Lifestyle

ร่างพรบ."บัตรทอง"ใหม่กับการกลับสู่ยุคคนไข้อนาถา?(มีคลิป)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอปิยะสกล"ออกโรงแจงปรับกฎหมายบัตรทองไม่ทำให้กลับสู่ยุคคนไข้อนาถา หากมีพร้อมปรับ ขอคนยกประเด็นมาพูดชี้ให้ชัดตรงมาตราไหน

          หลังจากที่เปิดให้มีการประชาพิจารณ์ร่างพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่....) พ.ศ...ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยภาคประชาชนมองว่ากระบวนการยกร่างขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนมีผู้แทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง)พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ฉบับที่...) พ.ศ....เพียง 2 คน รวมถึง มีข้อกังวลจากภาคประชาชนว่าการแก้ไขจะเป็นการทำลายหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง โดยเฉพาะในเรื่องการแยกผู้ให้บริการและผู้รับบริการสาธารณสุขจากที่มีการเพิ่มผู้แทนหน่วยบริการสาธารณสุขให้เป็นองค์ประกอบของบอร์ด และภาคส่วนมองว่าจะทำให้ระบบกลับสู่ยุคผู้ป่วยอนาถา

         ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)  กล่าวระหว่างการแถลง เรื่อง “ความจริงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”ว่า อยากให้คนที่ยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาได้ศึกษาร่างพรบ.หลักประกันสุขภาพฯที่มีการปรับปรุงแก้ไขจริงๆ บางคนยกประเด็นออกมามองถึงว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ในร่างพรบ.เองไม่ได้เขียนสิ่งนั้นไว้เลย เป็นการกลัวไปก่อนทั้งสิ้น หากเป็นแบบนี้คิดว่ามันคงจะลำบากในการจับประเด็นที่เกิดขึ้น

ร่างพรบ."บัตรทอง"ใหม่กับการกลับสู่ยุคคนไข้อนาถา?(มีคลิป)

       ในส่วนของคณะกรรมการพิจารณา(ร่าง) พรบ.หลักประกันสุขภาพฯที่ตนเป็นคนแต่งตั้งโดยบอกว่ามีผู้แทนภาคประชาชนเพียง 2 คนนั้น ซึ่งก่อนที่จะลงนามตั้งได้มีการสอบถามก่อนแล้วว่าทุกคนอยู่ในสภาวะสมดุลหรือไม่  คณะกรรมการฯมีทั้งหมด 27 คนที่เหลือใช่ภาคประชาชนหรือไม่ เช่น ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ก็เป็นตัวแทนประชาชนเพราะมาจากการเลือกของประชาชน หรือท่านอื่นๆก็เคยทำงานภาคประชาสังคมและประชารัฐ เป็นต้น คณะกรรมการพิจารณา(ร่าง)ฯจึงมีความสมดุลทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขผลกระทบให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด และส่วนตัวไม่เคยเข้าไปละลาบละล้วงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ และการทำหน้าที่ไม่มีข้อเคลือบแฝงแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้น ต้องเชื่อและไว้ใจคณะกรรมการชุดนี้

       สำหรับการวอล์กเอาท์ออกจากเวทีประชาพิจารณ์ในภูมิภาคของเครือข่ายคนรักหลักประกัน  รมว.สธ. กล่าวว่า การวอล์กเอาท์ก็ไม่เป็นไร ถือเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตย ขอเพียงอย่าทำให้เกิดความระส่ำระสาย แต่เวทีประชาพิจารณ์ไม่ได้ล่ม เพราะยังมีภาคประชาชนอื่นๆเข้าร่วมอีก300-400 คน แต่มีคนออกจากเวทีราว 80-100 คน ที่ประชุมก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ และทุกความคิดเห็นแม้แต่ของคนที่วอล์กเอาท์ก็ได้รับการบันทึกไว้เป็นความคิดเห็นทั้งสิ้น

       “ทุกอย่างมุ่งเน้นประชาชน ได้ประโยชน์ ในร่างพรบ.ใหม่ไม่มีการลดสิทธิ์ประชาชนแม้แต่คำเดียว ผมก็สับสนเหมือนกันนะ บางคนบอกสิ่งที่กฎหมายคงเดิมไว้บอกไม่ได้ต้องเปลี่ยน แต่สิ่งที่กฎหมายมีการแก้ไขกลับบอกไม่ได้ห้ามแก้อีก ก็จะบันทึกข้อความเห็นไว้ทั้งหมดและรวบรวมข้อมูล โดยรัฐบาลนี้ก็จะเดินหน้าในเรื่องนี้การทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77โดยแท้ ผมสั่งให้ใครทำอะไรไม่ได้ ผมเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของคณะกรรมการชุดนี้ทุกคน”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว

ร่างพรบ."บัตรทอง"ใหม่กับการกลับสู่ยุคคนไข้อนาถา?(มีคลิป)

         ต่อข้อถาม การแก้พรบ.จะทำให้ระบบกลับสู่ยุคผู้ป่วยอนาถา ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในร่างพรบ.หลักประกันสุขภาพฯใหม่ที่มีการปรับปรุงไม่มีสิ่งใดที่นำกลับไปสู่ระบบแบบที่มีการพูดถึงเลย ถ้าเป็นการหวาดระแวง หวาดกลัวของแต่ละคนเอง เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะคิด แต่ร่างพรบ.ที่ปรับปรุงแก้ไข ก็เอาตัวหนังสือมาอ่านว่าตรงไหนที่นำไปสู่สิ่งที่พูดว่ามีหรือไม่ ถ้ามีตรงจุดไหน ให้ดึงออกมาบอกแล้วมาช่วยกันแก้ รัฐบาลนี้ไม่เคยคิดที่จะนำประชาชนไปสู่สภาพที่พูดถึงเลย

          “คนเรามีศักดิ์ศรี เป็นคนไทยทุกคน คนที่คิดว่าจะกลับไปเป็นระบบแบบนี้นั้นคิดแบบนั้นจริงๆหรือ แต่ร่างพรบ.ที่กำลังปรับปรุงไม่เคยมีคำนี้ แล้วดึงออกมาพูดได้อย่างไรคนที่พูด ถ้ามีตรงไหนในร่างพรบ.ที่พูดแบบนั้น หยิบออกมาแล้วจะไปเปลี่ยนให้”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว

       ประเด็นเรื่องการจ่ายร่วม ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ไม่เห็นมีอยู่ในร่างพรบ.ที่แก้ไขเลย แต่มีอยู่ข้อหนึ่งในพรบ.หลักประกันฯฉบับเดิมที่มีอยู่แล้วพูดถึงว่าอาจจะให้มีการจ่ายร่วมได้ ที่เห็นภาพชัด คือ คนใช้บริการจ่าย 30 บาท  ซึ่งไม่ได้อยู่ในร่างพรบ.ใหม่ เพียงแต่ไม่ได้มีการแก้ไขในร่างพรบ.ใหม่ และร่างพรบ.ใหม่ก็ไม่ได้มีสักคำเดียวว่าจะให้มีการจ่ายร่วม ทุกอย่างในพรบ.ต้องมีความยืดหยุ่นได้ เพื่อให้อนาคตสามารถปรับได้ก็ปรับได้ เมื่อเห็นว่าประเด็นนี้ในพรบ.เดิมมีการยืดหยุ่นดีอยู่แล้วก็ไม่ได้มีการแก้ไขในร่างพรบ.ใหม่

      “การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายทั้งหมด นี่คือแก้เพื่อประโยชน์ประชาชนโดยแท้ ถ้าทิ้งปัญหาเรื่องการใช้จ่ายงบฯหลักประกันสุขภาพบางอย่างที่ดำเนินการไม่ได้ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟของสถานพยาบาล แต่เป็นงบฯที่จำเป็นสำหรับรพ.แต่ไม่ได้จ่ายโดยตรงในการรักษาพยาบาลประชาชนซึ่งในพรบ.เดิมบอกว่าทำไม่ได้  บางคนบอกว่าก็เลิกจ่ายให้รพ.ทั้งหมด ก็จะทำให้รพ.ทำงานไม่ได้ นี่คือผลที่ท่านอยากให้เป็นหรือ ก็ต้องแก้ใหม่เพื่อให้ดำเนินการได้ ถ้าไม่แก้แล้วปัญหาเกิดตามเดิมอีกใครเดือดร้อน ที่แก้เพื่อความยั่งยืนโดยแท้”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ