Lifestyle

“ละครบำบัด”เพิ่มความฉลาดทางอารมณ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมสุขภาพจิตชี้“ดนตรีบำบัด”-“ละครบำบัด”ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิเศษ เผยมีความฉลาดทางอารมณ์เพิ่มขึ้นชัดเจน กระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ 

         น.ต. นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ กล่าวว่า ศิลปะ คือ หนทางแห่งการปลดปล่อยอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ตามความต้องการของแต่ละคน และในการบำบัดรักษาทางจิตเวช ได้นำเอาศิลปะมาประยุกต์ใช้เพื่อค้นหาข้อบกพร่อง หรือความผิดปกติบางประการของกระบวนการทางจิตใจ ช่วยในการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพให้ดีขึ้น สำหรับเด็ก ศิลปะจะช่วยในด้านการพัฒนาอารมณ์ สติปัญญา สมาธิ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และการประสานงานการเคลื่อนไหวของร่างกาย ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการสื่อสาร และเสริมสร้างทักษะทางสังคมอีกด้วย 

        การใช้ศิลปะบำบัด จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการแพทย์เสริมและทางเลือก ที่เน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม นำมาเสริมในการดูแลรักษาแนวทางหลักให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น การบำบัดรักษาเด็กพิเศษ ในปัจจุบัน กรมสุขภาพจิต ได้ใช้ศิลปะบำบัด ทั้งด้านทัศนศิลป์ ได้แก่ การวาด ระบายสี การปั้น การประดิษฐ์ ฯลฯ การใช้ดนตรีบำบัด ได้แก่ การเล่นดนตรี ร้องเพลง ฯลฯ และละครบำบัด ได้แก่ การแสดงละคร และการเคลื่อนไหวร่างกาย ฯลฯ ซึ่งจะใช้แตกต่างกันไปในเด็กพิเศษหรือผู้รับการบำบัดที่มีสภาพปัญหาแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญที่นำมาใช้ในกระบวนการทางศิลปะบำบัด คือ การสนับสนุน และเสริมสร้างกำลังใจ โดยให้ความสนใจ ให้กำลังใจ และชมเชยเมื่อทำได้สำเร็จ หรือมีความพยายามเพิ่มขึ้น

“ละครบำบัด”เพิ่มความฉลาดทางอารมณ์

        อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า กรมสุขภาพจิต ได้นำศิลปะด้านดนตรี หรือดนตรีบำบัด มาช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับเด็ก ช่วยเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายในการฟื้นฟูสมรรถภาพ ลดพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง อยู่ไม่นิ่ง ด้วยการใช้ “Optimusic” เทคโนโลยีที่สร้างแรงจูงใจในการเคลื่อนไหวร่างกาย ด้วยการบูรณาการระบบประสาทการได้ยิน การมองเห็น และการสัมผัส ในกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ผู้ที่มีปัญหาการรับรู้ประสาทรับความรู้สึก เด็กออทิสติก รวมถึงเด็กสมองพิการ เป็นต้น

         หลักการทำงานของ Optimusic จะประกอบด้วย อุปกรณ์สร้างลำแสงสีต่างๆ อุปกรณ์ที่เป็นแผ่นสะท้อนแสง และโปรแกรมซอฟต์แวร์ โดยลำแสงจากอุปกรณ์แต่ละสีจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวที่ตัดผ่านลำแสงหรือปิดการสะท้อนของลำแสง ส่งไปยังคอมพิวเตอร์ เพื่อเชื่อมโยงกับเสียงดนตรี หรือเสียงต่างๆ การใช้แสงและเสียงดนตรีย่อมช่วยให้เด็กสนใจและสนุก อีกทั้งยังได้เคลื่อนไหว ได้เรียนรู้การแยกสี การเรียงลำดับเสียงและเหตุการณ์ ทำให้สมองได้รับการพัฒนา 

      นอกจากนี้ ได้ใช้ “ละครบำบัด” ช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย การเคลื่อนไหว การใช้กล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ พัฒนาทักษะทางภาษาให้สามารถเข้าใจและสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ ตลอดจนช่วยในการพัฒนาทักษะการช่วยเหลือตัวเอง และ การส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมและการแสดงออก รวมถึงการได้สำรวจตัวเอง เรียนรู้การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย สำหรับการสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น

“ละครบำบัด”เพิ่มความฉลาดทางอารมณ์

      หัวใจสำคัญของการนำละครมาใช้กับเด็กพิเศษ คือ การสร้างพลังศรัทธาในตัวเองและกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตน สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ หรือมีทักษะทางสังคม (Social Skills) ละครต้องเริ่มที่ความสนุก ความสนุกจะนำพาไปสู่ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

     ด้าน น.ส.จันทริกา  ปินตาโมงค์ นักวิชาการศึกษา งานละคร ดนตรีและศิลปะบำบัด กลุ่มการแพทย์ทางเลือก สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์  กล่าวว่า การจัดกิจกรรม Optimusic เป็นกิจกรรมที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางโดยนำดนตรีเป็นสื่อเชื่อมและปรับพฤติกรรม โดยเด็กจะเรียนรู้พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างสนุกสนาน สามารถจัดได้ทั้งแบบเดี่ยว และกลุ่มเพื่อฝึกการใช้กฎกติกามารยาทในการอยู่ร่วมกัน ฝึกสมาธิ ความสนใจ การรอคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสริมสร้างทักษะทางด้านสังคม โดยการออกแบบกิจกรรมผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น การเล่นแบบสร้างสรรค์ การเล่นตามความคิดและจินตนาการ ถ่ายทอดผ่านการเล่น แสดงจากความรู้สึกออกมาทันที สร้างเรื่องราวผ่านเสียง เคลื่อนไหวร่างกายให้สอดคล้องกับดนตรี 

    คลินิกดนตรีบำบัด และคลินิก Optimusic เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 20.30 น. มีจำนวนผู้เข้ารับบริการทางคลินิก ในปัจจุบัน จำนวน 338 ราย จากการให้บริการ พบว่า ร้อยละ 96 ของผู้เข้ารับบริการ มีความฉลาดทางอารมณ์เพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมก้าวร้าวลดลง  การทำงานประสานกันระหว่างมือ ตา และกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น รู้จักรอคอยและมีสมาธิในการเรียนรู้ได้นานยิ่งขึ้น มีทักษะในการสื่อสารและการโต้ตอบกับบุคคลอื่น ตลอดจนเกิดความสนุกสนาน และรู้สึกผ่อนคลาย

“ละครบำบัด”เพิ่มความฉลาดทางอารมณ์

     น.ส.ชนารดี  สุวรรณมาโจ นักละครบำบัด กลุ่มงานละคร สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กล่าวว่า ทีมงานละครจะเน้นกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน กิจกรรมที่ออกแบบให้กับผู้รับการฝึกจะอยู่บนพื้นฐานของ ความสนุก เพื่อตอบโจทย์ความเป็นละคร บทละครที่ถูกนำมาใช้จะอยู่บนพื้นฐานของชีวิตจริงที่ผู้รับการฝึกมีโอกาสจะได้เจอ ซึ่งทิศทางในการฝึกละครบำบัด สำหรับเด็กพิเศษ  (อายุ 3 ปีขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่) แบ่งเป็น  5 ทิศทาง    แต่ละทิศทางจะมีรายละเอียดของกิจกรรมเชิงลึกที่ปรับใช้สำหรับผู้รับการบำบัดแต่ละคน ทิศทางที่ 1 การละลายพฤติกรรมของผู้รับการบำบัด  ทิศทางที่ 2  การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทิศทางที่3 การใช้จินตนาการและสมาธิ  ทิศทาง  ที่ 4การเคลื่อนไหวสร้างสรรค์ และ ทิศทางที่ 5 การแสดงด้นสด เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมและการแก้ปัญหา 

         ปัจจุบันจำนวนผู้เข้ารับการฝึกทักษะทางสังคมในรูปแบบละคร มีจำนวนเฉลี่ยวันละ 4-12 รายต่อวัน ทุกรายต้องเข้าโปรแกรมการฝึกต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3-5 วัน อย่างน้อย 1 เดือน จึงเริ่มที่จะมองเห็นพัฒนาการการปรับตัวในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ  ในสังคม จากการประเมินพัฒนาการทางอารมณ์ ผู้เข้ารับการฝึกทุกๆ 1 เดือน พบว่า ร้อยละ 95 มีความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น มีความสุขในการเรียนและ ร้อยละ 100 มีความก้าวร้าวลดลงจนแทบจะไม่ปรากฏให้เห็น มีความสามารถด้านการเคลื่อนไหว มีความคิดสร้างสรรค์

       ตลอดจนมีสมรรถภาพทางร่างกายและวินัยทางสังคมที่ดีขึ้นถึงร้อยละ 70 ยกตัวอย่างเช่น วันแรกที่เข้ารับการฝึกอาจยังไม่รู้จักมารยาทเบื้องต้นบนโต๊ะอาหารและการแปรงฟันหลังรับประทานอาหาร แต่เมื่อผ่านไป 1 เดือน ผู้เข้ารับการฝึกสามารถที่จะรับผิดชอบอุปกรณ์การทานอาหารของตนเองและรู้หน้าที่เรื่องการแปรงฟัน โดยที่ไม่ต้องสั่งให้ทำ แต่จะทำเองโดยอัตโนมัติ เพราะเข้าใจว่ามันคือหน้าที่ที่ต้องทำในการดูแลรักษาตัวเอง เป็นต้น

 

                                             

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ