกรรม เป็นการสร้างบทบาทให้กับนักเรียน ทำให้เขารู้สึกภูมิใจและอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงศักยภาพของตัวเอง ทำให้เราเห็นว่า ถ้าเราให้โอกาสเด็ก พวกเขาก็ทำได้

   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ