Lifestyle

จ่อ! ปรับปรุง"บัตรทอง" 14 ประเด็น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด 14 ประเด็นเตรียมปรับปรุงกฎหมายบัตรทอง มีข้อเสนอครอบคลุมทุกคนบนแผ่นดินไทย-ร่วมจ่ายค่าบริการ คาดทำประชาพิจารณ์ช่วงต้นเดือนมิ.ย.60    

         เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2560  ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)ที่มีศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)เป็นประธาน โดยนพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ..ที่มีรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน  กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาร่างฯชุดนี้ ได้แบ่งการทำงานออกเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาประเด็นประกอบการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หลักประกันฯ  2 คณะ  โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาประเด็นที่ 1 มี นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารมว.สธ. เป็นประธาน  จะพิจารณาประเด็นปรับแก้ที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ม.44 และมาตรา 77 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

       ชุดแรกนี้จะพิจารณาใน 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน องค์กรที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย  2.กรอบการใช้เงินกองทุน ซึ่งครอบคลุมของค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ค่าสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค  3.การจ่ายเงินโดยตรงแก่บุคคล 4.พิจารณาในเรื่องเงินเหมาจ่ายรายหัว บวกกับเงินที่ได้จากผลงานบริการให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นใช้ตามระเบียบเงินบำรุงได้ 5.นิยามบริการสาธารณสุข 6.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการครอบคลุมทุกสิทธิ และ7.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการครอบคลุมทุกสิทธิ และยกเลิกการไล่เบี้ย          

          และคณะอนุกรรมการพิจารณาประเด็นที่ 2 มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา  กรรมการ สปสช.  เป็นประธาน พิจารณาในเรื่องการปรับแก้ประเด็นอื่นๆ 7 ประเด็น ได้แก่ 1. การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย 2.การร่วมจ่ายค่าบริการ 3.การสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์  4.คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ 5.คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข 6.การยกเลิกมาตรา 46(2) เรื่องค่าใช้จ่าย รวมเงินเดือนและค่าตอบแทน และ7.เงินงบประมาณและรายได้ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ไม่ต้องคืนคลังและคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของเลขาธิการสปสช.  

          นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณา(ร่าง)ยังได้แต่งตั้งอีก 2 คณะอนุกรรมการ คือ คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ. มี  นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)  เป็นประธาน พิจารณาในเรื่องข้อกฎหมายว่า สิ่งที่แก้ไขในประเด็นชุดที่ 1 และ2 เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่นๆหรือไม่  และคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา ร่าง พ.ร.บ. โดยมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) เป็นประธาน   

        “สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานนั้น คณะอนุกรรมการจะเสนอผลการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะจัดทำร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเดียวกัน จากนั้นจะจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนายน 2560 คาดว่าจะเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ.ในฐานะประธานบอร์ด ได้ภายในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม 2560” นพ.ประจักษวิช กล่าว            

        ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะกรรมการบอร์ดฯ กล่าวว่า  การแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.นี้ เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นวงกว้าง การจะทำประชาพิจารณ์เพียงแค่ 1 ครั้งอาจจะไม่ครอบคลุมและกว้างขวางเพียงพอ ดังนั้น ควรมีการเพิ่มการรับฟังความคิดเห็นให้มากยิ่งขึ้น    

          นพ.จรัล  ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์บอร์ด สปสช. กล่าวว่า มาตรา 77 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับฟังประชาพิจารณ์ก่อนจะออกพ.ร.บ.ฉบับใหม่ การแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ รับฟังเพียง 1 ครั้งอาจไม่เพียงพอ และน้อยไป แต่เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพฯ ที่สปสช.ดำเนินการเป็นประจำทุกปีนั้น โดยในปี 2559-2560 ได้มีการเพิ่มเติมประเด็นเรื่องแนวคิดในการปรับปรุงแก้ไขหลักประกันสุขภาพฯ ด้วย ในการปรับปรุงพ.ร.บ.ฯ จึงน่าจะนำผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพิจารณา ซึ่งจะมีน้ำหนักมากเพราะเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่กว้างขว้างมาก เพราะดำเนินการใน 13 เขตของสปสช.ทั่วประเทศ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ