Lifestyle

“มหาวิทยาลัยไทย”ต้องถอยหลังเข้าคลอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สมัยก่อนประเทศไทยเราไม่มีมหาวิทยาลัยมากนัก ในกรุงเทพมีจุฬาฯ ม.ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์และม.แพทยศาสตร์(ม.มหิดล ในปัจจุบัน )เท่านั้น

          มหาวิทยาลัยภูมิภาคก็มีที่แรกคือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีเท่านี้จริงๆ ไม่เหมือนปัจจุบันที่เรามีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนเป็นร้อย ๆ แห่ง แต่ประเทศไทยเรากลับมีโรงเรียน/วิทยาลัยที่หนึ่งเก่งที่สุดในประเทศในด้านนั้นๆ เป็นจำนวนมาก เช่น 

          วิทยาลัยการศึกษาประสานมิตร เก่งมากเรื่องการผลิตครูเป็นที่หนึ่งของประเทศ (ตอนนี้เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)

           วิทยาลัยพาณิชยการพระนคร (ผลิตนักบัญชีขั้นเทพ เก่งมาก) 

           ผมเรียนจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนจบมาจากที่นี่ระดับ ปวช และเข้ามาเรียนต่อ เก่งบัญชีขั้นเหยียบหัวเพื่อนคนอื่นแบนแต๊ดแต๋

           โรงเรียนการเรือนพระนคร (ตอนนี้เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต) เก่งเรื่องการเรือน คหกรรมศาสตร์ มาก มีชื่อเสียงเกรียงไกรในด้านนี้

           วิทยาลัยบพิตรพิมุข เก่งภาษา สมัยก่อนบริษัทต่างๆ ที่ต้องติดต่อต่างประเทศ จะมาจองตัวกันเลย สจ๊วด แอร์โฮสเตส รุ่นเก่า จบจากที่นี่เยอะมาก (ปัจจุบันเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตบพิตรพิมุข จักรวรรดิ)

          โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เป็นมือทองในการผลิตช่างก่อสร้าง เดี๋ยวนี้กลายเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย โรงเรียนช่างกลปทุมวัน เป็นโรงเรียนช่างกลแห่งแรกของประเทศไทย ผลิต mechanic หรือช่างกลฝีมือทองรับใช้ชาติมาอย่างเด่นชัด ปัจจุบันเป็นสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน

          โรงเรียนเพาะช่าง เป็นแหล่งผลิตศิลปินแห่งชาติ ศิลปินมือทองในวงการศิลปะ ปัจจุบัน ยังคงเป็นวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

           โรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ ตั้งขึ้นโดยความร่วมมือไทย-เยอรมัน และขยายออกมาจนกลายเป็น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ,สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

           วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ทุ่งมหาเมฆ เก่งกาจเรื่องการพิมพ์ ช่างพิมพ์ ช่างถ่ายรูป ในอดีตมีอาจารย์ระดับศิลปินแห่งชาติ มือทองสอนที่นี่ โดดเด่นสุดในวงการ ปัจจุบันกลายเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

          สิ่งที่น่าสังเกตคือทุกคนอยากไปเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันกันหมด อยากผลิตกันแต่ระดับอุดมศึกษากันหมด ยังที่ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรืออากาศ และโรงเรียนนายเรือไม่คิดอยากจะเปลี่ยนชื่อไปเป็นมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

          น่าสนใจมากว่าประเทศไทยเราพัฒนาการศึกษาไทยจากโรงเรียน หรือ วิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศในด้านนั้น มี unique selling point ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับชาติ ให้กลายเป็นอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยอย่างนั้นๆ

          Gary Hamel กับ CK Prahalad เป็นนักวิชาการด้านกลยุทธ์ชื่อดังของโลก เขียนหนังสือดังๆ หลายเล่ม เช่น Competing for the future ได้นำเสนอว่าองค์การที่จะเป็นเลิศได้ ต้องย้อนหลังกลับไปหาสิ่งที่ตัวเองเก่งที่สุดในเรื่องนั้น (Return to competence) และนำความเก่งที่สุดของตัวเองในเรื่องนั้นๆ มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไปจึงจะประสบความสำเร็จ มีความสามารถในการแข่งขันสูง

          ทุกวันนี้ Demand side ของอุดมศึกษา ร่อแร่มาก เราเคยมีเด็กเกิดใหม่ปีละเกินกว่าล้านคน โดยเฉลี่ยประมาณล้านสาม ล้านสี่ ต่อปี ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2505 จนราวปลายปี 2535 เริ่มมีเด็กเกิดลดลง จนเหลือแค่หก-เจ็ดแสนคนต่อปี เชื่อหรือไม่ครับว่าโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐบาลชื่อดังในใจกลางกรุงเทพมหานคร เคยมีนักเรียนทั้งโรงเรียนสามพันหก ตอนนี้ทั้งโรงเรียนมีนักเรียนแค่หกร้อยคน

          แต่ทว่า supply side อุดมศึกษาไทยขยายใหญ่โตมากเกินไป เรามีมหาวิทยาลัยในประเทศเล็กๆ สักสี่ห้าเท่าของจำนวนจังหวัดในประเทศไทย และนักเรียนสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยปีละเจ็ด-แปดหมื่นคน แต่มีที่นั่งว่างสำหรับระดับปริญญาตรีกว่าแสนสี่-แสนห้าที่นั่งต่อปี

          และอนาคตภาวะประชากรสูงวัยเต็มตัว (Aged society) จะยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงมากยิ่งขึ้น อุดมศึกษาไทยจะไปไม่รอด อาการดังกล่าวเริ่มเห็นชัดแล้วในมหาวิทยาลัยเอกชน บางที่ขายที่ดินสร้างคอนโด บางที่เคยมีนักศึกษาปีละหกพันคนลดลงเหลือสองพันและต้องบีบอาจารย์ให้ออกจากหกร้อยคนเหลือสองร้อยกว่าคน มหาวิทยาลัยไทยจะถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ลดจำนวนลงไป อาจจะเหลือเพียงครึ่งเดียวด้วยซ้ำ

           ทำไมเราไม่ถอยหลังเข้าคลอง กลับไปเป็นที่หนึ่งในเรื่องเดิมๆ ที่ตัวเองทำได้ดีที่สุดกันดีกว่าไหมครับผม โบราณว่าเป็นหัวหมาดีกว่าเป็นหางราชสีห์ เราไม่จำเป็นต้องดีที่สุด แต่ให้ดีที่สุดในสิ่งนั้นๆ Small but beautiful ทำให้เล็กลงแต่สวยงามโดดเด่นและเป็นที่หนึ่งเหมือนเดิม 

“มหาวิทยาลัยไทย”ต้องถอยหลังเข้าคลอง

          อย่างที่ศรีบูรพา ได้เขียนไว้ใน “ข้างหลังภาพ” ว่า แม้นเรามิได้เกิดเป็นดอกซากุระ ก็อย่ารังเกียจที่เกิดเป็นบุปผาพรรณอื่นเลย ขอแต่ให้เป็นดอกที่งามที่สุดในพรรณของเรา ภูเขาฟูจีมีอยู่ลูกเดียว แต่ภูเขาทั้งหลายก็หาไร้ค่าไม่

          แม้นมิได้เกิดเป็นซามูไร ก็จงเป็นลูกสมุนของซามูไรเถิด เราจะเป็นกัปตันกันหมดทุกคนไม่ได้ ด้วยว่าถ้าปราศจากลูกเรือแล้ว เราจะไปกันได้อย่างไร แม้นเรามิอาจเป็นถนน ขอจงเป็นบาทวิถี ในโลกนี้มีตำแหน่งและงานสำหรับเราทุกคน งานใหญ่บ้างเล็กบ้าง แต่เราย่อมจะมีตำแหน่งและงานทำเป็นแน่ละ แม้นเป็นดวงอาทิตย์ไม่ได้ จงเป็นดวงดาวเถิด 

          แม้นมิได้เกิดมาเป็นชาย ก็อย่าน้อยใจที่เกิดมาเป็นหญิง จะเป็นอะไรก็ตาม จงเป็นเสียอย่างหนึ่ง 

          จะเป็นอะไรมิใช่ปัญหา  สำคัญอยู่ที่ว่า..."จงเป็นอย่างดีที่สุด ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม”

    โดย...0 อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ 0

    สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง/ คณะสถิติประยุกต์ ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ