Lifestyle

3ปี3รัฐมนตรีบริหารศธ.ด้อยลง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครุศาสตร์จุฬาฯ เผยผลสำรวจ3 ปี3 รมว.ศธ.โครงสร้างพื้นฐานดีขึ้นแต่พฤติกรรมนร./นศ. –ด้านจริยธรรม คุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านวิชาการบริหารงานศธ.ปฏิรูปการศึกษาด้อยลง

 

     คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เผยผลการสำรวจ Education Watch “3 ปี 3 รัฐมนตรี เหลียวหลังแลหน้า ปฏิรูปการศึกษาไทยไปถึงไหนแล้ว” โดยมี รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า คณะครุศาสตร์ ได้ติดตามสถานการณ์การศึกษา จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,177 คน  อายุเฉลี่ยประมาณ 50-60  ปี โดยสำรวจถึงการรับรู้การเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษา 4 มิติ 

     ดังนี้ มิติที่ 1 ด้านห้องเรียนและนักเรียน/นักศึกษา พบว่า ร้อยละ 51 รับรู้ว่า โครงสร้างพื้นฐาน  สภาพห้องเรียน อุปกรณ์การศึกษาและสิ่งอำนวยความสะดวกดีขึ้น แต่ในส่วนของพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน/นักศึกษา พบว่า ร้อยละ  66 เห็นว่า พฤติกรรมการเรียนของนักเรียน/นักศึกษาด้อยลง ร้อยละ 16 เห็นว่าดีขึ้น 

      ด้านจริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 64 เห็นว่าด้อยลง ร้อยละ 16 เห็นว่าดีขึ้น และความสามารถด้านวิชาการของนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 46 ด้อยลง และร้อยละ 32 ดีขึ้น 

      มิติที่ 2 ด้านครู พบว่า คุณภาพการสอนของครู ร้อยละ 42 ดีขึ้น และร้อยละ 38 รับรู้ว่าเหมือนเดิม ส่วนพฤติกรรมการทำงานของครู ร้อยละ 37 ดีขึ้น และร้อยละ 37 รับรู้ว่าเหมือนเดิม และคุณภาพชีวิตครู ร้อยละ  35 รับรู้ว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 32 ดีขึ้น 

      มิติที่ 3 ด้านผู้บริหารสถานศึกษา พบว่า พฤติกรรมการบริหาร ร้อยละ 40 รับรู้ว่าเหมือนเดิมและร้อยละ 33 ดีขึ้น ส่วนคุณภาพการบริหารโรงเรียน  ร้อยละ 37 มีคุณภาพเท่าเดิม และร้อยละ 37 ดีขึ้น 

       มิติที่ 4 การจัดการเชิงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พบว่าการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 45 รับรู้ว่าเหมือนเดิม ร้อยละ 24 ดีขึ้น  คุณภาพการบริหารงา    ของศธ.ร้อยละ 46 ด้อยลง และร้อยละ 33 เท่าเดิม การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารศธ. ร้อยละ 47 ด้อยลง  และร้อยละ 22 ดีขึ้น  ผลงานการปฏิรูปการศึกษาโดยรวม ร้อยละ 44 ด้อยลง และร้อยละ 19 ดีขึ้น  บรรยากาศความร่วมมือในการแสดงความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ร้อยละ 36  รับรู้ว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 32 ดีขึ้น

     กลไกของหน่วยงานกำหนดทิศทางและกฏหมาย ร้อยละ 35 ด้อยลงและร้อยละ 24 ดีขึ้น การบริหารตามนโยบายของ 3 รัฐมนตรี ร้อยละ 44 ด้อยลง และร้อยละ21 ดีขึ้น ความยั่งยืนและความต่อเนื่องของการปฏิรูปการศึกษา ร้อยละ 45 รับรู้ด้อยลง และร้อยละ18 รับรู้ดีขึ้น 

    สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ลำดับแรก การเปลี่ยนแปลงตัวนักเรียน ได้แก่ พฤติกรรมการเรียนของนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 75 จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ร้อยละ 71 และความสามารถทางวิชาการ ร้อยละ 67 ลำดับสอง การเปลี่ยนแปลงการแก้ไขทุจริตคอรัปชั่นในวงการศึกษา ร้อยละ 71 การเร่งให้เกิดผลงานการปฏิรูปการศึกษาโดยรวม ร้อยละ 70

      ปรับคุณภาพการบริหารงานระดับกระทรวง ร้อยละ 66 ความยั่งยืนของการปฏิรูปการศึกษา ร้อยละ 64 กลไกของหน่วยงานกำหนดทิศทางและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น สปท. สนช.ร้อยละ 52 ลำดับที่ 3 ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านครู คุณภาพชีวิตครู ร้อยละ 56 พฤติกรรมการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษา ร้อยละ 56 คุณภาพการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาร้อยละ 56 พฤติกรรมการทำงานของครู ร้อยละ 54 และคุณภาพการสอนของครู ร้อยละ 52 

      คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงต้อง ปฏิรูปที่วิธีสอนของครูและวิธีเรียนรู้ของผู้เรียนในห้องเรียนให้ได้ ต้องอำนวยให้ครูได้ทำหน้าที่จัดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ มีเวลาที่จะเอาใจใส่ คิดค้นวิธีพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล เอื้ออำนวยให้ครูทุกคนมีกลยุทธ์ วิธีการไปสู่เป้าหมายที่มีประสิทธิภาพไม่เหมือนกัน  ไม่ใช่ one size fit all เปลี่ยนวิธีบริหารและธรรมาภิบาลของผู้บริหารศึกษาให้ได้ และกระจายอำนาจมาที่สถานศึกษาทั้งเรื่องวิชาการ บุคลากร งบประมาณ และวิธีบริหารจัดการ

        รวมถึงควรปรับลดเนื้อหาในหลักสูตร เน้นการปฏิบัติให้ทำได้จริง  เพราะขณะนี้ นักเรียนไทยมีชั่วโมงเรียนสูงกว่าประเทศอื่นๆ จนมีคำกล่าวที่ว่า ยิ่งเรียนมากยิ่งโง่ ซึ่งนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ไม่ได้ทำให้เด็กเรียนลดลง เพราะการเรียนก็ยังคงมากอยู่เช่นเดียวกับการสอบที่มากเกินไป ควรเปิดโอกาสให้แต่ละโรงเรียน มีตัวชี้วัดความสำเร็จที่แตกต่างกัน และไม่ควรนำโอเน็ต และ PISA  เป็นเครื่องวัดมาตรฐานการศึกษาสำหรับทุกคน แต่ควรกำหนดเป้าหมายการศึกษาสำหรับแต่ละกลุ่มประชากร

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ