Lifestyle

“เด็กฝาก”และ“เงินบริจาค” เข้าโรงเรียนชื่อดัง??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เด็กฝาก"และเงินบริจาค" เข้าร.ร.ชื่อดัง?? มีอยู่จริง พ่อแม่ผูัปกครองบางคน ยอมให้รถตู้หรูคันละ 4 ล้าน เพื่อให้ลูกเข้าเรียน"ร.ร.สาธิตบางแห่ง"

          ได้ดูคลิปวีดีโอที่ผู้ปกครองแบบถ่าย เมื่อไปให้เงินผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาชื่อดัง แล้วเกิดความสงสัยว่าเมื่อรับเงินไปแล้ว เอาไปทำอะไร ถ้าหากมีการใช้เงินอย่างถูกต้องเปิดเผยก็ดีไป แต่ถ้ามีการใช้เงินไม่ถูกต้อง เช่น เป็นการเอาเข้ากระเป๋าเพื่อถอนทุนจากการวิ่งเต้นเส้นสายกับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เพื่อให้ได้ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อดัง ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และ สังคมคงตั้งคำถามได้ว่า ทำเช่นนั้นกันได้อย่างไร เรื่องนี้ทำให้นึกถึงตัวเอง

          ผมเป็นเด็กบ้านนอก มาสอบเข้าเรียนในกรุงเทพ มาสอบเข้าสองโรงเรียน โรงเรียนแรกเป็นโรงเรียนเอกชนคาทอลิคชื่อดัง ก่อนลงมือทำข้อสอบ มีการให้เด็กกรอกแบบสอบถาม คำถามคือ "ท่านคิดว่าผู้ปกครองของท่านสามารถบริจาคเงินให้โรงเรียนได้มากน้อยแค่ไหน โปรดระบุจำนวน"

          ผมเองรู้สึกโกรธมาก เลยเขียนตอบไปว่า "คำถามเช่นนี้ ไม่ควรจะถามนักเรียนก่อนลงมือทำข้อสอบ ถ้าคุณยังมีความเป็นครูที่ดีอยู่ การถามเด็กเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง"

          ดังนั้นถึงแม้จะสอบเข้ามาได้เองด้วยความสามารถ ผมก็จะบอกผู้ปกครองว่า ไม่ให้บริจาคแม้แต่บาทเดียว เพราะโรงเรียนนี้ ครูและผู้บริหารไร้จริยธรรม ไม่แน่ใจว่าเงินบริจาคจะเอาไปใช้ในการพัฒนาโรงเรียนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

          ผลคือผมสอบเข้าโรงเรียนเอกชนแห่งนั้นไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ผมคือนักเรียนที่สอบได้ที่หนึ่งของจังหวัด และวันนั้นข้อสอบที่ผมทำก็ไม่ได้ยากอะไร คิดว่าทำได้พอสมควร แต่คำตอบแบบนั้นของผมคงไม่ถูกใจผู้บริหารโรงเรียน

          ผมไม่รู้สึกเสียใจอะไรเลย เพราะคิดว่าดีแล้ว ที่ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในโรงเรียนแบบนั้น ที่ผู้บริหารสนใจเรื่องเงินและเด็กในโรงเรียนก็น่าจะเป็นเด็กที่มีฐานะทางการเงินดีจึงเข้ามาเรียนได้ และคงแข่งกันอวดร่ำอวดรวย

          ผมมาสอบเข้า"โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท" ได้ ได้เข้าเรียนในห้องเรียนที่ดีพอสมควรในลำดับต้นๆ เมื่อมารายงานตัว คุณป้ามาด้วยในฐานะผู้ปกครอง อาจารย์ก็ถามตรง ๆ ชวนผู้ปกครองบริจาคตามความสมัครใจ มีการกรอกใบรับบริจาค และ มีการออกใบเสร็จรับเงินให้อย่างถูกต้อง คุณป้าเองก็เป็นศิษย์เก่าเตรียมอุดมศึกษา ก็เลยบริจาคให้โรงเรียนด้วยความเต็มใจ เช่นกัน 

          ผมว่าเป็นบรรยากาศที่ดี เพราะว่าผมเข้าใจว่าลำพัง เงินงบประมาณแผ่นดินของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับการจัดสรรมาก็คงไม่เพียงพอ ที่จะพัฒนาโรงเรียนให้มีห้องสมุดที่ดี มีห้องคอมพิวเตอร์ และ ห้องแล็บภาษา หรือ อุปกรณ์กีฬาและดนตรีที่ดีเพียงพอสำหรับนักเรียนไม่ได้

          ดังนั้น  การที่ผู้ปกครองจะช่วยบริจาคให้โรงเรียนด้วยความสมัครใจ มีการออกใบเสร็จรับเงินอย่างถูกต้องและทำอย่างเปิดเผย จึงเป็นสิ่งที่น่าศรัทธาอย่างยิ่ง เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และ ต่อลูกหลานของตัวเอง

           สมัยนี้ ผมได้ยินผู้ปกครองเล่ากันเรื่องการวิ่งเต้นเส้นสาย เพื่อฝากลูกเข้าโรงเรียนแล้ว อดที่จะสงสารและอดที่จะรู้สึกหมั่นไส้ผู้ปกครองไปพร้อมๆกันไม่ได้ บ้านผมเองในต่างจังหวัด อยู่ใกล้โรงเรียนดังประจำจังหวัดมาก เลยมีคนขอฝากลูกหลานเข้ามาในทะเบียนบ้านก่อนล่วงหน้าหลายปี เพื่อให้จับสลากเข้าโรงเรียนได้ และปัจจุบันนี้ได้ข่าวมาว่าโรงเรียนสาธิตบางแห่งเรียกกันเป็นรถตู้หรูคันละ 4 ล้าน เพื่อเอาลูกเข้าโรงเรียน

          อันที่จริงผมเข้าใจเหมือนกันว่าโรงเรียนจำเป็นต้องใช้เงินในการพัฒนาโรงเรียน แต่ทำไมไม่ทำกันอย่างเหมาะสม ประกาศกันให้ชัดๆ มีใบเสร็จ และประกาศเลยว่า ได้เงินมาจากผู้ปกครองคนไหน เท่าไหร่ แสดงบัญชีให้ชัดเจนกันไปเลย และเอาเงินเหล่านั้นไปใช้จ่ายอะไรบ้าง ประกาศให้ทุกคนได้รับทราบ ทำให้โปร่งใส ถูกต้อง แสดงบัญชีรายรับรายจ่าย และไม่ควรมาถามนักเรียนแบบที่ผมเคยเจอมา

           การรับ"เด็กฝาก"และ "เงินบริจาค" จะประกาศไปเลยว่า ที่นั่งละอย่างน้อยหนึ่งล้าน จำนวน 50 ที่นั่ง ใช้ระบบเปิดประมูลเลยก็ยังได้ และควรมีแต้มส่วนลดเงินดังกล่าว โดยพิจารณาลดหย่อนให้เด็กฝาก ที่มีคะแนนสอบหรือ ผลการเรียน ในอดีตค่อนข้างดี

          ผมเคยได้ยินมาว่า อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมของรัฐชื่อดังที่สุด สมัยก่อนเมื่อรับเด็กฝากแบบนี้มา จะเรียกเด็กและผู้ปกครองมาลงนามในใบลาออกไว้ก่อนเลย หากผลการเรียนไม่ดี หรือ "เกเร" ก็บอกให้ลาออกได้เลย คาดโทษไว้ก่อนจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง วิธีแบบนี้น่าจะดี ทำให้เด็กฝากเจียมเนื้อเจียมตัวและตั้งใจเรียน

          ผมยอมรับความเป็นจริงได้ว่า แม้มหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศ หากผู้ปกครองมีเงินบริจาคมาก ก็ยังทำให้เด็กมีโอกาสเข้าเรียนได้มากขึ้น แม้ว่าจะได้คะแนนสอบเข้าไม่ได้ดีมากก็ตามที ในเมื่อสถานศึกษามีความจำเป็นต้องใช้เงิน จะมีเด็กฝากบ้างก็ยังได้

         ขอแค่ทำให้ถูกต้อง ในเรื่องการเงิน มีกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการออกมาให้ชัดเจน เงินบริจาคดังกล่าวเอาไปลดหย่อนภาษีได้สองหรือสามเท่าได้ยิ่งดี ทำให้โปร่งใส ถูกกฎระเบียบ เปิดเผย ผมยอมรับได้ แต่ไม่ควรจะมีสัดส่วนของเด็กฝากมากจนเกินไป 

          นอกจากนี้ การฝากและการบริจาคควรต้องทำก่อนการสอบ และการประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้ามาเรียนต้องไม่มีการประกาศว่านักเรียนคนไหนเป็นเด็กฝาก ไม่เช่นนั้นจะเกิดการตีตรา (Labeling) ได้ว่านักเรียนคนนั้นคนนี้เป็น "เด็กเส้น" หรือ "เด็กฝาก"

          การออกมาประกาศว่า"ไม่มีเด็กฝาก" และ "ห้ามมีแป๊ะเจี๊ยะ" อะไรทำนองนี้ ไม่เคยได้ผลจริง และไม่เคยแก้ปัญหาได้ การทำทุกอย่างให้ ถูกต้อง โปร่งใส เปิดเผยต่างหาก ที่น่าจะแก้ไขปัญหาได้

     โดย...0 อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ 0

             ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ

            สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง

            คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ