Lifestyle

อีก 3-4 ปี ระบบสาธารณสุขไทยพังพินาศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อาจารย์แพทย์"หวั่นระบบสาธารณสุขไทย ไม่แก้ไขอีก 3-4 ปีพังพินาศ จี้ปรับปรุงระบบบริหารจัดการงบฯของสปสช.

       เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2560 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาระบบสาธารณสุข ในอีก 3-4 ปีข้างหน้าระบบจะพังพินาศความหวังที่จะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ก็เกิดไม่ได้ เรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคไม่ประสบความสำเร็จ คนยังป่วยไม่มากเมื่อไปพบแพทย์ต้องรอนาน ก็เกิดไม่อยากไปพบแพทย์อีก จะกลับมาเมื่อป่วยหนัก ทำให้สภาพแออัด เต็มไปด้วยผู้ป่วยหนัก เงินไม่เพียงพอ เมื่อไม่พอใจผลการรักษาก็นำมาสู่วงจรการฟ้องบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้บุคลากรลาออกจากระบบราชการ 

       ส่วนหนึ่งของปัญหาเนื่องจากในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมามีการตั้งองค์กร ส.จำนวนมาก แต่ก็เห็นแล้วว่าไม่ประสบความสำเร็จ และมีปัญหาเกิดขึ้น อย่างเช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ที่บริหารจัดการระบบสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง มีการกำหนดกลุ่มโรค ระบุโรคนี้ต้องตรวจอะไรบ้าง รักษาอย่างไร ด้วยเงินเท่าไหร่ หากให้การรักษาไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ก็ไม่สามารถเบิกเงินจากสปสช.ได้ เพราะถือว่าไม่มีข้อบ่งชี้ในการรักษา สมมติ ขอเบิกค่ารักษาไป 100 บาท อาจได้เงินคืนมาเพียง 50 บาท ในวงการเรียกว่าชักดาบ

       "ปัจจุบันในหลายๆ โรงพยาบาลจำเป็นต้องจ้างกลุ่มคนมาทำรายงานเฉพาะเพื่อให้เบิกเงินค่ารักษาจาก สปสช.ได้ ซึ่งอาจจะทำให้ในสถิติโรคแห่งชาติผิดเพี้ยนไป การบริหารของสปสช.แบบนี้เป็นระบบปลายปิด ในขณะที่โรงพยาบาลต้องให้การรักษาด้วยแนวทางที่ดี และเหมาะสมกับคนไข้ ไม่ใช่การรักษาเหมือนๆ กันแบบเหมาโหล" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
         ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยโดยเฉพาะในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีสปสช. ทำหน้าที่บริหารจัดการ ซึ่งทราบว่าขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ส่วนตัวมองว่าในการแก้ปัญหาอาจไม่จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากปัญหาหลักที่ผ่านมาอยู่ที่การบริหารจัดการของสปสช. ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ  เช่น ตัวเลขจากนักวิจัยท่านหนึ่งพบว่า 2 ปีก่อนโรงพยาบาลขาดทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันสปสช.มีการใช้เงินที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยราวๆ 1 หมื่นล้านบาทเช่นเดียวกัน รวมถึงงบบริหารจัดการของสปสช.แม้จะบอกว่าใช้เพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของงบที่ได้รับ แต่ก็เป็นเงินราว 1.6 พันล้านบาท ดังนั้นในการบริหารจัดการงบประมาณควรให้ความสำคัญกับคนไข้ที่นอนเตียงเป็นอันดับแรก หากงบในส่วนนี้ยังไม่พอก็ไม่ควรแยกงบประมาณเป็นกองทุนย่อยต่างๆ  

       “สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาตอนนี้ต้องมองว่าจะเพิ่มงบประมาณให้ร้อยละ 4 ทุกปี แต่มีการคำนวณโดยนักวิชาการพบว่าถ้าให้ในอัตรานี้อีก 10 ปี งบสำหรับประกันสุขภาพส่วนนี้จะคิดเป็นร้อยละ 25 ของจีดีพี ถามว่าถึงเวลานั้นใครพังพินาศ ประเทศหรือเปล่า หรือจะเลือกทางออกด้วยการให้คนรวยต้องจ่ายค่ารักษาเองอย่างสมเหตุผล หรือจะเลือกปรับปรุงการบริหารจัดการของสปสช.ใหม่ในหลายๆ เรื่อง” ศ.นพ.อภิวัฒน์กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ