Lifestyle

สธ.แจงพยาบาลอดบรรจุกว่า 1 หมื่นตำแหน่ง(ฉบับเต็ม)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สธ.ขอตั้งคกก.ร่วมคปร.-ก.พ.ทำความเข้าใจเชิงลึก สางปัญหาอัตราพยาบาล ย้ำไม่พอจริงๆ เร่งเคลียร์ตำแหน่งว่างภายในกว่า 1 หมื่นให้จบ ก่อนชงขอใหม่

        กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)แทบลุกเป็นไฟ หลังมีการเยแพร่มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งระบุว่า ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.)นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น  ซึ่งเป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.)  ต่อมาเกิดกระแสในกลุ่มพยาบาลสังกัดสธ. ระบุว่า “ไม่บรรจุลาออกยกกระทรวง 30 กันยายน 2560”

          ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 11 พฤษภาคม ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.) เรียกหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องเข้าหารือเป็นการเฉพาะ อาทิ  ที่ปรึกษารมว.สธ.  ปลัดสธ. รองปลัดสธ. และผู้แทนสภาการพยาบาล เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้ารับฟัง  โดยศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล  กล่าวภายหลังการหารือว่า  ตำแหน่งที่สธ.ขอให้กับพยาบาลนี้ไม่ได้ขอให้มีการบรรจุในปีเดียว แต่เป็นการขอในระยะเวลา 3 ปี 

     "นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในเรื่องนี้มาก หลังจากครม.มีมติ ท่านก็ส่งโน้ตให้กับตนทันที และบอกให้ไปบริหารหมุนตำแหน่งว่างภายในของกระทรวงก่อนแล้ว ถ้ายังมีปัญหาอยู่ท้ายที่สุดแล้วก็สามารถมาคุยกันได้ใหม่  ตนได้เรียนนายกฯไปว่า สธ.จะมาปรับระบบการบริหารอัตรากำลังให้ดีที่สุดใช้อัตราว่างให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ถ้ามีปัญหาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนก็จะนำเรียนนายกฯอีกครั้งหนึ่ง"ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว   

          ศ.คลินิก เกียริตคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวอีกว่า สธ.มีเจ้าหน้าที่ทำงานทั้งสิ้นประมาณ 4 แสนกว่าคน  มีอัตราว่างประมาณ 1 หมื่น โดยอาจดูเหมือนมาก แต่คิดเป็นเพียง 5 %ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ซึ่งคปร.อาจจะเห็นจากส่วนนี้จึงมองว่าสธ.น่าจะไปบริหารจัดการอัตราว่างให้เหลือน้อยที่สุด เมื่อหารือภายในแล้วคาดว่าสธ.จะสามารถลดอัตราว่างลงได้และเหลือประมาณ 2-3 %  แต่ไม่เฉพาะของพยาบาลแต่เป็นของเจ้าหน้าที่สธ.ทั้งหมด

      รมว.สธ. กล่าวด้วยว่า สรุปคืออย่างไรก็ตาม สธ.ยังขาดอัตรากำลังพยาบาลแน่ๆ การประสานงานกับคปร.และก.พ.คงต้องมความใกล้ชิดมากว่านี้ จึงจะปรึกษาดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขอตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง 3 หน่วยงาน โดยเอาหน่วยงานกลาง อย่างเช่น มหาวิทยาลัยมาศึกษาในเรื่องอัตรากำลังที่เหมาะสมและการที่จะบรรจุพยาบาลทั้งในส่วนของข้าราชการและพนักงานราชการ ซึ่งสธ.เป็นกระทรวงให้บริการ เพราะฉะนั้น อัตรากำลังของทุกวิชาชีพต้องมีความเหมาะสม  

            “ตำแหน่งที่สธ.มีอยู่ตอนนี้ก็จะพยายามบรรจุวิชาชีพต่างๆรวมทั้งพยาบาลให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เรื่องนี้นายกฯเห็นความสำคัญและเป็นห่วงมาก ซึ่งการขอตั้งคณะกรรมการร่วมกับคปร.และก.พ.นั้น จะเป็นการทำความเข้าใจเชิงลึกกันมากขึ้น สธ.ก็จะชี้แจงถึงความจำเป็นและความขาดแคลนอัตรากำลังจริงๆ รวมถึง การพิจารณาในเรื่องอื่นๆทั้งการก้าวหน้าในอาชีพและสวัสดิการต่างๆด้วย  เพื่อหาทางออกร่วมกัน  ไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังจากนั้นเมื่อทุกหน่วยงานเข้าใจตรงกันแล้วจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง พยาบาลต้องอยู่คู่โรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าระบบบริหารประเทศและงบประมาณมีแค่ไหน อย่างไรด้วย ขออย่าเพิ่งเสียกำลังใจ ”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว

            ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดสธ. กล่าวว่า  สำหรับวิชาชีพพยาบาล ในปี 2559 มีการบรรจุตำแหน่งข้าราชการไปแล้ว 1,700 คน ส่วนในปี 2560 จะมีอัตราพยาบาลว่างได้บรรจุเป็นข้าราชการอีก 2,621 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้มีบุคคลได้รับการจัดสรรเข้าบรรจุแล้ว 1,200 ตำแหน่ง โดยกระทรวงฯได้จัดสรรให้เขตตรวจราชการสธ.ไปบริหารจัดการแล้ว คาดว่าจะได้รับการบรรจุในอีก 1-2 เดือน  

        ส่วนอีก 1,400 ตำแหน่ง จะได้รับการบรรจุประมาณเดือนกันยายน 600ตำแหน่ง และในเดือนตุลาคมจะมีตำแหน่งจากการเกษียณในเดือนตุลาคมนี้อีก 800 ตำแหน่ง  กรณีที่สธ.ขออนุมัติตำแหน่งข้าราชการให้กับพยาบาลเพิ่มอีกกว่า 1 หมื่นตำแหน่งนั้น เป็นการขออนุมัติในกรอบ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2563  ปีละราว 3,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นอัตราที่สธ.คำนวณแล้วว่าต้องขอเพิ่มจากอัตราตำแหน่งว่างปกติที่กระทรวงมีอยู่ในแต่ละปี จึงจะสามารถบรรจุพยาบาลที่ตกค้างอยู่ได้เพียงพอ และในปี 2564 จะไม่ต้องขอตำแหน่งส่วนนี้เพิ่มเติมอีก

       ทั้งนี้ ปัจจุบันพยาบาลสังกัดสธ.มีจำนวนทั้งสิ้น 100,855 คน ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการแล้ง 87,252 คน คิดเป็นประมาณ 90 %  อีก 10 %ที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ราว 13,000 คน แยกเป็น พนักงานราชการ 260 คน พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 6,538 คน และลูกจ้างชั่วคราว 6,805 คน  

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ