Lifestyle

ให้ก.ค.ศ.วิเคราะห์งานเขตพื้นที่ฯหาช่องเยียวยารองผอ.เขต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มอบก.ค.ศ.วิเคราะห์ภาระงานและกรอบอัตรากำลังของเขตพื้นที่ฯที่เหมาะสม ปัจจุบันว่างอยู่ 209 ตำแหน่ง เล็งเกลี่ยรองเขตพื้นที่ฯเงื่อนไขลงเพื่อเยียวยาและแก้ปัญหา

       ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่ประชุมได้มีการหารือในหลักการการพัฒนาผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งใหม่และวิทยฐานะใหม่ บางวิทยฐานะ ตามมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้มีการกำหนดให้มีการอบรมเข้ม 180 ชั่วโมง หรือ 60 ชั่วโมงตามหลักสูตรที่ ก.ค.ศ. กำหนด ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการปรับปรุงวิธีการที่จะพัฒนาการเข้าสู่ตำแหน่งและวิทยฐานะให้มีความยืดหยุ่น และมีทางเลือกในการพัฒนาที่กว้างขึ้น อาทิ การพัฒนาตามระบบพีแอลซี (PLC) การพัฒนาตามหลักสูตร คุรุพัฒนา การพัฒนาด้วยระบบพี่เลี้ยง การฝึกงานเพื่อเสริมประสบการณ์ และการอบรมเข้มที่อาจจะเป็นหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)รับรอง โดยมีเงื่อนไขว่าการพัฒนาดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามสมรรถนะที่ต้องการ แต่ไม่ใช่เป็นแค่เพียงการไปนั่งอบรมอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่จะไปอบรมที่สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาเป็นหลัก ที่ประชุมได้มอบให้ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ไปจัดทำรายละเอียดและนำเสนอให้บอร์ด ก.ค.ศ.เห็นชอบต่อไป

        ปลัด ศธ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้หารือกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความประสงค์ที่จะสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งว่างอยู่ 209 ตำแหน่ง จึงเสนอขอให้มีกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งรองผอ.เขตพื้นที่การศึกษา อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่าขณะนี้ ศธ.อยู่ระหว่างการเข้าสู่โครงสร้างใหม่ จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 ที่กำหนดให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) และกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานไว้ ทำให้อำนาจหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบางส่วนไปเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ศธจ. ประกอบกับ สพฐ.เองยังมีตำแหน่งรอง ผอ.เขตพื้นที่ฯที่มีเงื่อนไขอยู่อีกว่า 300 คน

      ดังนั้น จึงมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปวิเคราะห์ ภาระงานและกรอบอัตรากำลังของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใหม่ เพื่อให้ทราบว่าสำนักงานเขตพื้นที่ฯควรมีรอง ผอ.เขตพื้นที่ฯจำนวนกี่ตำแหน่ง หลังจากนั้นให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเกลี่ยอัตรากำลังรอง ผอ.เขตพื้นที่ฯที่มีเงื่อนไขให้ดำรงตำแหน่งที่ว่างก่อน เพื่อเป็นการเยี่ยวยาและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการที่มีมานาน.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ