Lifestyle

วังหินโมเดล เกษตรกรยิ้มได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การบูรณาการร่วมกันของคนในชุมชนโดยประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเพื่อการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ ให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน ลดปัญหาหนี้สิน

          วังหินโมเดล  ชุมชนขับเคลื่อนการพัฒนา รวมกลุ่มแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำภายใต้ความร่วมมือภายในชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ปรับวิถีเกษตรกรรม ลดพื้นที่ทำนา หันมาเน้นอาชีพเสริมเลี้ยงโค กระบือ ตามวัฒนธรรมดั้งเดิม เพิ่มรายได้สร้างชุมชนเข้มแข็งบนพื้นฐานของความสามัคคีชูเป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบของโคราช เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชุมชนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          นายณรงค์ วุ่นซิ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า วังหินโมเดล ต.วังหิน อ.โนนแดง จ.นครราชสีมา ถือเป็นต้นแบบการทำเกษตรผสมผสาน เอาชนะภัยแล้งด้วยพลังความร่วมมือของชาวบ้านในการฟื้นฟูและขยายเครือข่ายกลุ่มผู้เลี้ยงโค กระบือจากทุนเดิมที่มีอยู่ในชุมชนควบคู่กับการทำนา พัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และนำไปสู่เศรษฐกิจชุมชนพึ่งพาตนเอง

วังหินโมเดล เกษตรกรยิ้มได้

          โดยการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นพบว่า ตำบลวังหิน อำเภอโนนแดง ซึ่งมีทั้งหมด 13 หมู่บ้าน พื้นที่รวม 20,000 ไร่ เป็นพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทานประสบปัญหาแล้งซ้ำซากหรือน้ำท่วม เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมาผลผลิตเสียหายเกือบทั้งหมด เป็นพื้นที่เสี่ยง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพ ทำนา เลี้ยงสัตว์ อาชีพเสริมคือทอเสื่อ ทอผ้าไหมและมีการเลี้ยงโค กระบือเพิ่มรายได้ แต่เป็นการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ ทำให้ไม่ได้คุณภาพ ขายไม่ได้ราคาเท่าที่ควร จึงอยากเปลี่ยนแนวทางทำเกษตร

          นายยศธร บูรณะบัญญัติ นายกเทศบาลตำบลวังหิน เล่าว่า โครงการทั้งหมดที่เกิดขึ้น จากการที่ชาวบ้านมีอาชีพปลูกข้าวแต่เมื่อปีที่ผ่านมาข้าวราคาตกเหลือข้าวเปลือกกิโลละ 5 บาท ชาวบ้านรวมกลุ่มพูดคุยทำอย่างไรให้ชีวิตอยู่รอด จึงนำอาชีพที่ทำอยู่แล้วคือ การเลี้ยงโค กระบือ แต่มีปัญหาคืออาหารไม่เพียงพอต่อสัตว์เลี้ยง และขาดองค์ความรู้ในการเลี้ยงโค กระบือ ปศุสัตว์จังหวัดจึงส่งเสริมให้ปลูกหญ้าเนเปียร์ โดยเริ่มต้นปลูกในพื้นที่ 5 ไร่ และขยายพันธุ์ไปสู่พื้นที่ของชาวบ้าน

วังหินโมเดล เกษตรกรยิ้มได้

นายยศธร บูรณะบัญญัติ นายกเทศบาลตำบลวังหิน

             ได้ลงพื้นที่ไปพบปะพูดคุยรับฟังปัญหาของชุมชนอย่างค่อเนื่อง ซึ่งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ช่วยจุดประกายและให้นโยบายเรื่องการเลี้ยงโค กระบือแบบครบวงจร โดยส่งเสริมให้แบ่งพื้นที่ทำนามาปลูกหญ้าเนเปียร์ใช้เลี้ยงโค กระบือ ลดความเสี่งการปลูกข้าวไม่ได้ผลผลิต

       ซึ่งคุณสมบัติของหญ้าเนเปียร์ คือโตเร็ว รสหวาน สามารถเป็นอาหารสัตว์ได้หลากหลาย กระตุ้นชาวบ้านให้มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ว่า การเปลี่นแนวทางลดพื้นที่ทำนามาปลูกหญ้า ช่วยให้ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกัน ลดต้นทุน ไม้ต้องเดินทางหาหญ้าต่างถิ่น เปลี่ยนแนวคิดช่วยให้เห็นทางเลือการเพิ่มรายได้ด้านเลี้ยงสัตว์และปลูกหญ้า

          จากการที่ชาวบ้านเล็งเห็นความสำคัญจากที่ผู้นำชุมชน เพื่อนบ้านที่ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่าง และเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตร หันมาขยายพันธุ์ปลูกหญ้าเนเปียร์มากขึ้น ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและแปลงส่วนรวมในพื้นที่สาธารณะเพิ่มปริมาณการเลี้ยงโค กระบือในพื้นที่

     โดยกรรมวิธีการเลี้ยงแบบประณีตในคอก แทนการเลี้ยงแบบธรรมชาติมีปศุสัตว์อำเภอให้การอบรมทักษะด้านการดูแลรักษา การสุขาภิบาลสัตว์ การขยายพันธุ์ และฝึกให้เป็น “ปศุสัตว์อาสา” ประจำหมู่บ้าน จากการปฏิบัติจริง ทำการอบรมทุกเดือนๆละ 1 ครั้ง ทำให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

วังหินโมเดล เกษตรกรยิ้มได้

          ตำบลวังหิน เดิมเมื่อปี 2550 เกษตรกรได้รับสนับสนุนโค กระบือ จากธนาคารโค กระบือ จำนวน 26 ราย ปัจุบันมีการขยายสมาชิกเพิ่มเป็น 101 ราย มีโคจำนวน 177 ตัว กระบือ 45 ตัว นอกจากนี้ยังมีรายชื่อที่ซื้อมาเลี้ยงเองโดยมีโค 1.112 ตัว กระบือ 536 ตัว มีสมาชิกในชุมชนที่เป็นผู้เลี้ยง 500 ครัวเรือนและยังมีสมาชิกที่ลงทะเบียนขอสนับสนุนพ่อ แม่พันธุ์จากธนาคารโค กระบือเพิ่มอีก 150 ราย

     โดยมีกลุ่มผู้เลี้ยงโค กระบือ อยู่ 3กลุ่มหลักคือ 1. กลุ่มธนาคารโค กระบือเดิมโดยเทศบาลดูแล 2.กลุ่มผู้เลี้ยงโคบ้านหนองขี้เหล็ก 3.กลู่มผู้เลี้ยงกระบือ ทั้งหมดนี้อยู่ในการควบคุมของเทศบาลตำบลเป็นผู้จัดเก็บข้อมูลพร้อมทั้งติดตามให้ความรู้สมาชิก

      รวมถึงการฟื้นฟูการรวมกลุ่มผู้เลี้ยงโค กระบือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เกษตรกรช่วยเหลือกัน พร้อมเรียนรู้ในการบริหารจัดการกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง

วังหินโมเดล เกษตรกรยิ้มได้

         ในอนาคตมีเป้าหมายคือ การเพิ่มจำนวนผู้เลี้ยงโคให้มากขึ้น 10% ต่อปี จากเดิมที่ทางจังหวัดกำหนดเป้าหมายไว้ 50% ต่อปี ปัจจุบันเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมถึงการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อจำหน่ายให้ได้ราคาที่สูงขึ้น และยังมีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากโค กระบือ เช่น ปุ๋ยจากมูลสัตว์ นำมาใช้ในการปลูกผัก และการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ เกษตรกรที่เลี้ยงโค กระบือ รู้จักเปรียบเทียบ เช่น ทำนา 3 ไร่ ได้ข้าว 1 ตัน ขายได้เงินไม่เท่ากับขายโค 1 ตัว หากลดพื้นที่นามาปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้หลายตัวจะได้เงินมากกว่า ในปัจจุบันจ.นครราชสีมาได้นำ “วังหินโมเดล” มาใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาขยายผลไปอีก 8 อำเภอ

วังหินโมเดล เกษตรกรยิ้มได้

           นอกจากตำบลวังหิน อำเภอโนนแดงแล้ว ยังมีตัวแทนอื่นๆอีก 4 ชุมชนที่ได้พัฒนาชุมชนตามพระราชดำริ คือ ชุมชนบ้านพุดชา ต.หนองพลวง อ.จักราช เป็นชุมชนที่จัดการเรื่องของขยะในครัวเรือน โดยนายสมชาย วอยพิมาย สมาชิกองค์การบริหารส่วนต.หนองพลวง เล่าว่า อดีตชุมชนนี้มีปัญหาเรื่องชุมชนแออัดและเต็มไปด้วยขยะมูลฝอย จากความร่วมมือของคนในชุมชนที่เอาจริงในการจัดการกับขยะ มีการไปศึกษาดูงาน จุดประกายให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาขยะ

     ตั้งแต่บริเวณบ้านของตนเองให้สะอาด มีการคัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างชัดเจน และการใช้ประโยชน์จากขยะอย่างเต็มที่ โดยการนำขยะเปียกมาทำปุ๋ยชีวภาพรดน้ำพืชผักสวนครัว ขยะรีไซเคิลจำหน่ายสร้างรายได้เดือนละ 3,000-4,000 บาท ยังได้รับคัดเลือกให้เป็น “หมู่บ้านน่าอยู่ ชุมชนน่ามอง” ระดับตำบลอีกด้วย

          ชุมชนที่ 2 บ้านตะครองงาม ต.ลุงเขว้า อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา ได้รับรางวัลชนะเลิศ “บ้านสวย เมืองสุข” ระดับจังหวัด ชุมชนที่ 3 บ้านเตย ต.กระเบื้องใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เป็นชุมชนที่จัดการตนเอง เพราะชุมชนนี้มีปัญหารุมเร้ามากมายทั้งปัญหาดินเค็ม ทำนาไม่ได้ผล เป็นหนี้สิน โดยคนในชุมชนมีตัวเลขหนี้สินเฉพาะจากการใช้ปุ๋ยเคมีสูงถึงปีละ 4 ล้านบาท จึงหาแนวทางลดการใช้ปุ๋ยเคมีหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีที่คิดกันเอง จนตอนนี้มีการจำหน่ายไปยังหลายที

วังหินโมเดล เกษตรกรยิ้มได้

          และชุมชนสุดท้าย เทศบาลตำบลบัลลังก์ ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา มีปัญหาจากภัยแล้งซ้ำซาก ดินและน้ำเค็ม ทำการเกษตรไม่ได้ผล จึงมีการคลี่คลายปัญหาด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงสร้างพื้นฐาน และการประกอบอาชีพ โดยการจัดทำ “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้น ให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ของตน การดำเนินงานดังกล่าวเพื่อบูรณาการร่วมกันในการประยุกต์ใช้แนวพระราดำริเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ