Lifestyle

ออกกฎหมายคุมน้ำตาลในอาหารปริมาณมากจ่ายภาษีมาก     

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กฎหมายสรรพสามิตคุมความหวานในอาหารไม่เกิน 10% หลังผลิตภัณฑ์ในไทยหวานกว่ายุโรปถึง2เท่า   คาดบังคับใช้ปีนี้

          นพ.พูลลาภ      ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  แถลงข่าวการดำเนินงานโครงการอาหารปลอดภัย ปี 2560 ว่า โครงการนี้ มุ่งเน้นส่งเสริมให้มีการอ่านและใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนฉลาก เช่น สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ”   หรือ Healthier Choice  รวมถึงฉลากโภชนาการ  ฉลากหวาน มัน เค็ม หรือฉลาก GDA  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์และเป็นทางเลือกในการเลือกบริโภคอาหาร เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะโภชนาการและสุขภาพของตนเองได้  เพื่อตอบโจทย์ให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนฉลาก ส่งเสริมให้อ่านข้อมูลต่าง ๆ บนฉลากอาหารในการลดอาหารที่มีความหวาน มัน หรือเค็ม มากเกินไป ซึ่งจะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ได้ เช่น สังเกตสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice)  จะแสดงถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ (โซเดียม) ที่เหมาะสม  นอกจากนี้ การอ่านและใช้ข้อมูลบนฉลาก หวาน มัน เค็ม ซึ่งเป็นฉลากโภชนาการแบบ GDA : Guideline Daily Amounts ก็จะบอกข้อมูลสารอาหารเมื่อกินหมดซอง ช่วยให้เลือกอาหารที่มีสารอาหารเหมาะสมกับร่างกายได้        

        น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผอ.สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ความคืบหน้าการควบคุมปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆนั้น ขณะนี้อยู่ในพ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่แล้ว โดยบรรจุอยู่ในร่างกฎหมายลูกของพ.ร.บ.ดังกล่าว หากมีกฎหมายนี้ออกมาแล้ว ในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆจะต้องมีความหวานไม่เกิน ร้อยละ 10 หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องมีการเสียภาษีเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดมีการใส่สารความหวานสูงมากประมาณ ร้อยละ 12-14 ซึ่งสูงกว่าในยุโรปกว่า 2 เท่า เพราะในยุโรปจะอนุญาตให้ใส่ได้ประมาณร้อยละ 6 เท่านั้น คาดว่ากฎหมายที่จะออกมาควบคุมปริมาณความหวานจะทันใช้ภายในปี 2560       

         อนึ่ง  ประเทศไทยมีภาระโรคที่เกิดจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases: NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าวิตก ซึ่งจากรายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทยในปี พ.ศ. 2556 พบว่ากลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 349,090 ราย หรือร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ