Lifestyle

ไปดูเด็กเนชั่นยูทำงานพิเศษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แชร์ประสบการณ์ชีวิตการทำงานพาร์ทไทม์ โบว์ อริสา สุภัคศิระกล นศ.ม.เนชั่นทั้งการทำงานพาร์ทไทม์แบบออกบูธ จัดงานอีเว้นท์ รวมไปถึงเป็นพนักงานรายชั่วโมงร้านขนมชื่อดัง

        เพราะคุณพ่อสอนตั้งแต่เด็กๆว่าถ้าอยากได้อะไรก็ลองเก็บเงินค่าขนมซื้อของที่อยากได้เอง จนทำให้โตมามีนิสัยที่ชอบออมเงินซื้อของที่อยากได้เองโดยไม่ขอพ่อแม่

     จุดเริ่มต้นจากการที่อยากเก็บเงินไว้ใช้ซื้อของที่อยากได้ และออกเที่ยว ตัวของโบว์ เองถูกคุณพ่อสอนตั้งแต่เด็กๆว่าถ้าอยากได้อะไรก็ลองเก็บเงินค่าขนมซื้อของที่อยากได้เอง จนทำให้โตมามีนิสัยที่ชอบออมเงินซื้อของที่อยากได้เองโดยไม่ขอพ่อแม่ แต่ก็อาจมีบ้างที่พ่อแม่จะช่วยออกเงินให้ส่วนหนึ่ง

ไปดูเด็กเนชั่นยูทำงานพิเศษ

  โบว์ อริสา สุภัคศิระกล 

     “ตอนเด็กๆช่วงประมาณ ป.2 อยากได้ซีดีการ์ตูนเรื่องแฮมทาโร่ที่ตอนนั้นมันเป็นแบบboxset แถมตุ๊กตา กล่องละประมาณ 500-600 บาทถ้าจำไม่ผิด บอกพ่ออยากได้ พ่อเลยบอกก็ลองเก็บเงินค่าขนมแต่ละวันดูสิ เลยค่อยๆเก็บ จนครบเดือนเก็บเงินครบพ่อก็พาไปซื้อ ทำแบบนี้ได้ประมาณปีกว่าๆก็เลิกซื้อไป แต่ก็ติดนิสัยออมเงินมาทุกวันนี้” อริสากล่าว

ไปดูเด็กเนชั่นยูทำงานพิเศษ

        จากที่เก็บเงินเพื่อซื้อซีดีการ์ตูนที่อยากได้ ทำให้ทุกวันนี้มีนิสัยอดออมเงินส่วนหนึ่งไว้ซื้อของที่อยากได้ หรือไว้ใช้ยามฉุกเฉิน พอโตขึ้นของที่อยากได้ก็มีมากขึ้น ทำให้คิดว่าทำอย่างไรถึงจะได้เงินเพิ่มมากขึ้น โชคดีที่พ่อแม่ของโบว์ไม่ได้ปิดกั้นการออกไปทำงานหาเงิน เริ่มจากตอนเรียนสมัยมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียน สายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตอนนั้นหางานได้เขาก็รับแต่เด็กอายุ 18 ปีขึ้นไป ตามร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า เลยเปลี่ยนเป็นหางานพาร์ทไทม์งานหนังสือ

       แน่นอนว่าแต่ละบริษัทก็รับแต่อายุ17-18 ปีขึ้นไป โชคดีที่ไปเจอบูธหนึ่งเป็นบริษัทเล็กๆ เขาก็ให้โอกาสทำเป็นช่วงก่อนปิดเทอมก่อนขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พอดี เลยกลายเป็นงานแรกที่ได้ทำงาน พาร์ทไทม์ ทำเป็นระยะเวลา 9 วัน รายได้ต่อวันตกวันละ 400 บาท ก็ได้เก็บเงินส่วนหนึ่งไว้อีกส่วนหนึ่งก็ใช้ซื้อของที่อยากได้เต็มที่

ไปดูเด็กเนชั่นยูทำงานพิเศษ                            โบว์ อริสา สุภัคศิระกล

     ต่อมาพอขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อนของอาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่น ที่สนิทกันหาเด็กที่คอสเพลย์ เป็นงานอดิเรกมาช่วยยืนหน้าบูธแจกใบปลิวสินค้า pocket wifi ประเทศญี่ปุ่น เลยได้งานนี้มา เป็นงานที่แจกใบปลิวสินค้าอยู่หน้าบูธ แต่งตัวคอสเพลย์เป็นตัวละคนการ์ตูนญี่ปุ่นในชุดที่ออกแนวญี่ปุ่น รายได้ต่อวันสูงถึง 4 หลักเพราะต้องแต่งตัวคอสเพลย์

     “การแต่งตัวคอสเพลย์ตอนนั้นเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว พ่อแม่เราก็ไม่ได้ว่าอะไรที่เราจะเอาเงินไปลงกับของพวกนี้เพราะเราหาเงินมาเอง บางทีแม่เราก็ช่วยเราตัดชุดให้ด้วยซ้ำ และได้งานที่แต่งตัวคอสเพลย์มายืนหน้าบูธแจกใบปลิว มันเหมือนการที่เราออกไปทำงานอดิเรกและได้เงินขึ้นมาด้วย” อริสากล่าว

ไปดูเด็กเนชั่นยูทำงานพิเศษ

       ถึงแม้ว่าการที่แต่งตัวคอสเพลย์ที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะมองเป็นเรื่องไร้สาระก็ตาม แต่โบว์ก็ไม่ใส่ใจคำพูดของคนอื่นๆ เพราะไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เป็นงานอดิเรกและสามารถหาเงินจากตรงส่วนนี้ได้เอง อีกทั้งยังมีพ่อแม่ที่คอยสนับสนุนงานอดิเรกที่ชอบอยู่ห่างๆ

       นอกจากงานออกบูธที่ต้องแต่งตัวคอสเพลย์หรือมาสคอตออกงานแล้ว โบว์ยังรับงานอื่นๆอีกด้วย อย่างงาน Thailand mobile expo ที่จัดขึ้นประจำเป็นทุกปี ก็ไปเป็นพนักงานเดินบิลของบริษัทหนึ่ง รายได้ต่อวันประมาณ 650-900 บาท แล้วแต่ตามตกลงกับบริษัทที่ได้ทำ แต่ละที่ก็ให้เงินในเรทที่ต่างกันออกไป แต่ละครั้งที่ไปทำก็เปลี่ยนบริษัทไปเรื่อยๆเพื่อหาประสบการณ์และเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ รวมไปถึงการเก็บคอนเนคชั่นของแต่ละบริษัทไว้

ไปดูเด็กเนชั่นยูทำงานพิเศษ

       “การมีคอนเนคชั่นเยอะๆมีประโยชน์มากนะคะ นอกจากทำให้รู้จักคนจากหลายสายงานแล้ว ช่วงหลังๆมานี้ทำให้ไม่ต้องไปคอยสมัครแล้วมาลุ้นว่าเราจะได้ทำงานนี้ไหม บางที่เขาก็จะติดต่อเด็กที่เคยทำกับบริษัทตัวเองมาเองเลย” อริสากล่าว

       พอโตขึ้นมาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่นค่าหอพัก โบว์ ไม่อยากขอเงินพ่อแม่มาจ่าย จึงทำให้เริ่มหางานพาร์ทไทม์ที่เป็นหลักแหล่ง ได้ไปสมัครกับร้านดังกิ้นโดนัทสาขาหนึ่ง และได้ทำงานรายได้คิดเป็นรายชั่วโมงที่ทำงาน วันหยุดราชการ ก็ได้ค่าแรงเป็นสองเท่า ยิ่งทำงานชั่วโมงเยอะ ก็ได้เงินค่าตอบแทนเยอะ และสามารถทำงานตอนหลังเลิกเรียนได้ทำให้ไม่ได้กระทบกับเวลาเรียน

ไปดูเด็กเนชั่นยูทำงานพิเศษ

      การทำงานที่ ดังกิ้นโดนัท ทำให้ได้ประสบการณ์ที่ต่างออกไปจากการทำงานออกบูธแบบพาร์ทไทม์ ตรงที่มีการแสกนนิ้วเข้า-ออกงานหากลงเวลาไว้ว่าจะเข้าเวลาไหนในวันนั้นและเข้าสายก็จะมีการหักเงินไปตามระเบียบ การรับผิดชอบสินค้าและการบริการ รับผิดชอบต่อสต็อคสินค้าให้ดี มีการบันทึกรายการสินค้าในระบบทุกๆวัน หากสินค้าหายไปในระบบพนักงานในร้านก็จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน

       ถึงทำงานเป็นพนักงานรายชั่วโมงแต่ก็รับเงินค่าตอบแทนเป็นรายเดือน ส่วนการรับเงินจากการไปออกบูธก็ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ทำ บางแห่งจ่ายเงินสดให้ทันทีหลังจบงานวันสุดท้าย หรือแบบโอนเงินเข้าบัญชีหลังจบงานไปแล้ว 1 อาทิตย์ และยังมีแบบที่ต้องไปรับเงินเองที่บริษัทหลังจากจบงานไปแล้ว 15-30 วัน

        “นอกจากจะรับงานพาร์ทไทม์แล้วงานเสริมอื่นๆที่ทำก็มีเปิดร้านทำพวกอุปกรณ์ทำหรับคอสเพลย์ด้วยนะ ไม่มีหน้าร้านแต่เปิดขายออนไลน์ในfacebook นอกจากทำพวกอุปกรณ์เสริมแล้วก็รับทำสินค้า D.I.Y อย่างอื่นด้วยแล้วแต่ลูกค้าสั่ง” อริสากล่าว

ไปดูเด็กเนชั่นยูทำงานพิเศษ

         นอกจากงานพาร์ทไทม์ที่ได้เงินตอบแทนแล้ว ยังมีงานพาร์ทไทม์อีกอย่างที่โบว์ทำด้วย แต่เป็นงานพาร์ทไทม์ที่ไม่ได้เงินเป็นค่าตอบแทน กลับได้ประสบการณ์ใหม่ๆเป็นการตอบแทนแทน ก็คืองานจิตอาสา จะใช้เวลาว่างจากการทำงานหรือการเรียน ออกไปทำจิตอาสา

ไปดูเด็กเนชั่นยูทำงานพิเศษ

       ตัวอย่างเช่น กิจกรรมสร้างความสุขกับผู้ป่วยเด็ก ที่โรงพยาบาลเด็ก จากมูลนิธิ โรนัลด์ แมคโดนัลด์ เฮาส์ ที่จะทำกิจกรรมเช่นร้องเพลง ระบายสี กับเด็กๆที่มาหาคุณหมอระหว่างรอตรวจ เพื่อคลายความกังวลให้เด็กๆเวลาเข้าพบแพทย์

         การทำงานไม่ว่าจะที่ไหนหรือรูปแบบไหน เมื่อเป็นพนักงานแล้วก็ต้องสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงต้องบอกโปรโมชั่นของแต่ละวันให้ชัดเจนแก่ลูกค้า สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน มีสติในการทำงานทุกครั้งและไม่ประมาทเลินเล่อ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ