Lifestyle

แพทย์ไม่เอา!เอ็นจีโอขอเข้าร่วมเป็นสถานบริการด้วย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แพทย์รับไม่ได้เอ็นจีโอขอเข้าเป็นสถานบริการ ร่วมจัดบริการสาธารณสุขประชาชน ลั่นไม่จำเป็น อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ เสนออสม.เป็นตัวแทนประชาชนในบอร์ดบัตรทองแทนเอ็นจีโอ

        กรณีที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยื่นหนังสือถึงรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ฉบับที่...)พ.ศ... โดยเสนอการปรับปรุงแก้ไขพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือกฎหมายบัตรทองโดยใช้สูตร 4 ประเด็นเห็นด้วยกับร่างกฎหมายบัตรทองใหม่ 5 ประเด็นเห็นแตกต่าง และ7 ประเด็นข้อเสนอใหม่นั้น

            พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์กรรมาธิการสาธารณสุข(กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติ(สนช.) กล่าวว่า  กรณีที่มีการเสนอให้รวมระบบประกันสุขภาพภาครัฐทั้งประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง สวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมเข้าเป็นระบบเดียวหรือมาตรฐานเดียวกันนั้น อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าข้าราชการมีส่วนร่วมสมทบด้วยการรับเงินเดือนน้อยและต้องประพฤติตนภายใต้ระเบียบของข้าราชการ และผู้ประกันตนต้องจ่ายสมทบประกันสังคมเป็นรายเดือน เพราะฉะนั้น การเป็นมาตรฐานเดียวกัน คือ ประชาชนทุกคนต้องร่วมสมทบ เพราะฉะนั้น ผู้ใช้สิทธิบัตรทองต้องร่วมสมทบด้วย จะบอกว่าร่วมสมทบแล้วด้วยการจ่ายภาษีไม่ได้ เพราะกลุ่มอื่นเค้าก็จ่ายภาษีเช่นกันแต่ต้องมาสมทบนอกเหนือภาษีด้วย

            “การที่จะให้รัฐจัดบริการสาธารณสุขให้ฟรีและดีด้วย คนไทยต้องร่วมกันจ่ายภาษีในอัตราที่มาก อย่างเช่น  ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่รัฐจ่ายบริการสาธารณสุขให้ฟรี เพราะประชาชนมีการจ่ายภาษีเงินได้ถึง 40-45 % จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) 25 % ขณะที่คนไทยจ่ายภาษีน้อยแล้วรัฐบาลจะเอาเงินจากไหน มีการบอกต้องช่วยคนจนเข้าถึงการรักษาพยาบาล แต่กลับบอกไม่ต้องการการสงเคราะห์ ถามว่ารถเมล์ฟรี รถไฟฟรีเป็นการสงเคราะห์หรือไม่ และถ้าคนที่จะให้มีส่วนร่วมสมทบบัตรทองก็เป็นคนที่จนไม่จริงเท่านั้น”พญ.เชิดชูกล่าว

            พญ.เชิดชู กล่าวอีกว่า  มาตรา 29 เรื่องรายได้ของสปสช.ในร่างกฎหมายใหม่ที่เอ็นจีโอเห็นด้วยแต่ตนไม่เห็นด้วย  เนื่องจากมีการกำหนดว่าให้สปสช.รับบริจาคได้ ถามว่าเป็นการเปิดช่องให้สปสช.รับบริจาคจากแหล่งไหนใช่จากองค์การเภสัชกรรม(อภ.)หรือไม่ ในเมื่อที่ผ่านมามีการเปิดเผยออกมาว่าสปสช.ได้รับเงินส่วนลดจากอภ.ในการซื้อยาโดยระบุว่าเป็นเงินบริจาค รวมถึง มาตรา 42 เรื่องการยกเลิกไล่เบี้ยผู้กระทำผิดได้ เอ็นจีโอเห็นด้วยแต่ตนไม่เห็นด้วย เนื่องจาก กรณีที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำผิดโดยการประมาทเลินเล่อร้ายแรงไม่ควรยกเลิกการถูกไล่เบี้ยเอาผิด เพราะข้าราชการทั่วไปหากมีการตรวจสอบว่ากระทำการประมาทเลินเล่อร้ายแรงต้องถูกไล่เบี้ยเพื่อให้รับผิดชอบ เว้นแต่กรณีที่ประมาทเลินเล่อไม่ร้ายแรงก็ไม่ต้องไล่เบี้ย

            สำหรับประเด็นที่เอ็นจีโอเห็นต่างจากร่างกฎหมายบัตรทองใหม่ พญ.เชิดชู กล่าวว่า ในมาตรา 3 ที่เอ็นจีโอบอกว่าไม่เห็นด้วยในเรื่องนิยามเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพและนิยามสถานบริการ โดยต้องการให้เพิ่มนิยามองค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร(เอ็นจีโอ)เข้าไปด้วย  ไม่จำเป็นต้องเพิ่มให้องค์กรเหล่านี้เป็นสถานบริการเลย อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่แล้วว่าอาจนำไปสู่การเข้ามาเอาเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพไปทำโน่นทำนี่ นิยามของสถานบริการจึงควรหมายถึงสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่ให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนที่แท้จริงเท่านั้น

        “ตรงนี้จะอ้างว่าเป็นการเข้ามาเพราะต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการร่วมจัดบริการ ด้านสุขภาพไม่ได้ เพราะหลักการประชาธิปไตยตามหลักสากลนั้น การมีส่วนร่วมของประชาชนคือการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ไม่ใช่มีส่วนร่วมด้วยการเข้ามามีอำนาจในหน่วยงานภาครัฐ”พญ.เชิดชูกล่าว

        ส่วนมาตรา 13 องค์ประกอบบอร์ดสปสช. พญ.เชิดชู กล่าวว่า ตนเสนอให้ยกเลิกสัดส่วนที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชนด้านต่างๆออกไป แล้วให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)เข้ามาเป็นตัวแทนของภาคประชาชนแทน โดยให้เลือกเป็นตัวแทน 5 ภาคทั้งเหนือ ใต้ อีสาน ตะวันออกและตก เพราะเป็นตัวแทนประชาชนที่แท้จริง มีความรู้เรื่องสุขภาพและอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในร่างกฎหมายใหม่คือ แก้มาตรา 35 เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนให้ครอบคลุมรวมถึงรองเลขาฯสปสช.และผู้ช่วยเลขาฯสปสช.ด้วยและมาตรา 36 เรื่องอำนาจเลขาฯสปสช.ต้องลดลง โดยกำหนดให้ต้องทำตามในเรื่องที่ผ่านมติบอร์ดแล้ว และมาตรา 37 การตรวจสอบภายใน ต้องยกเลิกที่ให้ขึ้นตรงและรายงานผลต่อเลขาฯสปสช. โดยแก้เป็นรายงานผลต่อบอร์ดแทน

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ