Lifestyle

‘ติง’ ร่าง พ.ร.บ.ตั้ง "กระทรวงอุดมศึกษา"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘ติง’ ร่างพ.ร.บ.ตั้งกระทรวงใหม่ ไม่แก้ปัญหา "ธรรมาภิบาลอุดมศึกษา"....โดย "ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ"ประธาน ทปสท.

 

          กรณีคณะทำงานจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ได้นำร่างกฎหมายการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาขึ้นเว็บไฃต์ และเผยแพร่ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2560 โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับด้วยกันได้แก่ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ... พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินกระทรวงอุดมศึกษา พ.ศ... และพ.ร.บ. การอุดมศึกษา พ.ศ...

         ในการจัดตั้งกระทรวงใหม่นั้น ผมคิดว่ามีหลากหลายคำถาม ที่คนในสังคมไทย  รวมถึงคนในสถาบันอุดมศึกษาเองต้องการคำตอบ เช่น การตั้งกระทรวงใหม่จะเกิดประโยชน์กับสังคมไทย และ ประเทศชาติอย่างไร คุณภาพอุดมศึกษาจะดีขึ้นหรือไม่ ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาจะแก้ไขได้หรือไม่ ปัญหาด้านการบริหารงานบุคคล

          โดยเฉพาะในส่วนของพนักงานทั้งเรื่อง ความมั่นคง เสรีภาพทางวิชาการ เงินเดือนค่าตอบแทน และสวัสดิการจะได้รับการแก้ไข ให้ดีขึ้นหรือไม่ และสุดท้ายสถาบันอุดมศึกษาจะสามารถนำพาประเทศไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”ได้หรือไม่

         จากการศึกษารายละเอียดจากร่าง พ.ร.บ. ทั้งสามฉบับแล้ว ผมเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่น่าจะมีความสำคัญมากที่สุดในการกำกับ ควบคุมมาตรฐานการอุดมศึกษา และแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมดได้ คือ ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ... แต่เมื่ออ่านแล้วค่อนข้างผิดหวัง..และคิดว่าร่างพ.ร.บ.นี้คงไม่สามารถแก้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้

         เริ่มตั้งแต่ที่มาและองค์ประกอบของ “คณะกรรมการการอุดมศึกษา” ที่กำหนดให้มีตัวแทนจากคนเพียง 2 กลุ่ม คือ"นายกสภา"กับ"อธิการบดี" ซึ่งก็คงมาจากการที่ผู้ร่างส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นคนกลุ่มเดียวกัน คืออธิการบดีและนายกสภา จึงเป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า “ชนใดออกกฎหมาย ก็เพื่อชนนั้น”

         ทั้ง ๆ ที่ผ่านข้อสรุปจากหลายหน่วยงานเห็นตรงกันว่า ปัญหาในสถาบันอุดมศึกษา ล้วนเกิดจากโครงสร้างการบริหารงานอุดมศึกษา 2 ระดับ คือ ในระดับนโยบาย คือ 1. คณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่หลายคนมีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะไปนั่งเป็นกรรมการทั้งสองระดับ และ 2.ระดับปฏิบัติคืออธิการบดีกับสภาสถาบัน ซึ่งคนที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการทั้งสองระดับ ล้วนเป็นคนกลุ่มเดียวกัน และมีความกลมเกลียวกัน จนทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ขาดความความสมดุลในการตรวจสอบ ซึ่งมักได้ยินเสมอว่ามีการเอื้อประโยชน์ ระหว่างอธิการบดีกับสภาสถาบัน และคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทำให้ขาดความโปร่งใสและธรรมาภิบาล มีการสืบทอดอำนาจ และการให้ประโยชน์และค่าตอบแทนกับตำแหน่งต่าง ๆ ในสถาบัน

          สาเหตุหลักของปัญหาคือต้องการ "อำนาจ" และ "ผลประโยชน์" ที่ไร้ขีดจำกัดไร้การควบคุม หลายคนหมุนเวียนเป็นนายกสภากรรมการสภา และอธิการบดี หลายที่บางคนเป็นแทบทั้งชีวิต โดยอาศัยเครือข่ายและระบบอุปถัมภ์ในการเข้าสู่ตำแหน่ง เมื่อได้ดำรงตำแหน่งแล้ว ก็ออกระเบียบจ่ายค่าตอบแทน ให้กับตัวเองและพวกพ้องแบบไร้ขีดจำกัด ไม่สนใจกฎหมายหรือระเบียบใดๆ ของราชการ อ้างแค่ว่าเป็นอำนาจของสภา สภามีอำนาจสูงสุด จนเกิดปัญหาธรรมาภิบาลเกิดขึ้นในหลายสถาบัน

         แม้จะมีคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 ออกมาบังคับใช้มีการกำหนดมาตรการ และบทลงโทษไว้ชัดเจน แต่ผ่านไปครบหนึ่งปีก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะอำนาจส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ "คณะกรรมการการอุดมศึกษา" ซึ่งก็ล้วนเป็น"คนกลุ่มเดียว"กับ"นายกสภากรรมการสภา" และ"อธิการบดี"

          นี่คือสาเหตุ และ ต้นเหตุของปัญหาในสถาบันอุดมศึกษา ที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่กำหนดทั้งมาตรการและวิธีแก้ไขไว้ อาจเพราะคนร่างไม่เข้าใจ หรือเข้าใจดีแต่ไม่ต้องการแก้ เพราะอาจจะส่งผลกระทบกับตัวเอง และ พวกพ้อง

         แม้ว่าก่อนหน้านี้คณะทำงานฯ เคยเดินสายไปรับฟังความคิดเห็นจากสี่ภูมิภาคทั้งในเขตกรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา แต่ในฐานะผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม แต่แทบไม่มีความเห็นที่เป็นข้อเสนอใดๆ จากประชาคมอุดมศึกษา ปรากฎเป็นรูปธรรมในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว

         โดยเฉพาะแนวทางการแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาล ทั้งการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร นายกสภากรรมการสภา เพื่อให้ได้คนดี ป้องกันการสืบทอดอำนาจ และการแสวงหาผลประโยชน์ การกำกับการปฏิบัติหน้าที่ การประมินผลการปฏิบัติงาน และการสร้างกลไกและระบบในการตรวจสอบถ่วงดุล ของผู้บริหาร อธิการบดี นายกสภากรรมการสภา

          รวมไปถึง"คณะกรรมการการอุดมศึกษา" และที่สำคัญข้อเสนอหนึ่งคือ"การกำหนดบทลงโทษ" กรณีการไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนที่ก่อให้เกิดปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา

         ดังนั้น ผมจึงอยากฝากให้คณะทำงานฯ ได้นำความคิดเห็นจากประชาคมอุดมศึกษา รายงานของคณะกรรมาธิการด้านการศึกษาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรื่อง แผนการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา รวมทั้งข้อเสนอของที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) ซึ่งได้เสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหลายครั้ง

          ร่วมทั้งขอให้นำเอาเนื้อหา ใน “ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมาตรฐานและธรรมาภิบาลการอุดมศึกษา” ซึ่งทปสท.ยกร่างและเสนอไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมพิจารณาในขั้นการแก้ไขปรับปรุง หรือในชั้นกรรมาธิการด้วย

         

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ