Lifestyle

ชี้ข้อดีตรวจสอบเบิก-จ่าย "30 บาท"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอกวิน"ชี้ข้อดีตรวจสอบการเบิก-จ่าย ค่าชดเชยทางการแพทย์ ใน"ระบบ 30บาท" ช่วยจัดสรรงบฯให้ รพ.อย่างถูกต้อง ระบุ การจัดสรรเงินอยู่กับปริมาณที่บริการปชช.

          เมื่อวันนที่  30  เม.ย. 2560 นพ.กวิน ก้านแก้ว นายแพทย์เชี่ยวชาญ สูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลสุโขทัย กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องมีการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ว่า เนื่องจากงบประมาณปลายปิดที่มีอย่างจำกัด ทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยบริการตามค่าบริการที่เรียกเก็บได้ กล่าวคือ จำนวนเงินที่หน่วยบริการจะได้รับจัดสรรขึ้นอยู่ปริมาณผลงานที่ได้ให้บริการประชาชน และเพื่อให้เกิดความถูกต้อง ระบบตรวจสอบของ สปสช. ผ่านหน่วยงานที่เรียกว่าสำนักตรวจสอบชดเชยและคุณภาพบริการจึงเกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกส่งเข้ามาจากโรงพยาบาล หรือหน่วยบริการต่างๆ เกี่ยวกับการบริการ เพื่อให้เกิดความแม่นยำ ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุน

ชี้ข้อดีตรวจสอบเบิก-จ่าย "30 บาท"

          “เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศสำนักตรวจสอบการชดเชยและคุณภาพบริการจึงได้จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขขึ้น โดยเชิญแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบเวชระเบียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแพทย์ที่ยังคงปฏิบัติงานตรวจรักษาผู้ป่วยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมกับผู้แทนของราชวิทยาลัยแพทย์สาขาต่างๆ เป็นคณะทำงานจัดทำคู่มือ"นพ.กวิน กล่าว

          นพ.กวิน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ใช้หนังสือแนวทางมาตรฐานการให้รหัสโรค (Standard Coding Guidelines)ซึ่งจัดทำโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหนึ่งในเอกสารอ้างอิงเพื่อการตรวจสอบเวชระเบียนอีกด้วย”นพ.กวิน กล่าว

          นพ.กวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า  การเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์มี 2 ส่วนคือ1.การตรวจสอบด้านการเงิน (Financial audit)คือการตรวจสอบว่าหน่วยบริการนั้น ว่าได้ใช้ทรัพยากรหรือวัสดุอุปกรณ์ในการให้บริการตามข้อมูลที่ส่งมาจริงหรือไม่ มูลค่าที่เรียกเก็บมาตรงตามที่หน่วยบริการได้จัดซื้อมาหรือไม่ และมีความเหมาะสมในการใช้ทรัพยากรหรือวัสดุอุปกรณ์นั้นตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ การตรวจสอบประเภทนี้จะกระทำในกรณีที่เป็นการให้เบิกจ่ายค่าชดเชยเป็นการเฉพาะเพิ่มเติมจากการเบิกจ่ายตามระบบปกติ เช่น อวัยวะเทียม อุปกรณ์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง2.การตรวจสอบข้อมูลรหัสโรคและหัตถการ ในการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์กรณีผู้ป่วยใน

         นพ.กวิน กล่าวเสริมว่าการตรวจสอบเวชระเบียนที่สำนักตรวจสอบการชดเชยและคุณภาพบริการดำเนินการอยู่นั้น แน่นอนว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารกองทุนของ สปสช.อย่างชัดเจน เพราะการตรวจสอบจะทำให้ข้อมูลที่ใช้ในการจัดสรรงบประมาณนั้นมีความถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลทำให้การจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยบริการเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และยุติธรรม นอกจากนี้ผลการตรวจสอบเวชระเบียนจะถูกส่งกลับไปยังหน่วยบริการที่ถูกตรวจสอบ หน่วยบริการนั้นสามารถใช้ผลการตรวจสอบเวชระเบียนเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพในการบันทึกเวชระเบียน การสรุปเวชระเบียน และคุณภาพในการให้บริการ เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพของหน่วยบริการ

             "ปัจจุบันมีหน่วยบริการหลายแห่งและแพทย์หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบเวชระเบียน โดยสำนักตรวจสอบการชดเชยและคุณภาพบริการ   ไม่ได้มุ่งหวังจะเข้าไปก้าวล่วงการวินิจฉัยของแพทย์ ถึงแม้ว่าภายหลังการตรวจสอบเวชระเบียน หน่วยบริการจะได้รับแจ้งผลการตรวจสอบในแต่ละเวชระเบียนว่าผู้ตรวจสอบมีความเห็นในการวินิจฉัยโรคและหัตถการเช่นไร แต่ความเห็นที่แตกต่างในการวินิจฉัยโรคและหัตถการนั้นถูกนำไปใช้เพื่อการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาอื่น”นพ.กวิน กล่าวในที่สุด

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ