Lifestyle

เบื้องลึกค้านปรับแก้ "กฎหมายบัตรทอง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใครเป็นใครในการค้านปรับแก้กฎหมายบัตรทอง กับ 6 ข้อที่เป็นจุดสวนทางระหว่างคนร่างกฎหมายใหม่กับกลุ่มคนรักหลักประกันฯ

       เสร็จสิ้นแล้วสำหรับเวทีประชาพิจารณ์(ร่าง)พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... หรือกฎหมายบัตรทอง ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งทั้ง 4 พื้นที่ล้วนมีกลุ่มประชาชนมาแสดงจุดยืนคัดค้านการแก้กฎหมายในครั้งนี้ โดยกลุ่มที่มีการเปิดหน้าอย่างชัดเจน คือ “เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่บางส่วนทำงานในนามองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร(เอ็นจีโอ) อาทิ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และน.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เป็นต้น

        ดูเหมือนเนื้อหาใน ร่างกฎหมายใหม่ และ กฎหมายเดิม จะมี จุดสวนทาง ในข้อกฎหมายบางมาตราที่คณะกรรมการพิจารณา(ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ มีการแก้ไขปรับปรุง แต่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพฯ ไม่ต้องการให้แก้ไขปรับปรุง กับข้อที่คณะกรรมการไม่ได้แก้ไข แต่กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ต้องการให้แก้ไขราว 6 ข้อ แยกเป็นส่วนละ 3 ข้อ

เบื้องลึกค้านปรับแก้ "กฎหมายบัตรทอง"

      ในข้อที่กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ต้องการให้แก้ไขจากกฎหมายเดิม แต่กลับไม่มีการแก้ไขในร่างกฎหมายใหม่ มี 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1.มาตรา 9, 10 และ 11 ที่อยู่ในหมวดสิทธิการรับบริการสาธารณสุข โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้มีบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ รวมถึงเป็นสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน

       2.ต้องการให้ยกเลิกการร่วมจ่าย ที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายเดิมมาตรา 5 ว่าคณะกรรมการอาจกําหนดใหบุคคลที่เขารับการบริการสาธารณสุขตองรวมจายคาบริการในอัตราที่กําหนด เวนแตผูยากไรหรือบุคคลอื่นที่กําหนด เพราะมองว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคน ไม่ว่าคนชนชั้นใดก็มีสิทธิล้มละลายได้ ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง

      และ 3.ควรแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง จากที่กฎหมายเดิมไม่ได้ระบุไว้ แต่ที่ผ่านมา สปสช.มีการดำเนินการจนถูกหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบติงว่า สปสช.ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

เบื้องลึกค้านปรับแก้ "กฎหมายบัตรทอง"

      ขณะที่ข้อที่มีการแก้ไขในร่างกฎหมายใหม่ แต่กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ไม่เห็นด้วยที่จะต้องแก้ไข มี 3 ข้อ ได้แก่ 1.มาตรา 46(2) ที่ร่างใหม่ระบุให้แยกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยคณะกรรมการพิจารณา(ร่าง)หลักประกันสุขภาพฯ ระบุว่า เพื่อให้สามารถสะท้อนภาพเงินงบประมาณที่ใช้เป็นค่าให้บริการประชาชนที่แท้จริง

         2.องค์ประกอบบอร์ด สปสช.ที่ในร่างใหม่มีการเพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการจากเดิมที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่กลุ่มคนรักหลักประกันฯ มองว่าควรเพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้นกว่าเดิมที่มีอยู่แล้ว และ 3.มาตรา 47/1 ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรชุมชนและเอ็นจีโอโดยตรง เพราะร่างกฎหมายใหม่กำหนดว่าองค์กรเอกชนและเอ็นจีโอให้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการหรือจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ซึ่งเดิมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเป็นผู้จัดสรรงบให้แก่องค์กรเหล่านี้เอง

เบื้องลึกค้านปรับแก้ "กฎหมายบัตรทอง"

        ที่มาของการเพิ่มมาตรา 47/1 นี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เคยตรวจสอบและระบุว่า สปสช.โอนเงินให้หน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ แต่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด)ในขณะนั้น เคยชี้แจงว่า

          เป็นงบเพื่อพัฒนาติดตามกำกับประเมินผลการจัดบริการ และได้สนับสนุนไปหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข เช่น กรม และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รวมทั้งสถาบันวิชาการต่างๆ และมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร ในปี 2555-2557 มีจำนวน 610.287 ล้านบาท 75 โครงการ โดยเป็นโครงการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 52 โครงการ 500.073 ล้านบาท ยืนยันว่าไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนอย่างที่เข้าใจผิดกัน เพราะใช้งบประมาณไม่มากเมื่อเทียบกับงบทั้งหมด

         ใช่เพียงแต่กลุ่มคนรักหลักประกันฯเท่านั้นที่คัดค้านการแก้ไข ดูเหมือนกลุ่มทางการเมืองที่เคยใช้เป็นนโยบายหลักของพรรคจนทำให้ชนะการเลือกตั้งมาอย่างถล่มทลายก็แสดงความไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะต้องยอมรับว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” หรือบัตรทอง ในปัจจุบัน เป็นนโยบายหลักของพรรคการเมือง บวกกับการดำเนินการแก้ไขทำในยุครัฐบาล คสช. ที่คนที่หนุนพรรคการเมืองดังกล่าวไม่ปลื้มนัก ย่อมต้องเกิดกระแสคัดค้าน

เบื้องลึกค้านปรับแก้ "กฎหมายบัตรทอง"

         ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่า การยึดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.นี้ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ จ.ขอนแก่น จนไม่สามารถเปิดเวทีได้นั้น จะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มนี้หรือไม่???

          นอกจากนี้ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ อดีต รมช.สาธารณสุข ก็แสดงความคิดเห็นว่า การแก้กฎหมายบัตรทองจะนำกลับไปสู่ยุคผู้ป่วยอนาถา !!!

        อย่างไรก็ตาม ในโลกโซเชียลมีการแชร์ภาพที่ระบุข้อความว่า “คนไข้บัตรทองไม่ต้องกลัวแก้กฎหมายบัตรทอง ถ้าบัตรทองห่วยลง หมอจะไปช่วยประท้วงด้วยคน ตอนนี้มีแต่พวกเสียรายได้ที่กลัวการแก้กฎหมาย”

          ทั้งนี้ วันที่ 20 มิถุนายน 2560 กลุ่มคนรักหลักประกันฯ จะเข้าพบ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการทำประชาพิจารณ์ ก่อนตัดสินว่าจะเข้าร่วมเวทีปรึกษาสาธารณะที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ หรือไม่ 

0 ทีมข่าวคุณภาพชีวิต 0

องค์กรที่ไม่ใช่หน่วยบริการ(รพ.)ที่เคยรับงบจากสปสช.

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ปี 2553 จำนวน 4.7 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 10 ล้านบาท

มูลนิธิแพทย์ชนบท ปี 2552 จำนวน 9.2 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 2.1 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 3.5 ล้านบาท ปี 2557 จำนวน 4.5 ล้านบาท

HITAP ปี 2555 จำนวน 13.6 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 7.2 ล้านบาท ปี 2557 จำนวน 7.2 ล้านบาท

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ปี 2555 จำนวน 3 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 4 ล้านบาท ปี 2557 จำนวน 3 ล้านบาท

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปี 2554 จำนวน 4.2 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 4.6 ล้านบาท

สวทช. ปี 2553 จำนวน 24.8 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 13.6 ล้านบาท

ที่มา : สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ