Lifestyle

สธ.-สปสช.-สช.แจงประเด็น "แก้กฎหมายบัตรทอง"!(มีคลิปเต็ม)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สธ.-สปสช.ประสานเสียงแจงเหตุผลปรับแก้“กฎหมายบัตรทอง”  เชิญสถาบันพระปกเกล้าประเมินผลกระทบร่างพรบ.ตามม.77

       จากกรณีที่มีการยกร่างพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือกฎหมายบัตรทองและขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ โดยดำเนินการเวทีภูมิภาคแล้วใน 2 พื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และจ.เชียงใหม่ แต่มีภาคประชาชนในนามเครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันได้วอล์คเอาท์ไม่ร่วมประชาพิจารณ์ทั้ง 2 เวที  ให้เหตุผลว่ากระบวนการยกร่างไร้ธรรมาภิบาล ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม และควรยุติกระบวนการทั้งหมดและเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

       เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.มรุต  จิรเศรษฐสิริ โฆษกคณะกรรมการพิจารณา(ร่าง)พรบ. นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการสำนะกงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าว  (ร่าง)พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ฉบับที่...)พ.ศ.... ซึ่งมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ

สธ.-สปสช.-สช.แจงประเด็น "แก้กฎหมายบัตรทอง"!(มีคลิปเต็ม)

            ที่มาความจำเป็นในการแก้ไขพรบ.หลักประกันสุขภาพฯ (นาทีที่ 1.52-7.44) นพ.ประจักษวิช  กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีใช้มา 15 ปีแล้ว เมื่อมีการใช้บังคับมาได้ระยะหนึ่งก็มีการแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ดำเนินการเป็นประจำทุกปีปรากฎว่ามีการเสนอแนะในหลายเรื่องที่พรบ.ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่สปสช.ได้มีการพยายามหาช่องทางในการดำเนินการ เช่น เป็นมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)

         อาทิ การจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข ก่อนที่จะมีการทักท่วงจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบว่าสปสช.ไม่สามารถใช้เงินได้ ก่อนที่จะมีคำสั่งม.44ของคสช.ปลดล็อคให้ดำเนินการ เป็นต้น รวมถึง มีความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆแสดงความคิดเห็นว่าการทำงานบางส่วนยังติดขัดและเป็นอุปสรรค จึงได้มีการประมวลความคิดเห็นต่างๆมาพิจารณา และนำมาสู่การปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้การทำงานไม่ติดขัดปัญหาอุปสรรคและทำได้คล่องตัวมากขึ้น และการปรับปรุงไม่ได้มีประเด็นของการยุบสปสช.และยกเลิกหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองเลย

            ประเด็นที่มีการแก้ไขในร่างพรบ.หลักประกันฯ(นาทีที่7.45- 31.00) นพ.มรุต กล่าวโดยสรุปว่าในการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพพรบ.หลักประกันฯจะมี 14  ประเด็น  โดยสรุป อาทิ การใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ  ให้สิทธิประโยชน์ประชาชนไม่น้อยกว่าเดิม และเป็นการให้สิทธิกับประชาชนคนไทยที่อยู่ในประเทศไทย  ไม่รวมนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไม่ครอบคลุมบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะ เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่าประเทศไทยมีงบประมาณที่จำกัดจึงให้สิทธิ์กับคนไทยก่อน ส่วนบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะและอยู่ชายแดน รัฐควรมีการพิจารณางบฯส่วนอื่นมาดูแล

      การร่วมจ่าย นพ.มรุต กล่าวว่า กฎหมายเดิมกำหนดเรื่องการร่วมจ่ายไว้แล้ว อย่างที่ผ่านมาก็ร่วมจ่าย 30 บาท ในการปรับปรุงกฎหมายจึงไม่ได้มีการแก้ไขในเรื่องนี้  แต่ประเด็นที่ปัจจุบันเศรษฐีมีการใช้สิทธิรักษาฟรีซึ่งไม่น่าจะฟรี ก็น่าจะใช้เรื่องของการร่วมจ่ายตามกฎหมายเดิมกำหนดไว้ได้ แต่จะดำเนินการอย่างไรอยู่ในอำนาจของบอร์ดสปสช.  การจัดซื้อยาร่วม โดยเฉพาะยาจำเป็นที่มีราคาแพงและยาที่จำเป็นแต่มีการใช้น้อย เช่น ยาต้านพิษ ที่สปสช.ดำเนินการแต่ในกฎหมายเดิมไม่ได้ให้ทำได้นั้น ไม่ได้มีการแก้ไขในร่างใหม่ เพราะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการต่อรองราคาระดับชาติมาดำเนินการ เพื่อให้สิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการได้ประโยชน์ในส่วนนี้ด้วยไม่เฉพาะแต่บัตรทอง

สธ.-สปสช.-สช.แจงประเด็น "แก้กฎหมายบัตรทอง"!(มีคลิปเต็ม)

            การทำประชาพิจารณ์(นาทีที่ 31.22-45.00) ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า  ในการประชาพิจารณืยึดหลักการเสมอภาคเท่าเทียม สมานฉันท์และความเป็นระบบ กติกา และมีขั้นตอนชัดเจน ซึ่งไม่ได้เป็นการหาประชามติ ไม่ได้มีการโหวตแล้วรับคะแนน แต่เป็นการให้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น แล้วประมวลความคิดเห็นทั้งหมดให้ครบถ้วน ก่อนที่จะความคิดเห็นในประเด็นที่ถกเถียงกันมากในการประชาพิจารณ์ออนไลน์และ 4 ภูมิภาคเข้ามาหาทางออกร่วมกันในเวทีปรึกษาสาธารณะ

            “กรณีที่มีกลุ่มคนรักหลักประกันวอล์คเอาท์ใน 2 เวทีที่ผ่านมา  ไม่ได้ทำให้เวทีประชาพิจารณ์ล่มแต่อย่างใด  เวทีประชาพิจารณ์ในห้องประชุมก็ดำเนินการต่อไปได้ และมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 300 คน ส่วนการแสดงความคิดเห็นนอกเวทีของกลุ่มคนรักหลักประกันฯที่มีการออกแถลงการณ์ ก็จะเป็นมีการบันทึกไว้เป็นความคิดเห็นอย่างหนึ่ง ซึ่งการวอล์คเอาท์ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย และไม่ได้มีการขัดขวางเวทีประชาพิจารณ์แต่อย่างใด”ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์กล่าว

            ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาคประชาชนไม่เห็นด้วยใน 2 ประเด็นหลัก คือ การยกร่างขาดการมีส่วนร่วมและการเพิ่มสัดส่วนบอร์ดให้กับผู้แทนหน่วยบริการ นพ.มรุต กล่าวว่า ในคณะกรรมการพิจารณายกร่างมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนครบถ้วน ส่วนละ 1-2 คน ในส่วนของภาคประชาชนมีผู้แทน 1 คนและองค์กรเอกชน 1 คน ถามว่าภาคประชาชนน้อยหรือไม่ก็ไม่น้อย เป็นสัดส่วนเท่ากับภาคส่วนอื่นๆ ส่วนการเพิ่มผู้ให้บริการเป็นบอร์ดเพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้แทนส่วนนี้ เพื่อให้อธิบายและให้ข้อเสนอแนะ หากภาคประชาชนต้องการให้เพิ่มสัดส่วนก็เสนอในเวทีประชาพิจารณ์ได้

            นพ.มรุต กล่าวอีกว่า  คณะกรรมการพิจารณาร่างฯได้เชิญสถาบันพระปกเกล้ามาดำเนินการประเมินผลกระทบของร่างพรบ.นี้ ให้เป็นไปตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทราบว่าการยกร่างพรบ.นี้มีผลกระทบแง่บวกหรือแง่ลบหรือไม่ อย่างไร หากส่วนไหนที่เป็นผลกระทบแง่ลบก็ดำเนินการแก้ไขก่อนตราเป็นกฎหมาย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ