Lifestyle

ติง!! "ร่าง พ.ร.บ.อาชีวะใหม่" สะท้อนการศึกษาไทยย่ำอยู่กับที

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประธาน ทปสท. ติง "ร่าง พ.ร.บ.อาชีวะใหม่" สะท้อนการศึกษาไทยย่ำอยู่กับที่ ทั้งวิธีคิด วิธี ปฏิบัติ ชี้ เดินตามรอย "ราชภัฏ-ราชมงคล" หวั่น!! จะสร้างปัญหาในอนาคต

 

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) ให้ความเห็น กรณี ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการยกร่างพ.ร.บ.การอาชีวศึกษาโดยเฉพาะในหมวดของสถาบันการอาชีวศึกษาว่า ในการจัดตั้งให้สถานศึกษาอาชีวศึกษารวมตัวกันเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นส่วนราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)โดยแบ่งส่วนราชการเป็นสำนัก คณะ และวิทยาลัย ให้มีสภาสถาบันแต่ละแห่งจำนวน 15 คน มีวาระ 4 ปี มีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบบริหารงานของสถาบัน มีวาระ 4 ปี ให้สถาบันเปิดสอนได้ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก นั้น สะท้อนให้เห็นว่านับตั้งแต่ประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษา เมื่อปี 2542 เป็นต้นมา แม้จะมีการปฏิรูปทั้งระบบ โครงสร้าง การเรียนการสอนฯลฯ แต่ผลที่ได้คุณภาพการศึกษาไทยกลับล้มเหลว ดังที่ปรากฎ

          "แต่วิธีคิดวิธีปฏิบัติของผู้รับผิดชอบการศึกษา กลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังคงคิดและปฏิบัติเหมือนเดิมทุกประการ แทนที่จะศึกษาบทเรียนจากอดีตนำมาเป็นหลักคิดในปัจจุบัน หากย้อนไปในอดีต มหาวิทยาลัยราชภัฏ ก้าวมาจากวิทยาลัยครูสู่การเป็นสถาบันราชภัฏ สุดท้ายกลายเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลก้าวมาจากการเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาสู่การเป็นสถาบัน และเป็นเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในที่สุด แต่ต่างกันตรงที่ราชภัฏสามารถแยกตัวกันเป็นมหาวิทยาลัยได้ทั้ง 38 แห่ง ขณะที่ราชมงคลต้องรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยได้เพียง 9 แห่ง"ผศ.ดร.รับกรณ์  ตั้งข้อสังเกต

          ประธานทปสท. ชี้อีกว่าอย่างไรก็ตาม แนวคิดการปฏิรูปอุดมศึกษา ตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 มาตรา 36 “ให้สถานศึกษาของรัฐมี่จัดการศึกษาระดับปริญญาเป็นนิติบุคคล และอาจจัดเป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐดำเนินกิจการได้โดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหาร และการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้น ๆ”

         " การให้อิสระแก่สถาบันอุดมศึกษา มอบอำนาจให้สภาสถาบันกำกับดูแล โดยปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุล จึงเป็นที่มาของปัญหาต่าง ๆ ของอุดมศึกษาไทยในขณะนี้ ทั้งธุรกิจการศึกษา คือการเปิดหลักสูตรที่มุ่งหาเงินเป็นหลัก ไร้มาตรฐาน ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ คุณภาพบัณฑิตตกต่ำ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น การละเว้น จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ระบบอุปถัมภ์ การสืบทอดอำนาจ ที่เรียกว่า “สภาเกาหลัง” อธิการบดีเลือกสภา สภาเลือกอธิการบดี"ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าว 

          ประธาน ทปสท. กล่าวต่อไปว่า ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ในสถาบะนอุดมศึกษาไทย ยังไม่สามารถแก้ไขได้ แม้จะมีคำสั่งคสช.ที่ 39/2559 มาตรา 44 เรื่อง การแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ออกมาแต่ผ่านไป 1 ปีผ่านไป ปัญหาเหล่านี้ก็ยังแก้ไขไม่ได้ กลับกลายเป็นเพิ่มปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการที่ตั้งเพื่อให้ไปแก้ปัญหา เนื่องจากเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มคนที่สร้างปัญหา

          "ดังนั้น ผมจึงเห็น ร่างพ.ร.บ.สถาบันการอาชีวศึกษา ฉบับนี้ นอกจากจะเป็นการดำเนินการตามแนวทางของมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในอดีต โดยไม่มีอะไรใหม่แล้ว ยังจะเป็นการสร้างปัญหาในอนาคต และยังสวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนากำลังคนในระดับวิชาชีพทั้งปวช.ปวส. สุดท้ายประเทศไทยก็จะมีคนจบปริญญามาจนเกร่อ ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก แต่ไม่สามารถพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้”  ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวย้ำในที่สุด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ