Lifestyle

"เงิน"กับ"อำนาจ" สาเหตุปัญหาอุดมศึกษาของรัฐ!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เงิน" กับ "อำนาจ" สาเหตุปัญหาอุดมศึกษาของรัฐ โดย ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.)

         แม้ว่าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจะมี 2 แบบ คือ มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ และมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ สถาบันทั้งสองแบบแตกต่างกันทั้งระบบการบริหารงานบุคคล และระบบการบริหารงบประมาณ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งของสถาบันแต่ละแบบ กล่าวคือ สถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการ กฎหมายกำหนดให้บริหารงานบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และบริหารเงินตามกฎหมาย ว่าด้วยวิธีงบประมาณ

         ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระ มีความคล่องตัวในการปฏิบัติภารกิจ เพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศด้านวิชาการ พระราชบัญญัติจัดตั้ง จึงระบุให้สภาสถาบันออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคล และการบริหารงบประมาณเองได้ แม้พระราชบัญญัติจะกำหนดให้สถาบันทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ก็มีสิ่งที่เหมือนกันคือทุกสถาบันให้อธิการบดีมีอำนาจสูงสุดในด้านการบริหารงาน มีสภาสถาบันทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบัน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง รวมทั้งกฏมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

         อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาของสถาบันอุดมศึกษาทั้งสองแบบกลับมีปัญหาที่ไม่แตกต่างกัน คือ การทุจริตคอรัปชั่น ในการจัดซื้อ จัดจ้าง การเอื้อประโยชน์ให้เอกชน การละเว้น จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ การ กลั่นแกล้งบุคลากรที่ไม่ใช่พวกพ้อง หรือคนที่ไปร้องเรียนเรื่องการทุจริต มีการใช้ระบบอุปถัมภ์ การสืบทอดอำนาจ ฯลฯ ซึ่งหากสำรวจตรวจสอบไปที่ต้นเหตุของปัญหาในแต่ละสถาบัน ส่วนใหญ่พบว่าล้วนเกิดจากการบริหารงานของอธิการบดีที่ขาดธรรมาภิบาล และขาดการกำกับดูแลของสภาสถาบันแทบทั้งสิ้น โดยมีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ เงิน หรือ ผลประโยชน์ และการแสวงหาอำนาจ

         ซึ่งช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดปัญหาคือ การที่พระราชบัญญัติของแต่ละสถาบันกำหนดให้มีสภาสถาบันมีอำนาจสูงสุดในการกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินงานของสถาบันซึ่งก็คือ อธิการบดี แต่กลับไม่มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของสภาไว้ ดังนั้น เมื่ออธิการบดีทำผิด หรือบางครั้งสภาอาจมีส่วนร่วมในการทำผิด ก็ไม่มีกฎหมายโดยตรงที่ใช้ในการตรวจสอบเอาผิดกับสภา ต้องอาศัยการฟ้องร้องจากหน่วยงานภายนอก ซึ่งก็ต้องมีผู้เสียหายไปร้องหรือยื่นฟ้องศาล ซึ่งนอกจากจะหาคนที่มีความกล้าหาญยากแล้ว การฟ้องร้องก็ใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้ข้อยุติ ขณะที่คนซึ่งนำเรื่องไปร้องเรียน หรือยื่นฟ้องศาลมักถูกกลั่นแกล้ง หรือถึงขั้นให้ออก 

        ขณะที่เมื่อศาลตัดสินก็เป็นเพียงยกเลิก เพิกถอนมติ หรือชี้ความผิดแล้วให้สภาหรือสถาบันดำเนินการเอาผิด แต่สภาและสถาบันซึ่งก็คืออธิการบดีก็มักไม่ดำเนินการใดๆ สุดท้ายเรื่องก็จบ ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว แถมยังกระทำผิดซ้ำๆ อีก

        ดังนั้น แนวทางในการแก้ไขปัญหา จึงควรแก้ให้ตรงจุดและถึงต้นตอของปัญหา โดยต้องมีกฎหมายกลาง เพื่อใช้ในการกำกับ ตรวจสอบ ถ่วงดุลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี และสภาสถาบัน โดยกำหนดแนวปฏิบัติ เพื่อควบคุมตรวจสอบใน 2 สาเหตุหลักของปัญหา คือเรื่องเงินและผลประโยชน์ทั้งของอธิการบดี นายกสภาและกรรมการสภา ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าตอบแทน เบี้ยประชุม หรือรายได้ต่าง ๆ โดยกำหนดอัตราเป็นมาตรฐานกลางไม่ใช่ปล่อยให้แต่ละสถาบันไปกำหนดกันเองตามใจชอบ

         ในส่วนของการใช้อำนาจและการสืบทอดตำแหน่ง ก็ต้องกำหนดกติกาให้ชัดเจน นับตั้งแต่กำหนดมาตรฐานกระบวนการสรรหา กำหนดอายุ วาระ จำนวน ในการดำรงตำแหน่งของอธิการบดี นายกสภาและกรรมการสภา รวมไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดีและสภา การที่จะออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับใดๆ มาบังคับใช้ในสถาบันต้องเป็นไปภายใต้หลักธรรมาภิบาล หากไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าว ต้องไม่ให้สามารถนำมาใช้บังคับได้ รวมไปถึงการที่สถาบันอุดมศึกษาจะเปิดหลักสูตรใดๆ ต้องเป็นสาขาที่สอดคล้องกับแผน/ยุทธศาสตร์ชาติ และต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานทั้งของอธิการบดีและสภาสถาบัน โดยให้เปิดเผยรายงานต่อสาธารณะด้วย

        นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติจริง ต้องกำหนดโทษทั้งทางอาญา ละเมิด และวินัย ไว้ในพระราชบัญญัตินี้ด้วย โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องให้มีผลบังคับกับสถาบันอุดมศึกษาทุกประเภท

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ