Lifestyle

ยุค 4.0 ตลาดแรงงานไม่ต้องการใบปริญญา??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยุค 4.0 เทคโนโลยี การสื่อสารที่ทันสมัย ตลาดแรงงานต้องการสายอาชีพ มีทักษะฝีมือ มากกว่าปริญญา เช่นนี้ระบบการศึกษาเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง??

    ต้องปรับความคิดใหม่เสียแล้ว เมื่อการจบ “ปริญญาตรี”ในยุค4.0 โลกเทคโนโลยี การสื่อสาร การไหลของข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา “ใบปริญญา” ไม่ได้การันตีถึงความรู้ และสถานประกอบการ ตลาดแรงงานไม่ต้องการ แต่ต้องการ “สายอาชีพ” คนมีทักษะฝีมือ ทำงานเป็นมากกว่า แล้ว "ระบบการศึกษาไทย เพื่อผลิต พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เตรียมพร้อมเด็กไทย คนไทยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 หรือยัง..??

ยุค 4.0 ตลาดแรงงานไม่ต้องการใบปริญญา??

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

     ข้อมูลของโครงการวิจัยสถานการณ์ตลาดแรงงานใน 18 กลุ่มจังหวัด ซึ่งมีการวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มในการจ้างงานในระดับจังหวัด ซึ่งมาจากเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการทั่วประเทศจำนวน 40,000 แห่ง โดย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวสรุปความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าว ในงานพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายสื่อสารด้านการปฏิรูป จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มีแง่มุมวิเคราะห์อยู่ 3 ประเด็น 

     ดังนี้ 1.สังคมต้องทำความเข้าใจการพัฒนาเป็นองค์รวม ไม่ใช่เพียงมิติเศรษฐกิจ แต่เป็นการรวมถึงสภาพสังคมใหม่ของประเทศไทย ที่อาศัยความทันสมัยของดิจิตอลมาช่วยขับเคลื่อนในทุกด้าน 2.สังคมควรส่งเสริมให้เกิดการเรียนในสายอาชีพ วิชาชีพ มากกว่ามุ่งเรียนปริญญา เพราะดูจากข้อมูลอีก 3 ปี ข้างหน้าโดยเฉพาะยอดการส่งออกของประเทศไทยพบว่า ธุรกิจจะมีการปรับตัวภายใน 5 ปี แต่ไทยยังขาดแรงงานคุณภาพ ซึ่งหากสามารถยกกลุ่มแรงงานกลุ่มล่างสุดที่เรียกว่า “bottom40%”นี้ขึ้นมาได้ ไทยจะสามารถถีบตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงยุค 4.0 และ3.ระบบการศึกษาต้องหนุนเสริมให้เกิดการเรียนรู้สายอาชีพ 4.0 ตอนนี้การจบปริญญาตรีแล้วมีโอกาสดีกว่าอาชีพ เป็นเพราะกระบวนการในการผลิตคนสายอาชีพ ยังไม่ถูกผลักให้พวกเขาอยู่ในระดับสายอาชีพที่เก่งที่สุด

ยุค 4.0 ตลาดแรงงานไม่ต้องการใบปริญญา??

    "สิ่งที่เด็กเรียนในโรงเรียนต้องเน้นการเรียนแบบประยุกต์ใช้เครื่องจักรในยุคดิจิตอล ไม่ใช่เรียนแต่ฟังก์ชั่น เพราะตลอด 25 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างการจ้างงานในประเทศไทยแทบไม่เปลี่ยนแปลง นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้รวยจากการพัฒนาทักษะให้เก่งขึ้น แต่เป็นเพราะเราทำงานหนักมากขึ้น ดังนั้น ต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน และเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ เช่น ไทยใช้แรงงานต่างด้าวในช่วง 10 ทั้งที่ความเป็นจริงควรเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นแต่เป็นการใช้แรงงานต่างด้วย หากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เรื่อยๆ โดยไม่มีการปรับโครงสร้างการผลิต เตรียมคนที่ดี สุดท้ายประเทศไทยจะสู้ประเทศอื่นไม่ได้"ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

      ประเทศไทยคนที่ทำงานเก่ง มีเพียง ร้อยละ 14 ขณะที่ อีก 30 ล้านคนในตลาดแรงงานถูกทิ้งไว้ข้างหลัง!!

     ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อไปว่า ยุค 4.0 คือการใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นพันธมิตร แต่ต้องไม่ทิ้งรากเหง้าของตนเอง เพราะเด็กที่เกิดวันนี้ ต้องเก่งเป็น 2 เท่าของคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่มีทางที่จะเก่งได้ด้วยการเรียนหนักขึ้น แต่เก่งจากการทำงานเก่ง และรู้จักการใช้เทคโนโลยี เป็นระบบนิเวศน์ของการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่พ่อแม่ คนในชุมชนต้องช่วยกัน ที่สำคัญเด็กต้องไม่ลืมตัวตน รากเหง้าของตนเอง วัฒนธรรมบ้านเกิด จังหวัดตัวเอง เมื่อใดที่สอนให้เด็กเหมือนกันหมด กลายเป็นข้างล่างของตลาดแรงงานในยุค4.0 อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทุกคนมุ่งไป ข้างหน้าแบบสากลซึ่งไม่เป็นไร แต่ต้องเตรียมเด็กให้มีรากเหง้า รักษาความเป็นไทย พื้นเพจังหวัดของตนเอง เพื่อให้เป็นคนพิเศษ คนเฉพาะ มีจุดเด่น มีตัวตน

   ทั้งนี้ การปรับคนสู่ปริญญาไม่ใช่ทางออกของประเทศ เพราะอนาคตมหาวิทยาลัยจะเป็นทางตัน เนื่องจากคนในอนาคตไม่ได้อยู่ได้ด้วยใบปริญญา แต่อยู่ได้ด้วยหลักสูตรสั้นๆ อัพเกรดคนไปเรื่อยๆ เพราะความรู้ไม่ได้นิ่งตายตัว มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว ทำงานวิจัยมากขึ้น การปรับตัวเหล่านี้ เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยระดับโลก มีการปรับตัว บางหลักสุตรเปิดเรียนออนไลน์ฟรี มหาวิทยาลัยอยุ่ได้ด้วยการวิจัย พัมนา โลกเปลี่ยน มหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบ การมีทักษะแรงงานเฉพาะในแต่ละคนเป็นสำคัญ อีกทั้ง ทักษะที่โลกต้องการเปลี่ยนแปลงเร็วมากขึ้น การเรียนการสอนต้องให้ทำมากขึ้น ท่องจำให้น้อยลง

ยุค 4.0 ตลาดแรงงานไม่ต้องการใบปริญญา??

ดร.ไกรยศ ภัทราวาท

     ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค. กล่าวว่า การเตรียมพร้อมทักษะเด็กเยาวชนไทยเพื่อรองรับเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 ต้องลดความเหลื่อมล้ำของสังคมให้ได้ ซึ่งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(United Nations Development Programme:UNDP)กลับพบว่า ความเหลื่อมล้ำของทางเศรษฐกิจและสังคม การศึกษาเป็นช่องว่างที่ทำให้ดัชนีการพัฒนามนุษย์(the Human Development Index:HDI)ของประเทศไทยต่ำกว่าคะแนนที่ควรจะเป็นถึงร้อยละ 20 

     ทั้งนี้ สัดส่วนประชากรไทยที่อยู่ใต้เส้นความเหลื่อมล้ำต้องลดลงร้อยละ 7.4 และระดับความเหลื่อมล้ำทางสังคม ต้องลดลงร้อยละ16.25 ภายใน 5 ปีข้างหน้า นอกจากนั้น เมื่อHDIให้ความสำคัญคุณภาพชีวิตที่ยืนยาว วัดโดยอายุไขเฉลี่ยของประชากรไทยโดยรวม และความรู้วัดโดยจำนวนปีที่นักเรียนอยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยสูงราว 13.6 และจำนวนปีการศึกษาของประชากร ค่าเฉลี่ยราว 7.9 ปี

ยุค 4.0 ตลาดแรงงานไม่ต้องการใบปริญญา??

     อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการศึกษาในสายอาชีพ และควรมีนโยบายเพื่อลดอัตราการออกจากการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะหากรัฐบาลสามารถเปลี่ยนเยาวชนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีฝีมือด้วยวุฒิปวช.ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานจะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และทำให้คุณภาพความรู้และคุณภาพชีวิตของคนไทยมีแน้มโน้มที่ดีขึ้น

     ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ใน 5 ปีแรกได้ยุค 4.0 คือวิถีชีวิตใหม่ ทุกคนต้องเปลี่ยนวิธีคิด อย่าแห่ตามชาวบ้าน ต้องเลือกทางของตัวเอง ทุกคนต้องมีทักษะของตัวเอง เพราะโลกไปในทางทักษะสำคัญกว่าวุฒิ ซึ่งหน้าตาเด็กไทยที่มีคุณภาพ สามารถเป็นนายช่าง รายได้ดี เป็นเจ้าของกิจกรรม ไม่ใช่ใส่ชุดครุยเพียงอย่างเดียว

  ๐ชุลีพร อร่ามเนตร๐ [email protected]

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ