Lifestyle

โชว์สินค้าจากยางพาราผสมกากสาคู

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณาจารย์ มทร.ศรีวิชัย บูรณาการองค์ความรู้จากงานวิจัย ผลิตสินค้าจากยางพาราผสมกากสาคู เพิ่มรายได้แก่ชาวบ้านในชุมชน

       จากการลงพื้นที่บริการวิชาการ ของสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช พบว่า ชุมชนบ้านกะโสม หมู่ที่ 4 ตำบลกะปาง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนต้นแบบที่มีการอนุรักษ์และแปรรูปแป้งสาคู ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นของชุมชน โดยต้นสาคูนั้นเป็นพืชที่เจริญเติบโตในบริเวณที่มีน้ำขังเช่น ริมห้วย ริมคลอง เมื่อต้นสาคูมีอายุประมาณ 8 ปี จะเจริญเติบโตเต็มที่และจะมีช่อดอกเรียกว่าแทงเขากวาง

       หลังจากนั้นก็จะยืนต้นตาย ชาวบ้านในชุมชนจึงได้นำลำต้นสาคูที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วมาขูดและแยกแป้งออกมาเพื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหาร เช่น ขนมกวน ขนมสาคู ขนมเบื้อง ฯลฯ ส่วนกากสาคูที่คั้นแป้งออกแล้วจะนำไปเป็นอาหารสัตว์หรือเพาะเลี้ยงด้วงเพื่อส่งขายต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีกากสาคูบางส่วนที่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ทำให้มีของเสียเกิดขึ้น

โชว์สินค้าจากยางพาราผสมกากสาคู

         คณาจารย์สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไสใหญ่ จึงได้บูรณาการองค์ความรู้จากการวิจัยที่ผ่านมา เพื่อผลิตไม้เทียมจากกากสาคู โดยมี ผศ.จุฑาทิพย์ อาจชมภู เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โดยเมื่อพัฒนาไม้เทียมจากกากสาคูเสร็จแล้ว ได้มีการมอบตัวอย่างให้กับบุคลากรในสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ทุกท่าน ได้นำไปออกแบบและสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นมา ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวจึงเกิดผลงานสร้างสรรค์ขึ้นจำนวน 7 ผลงาน ได้แก่ โคมไฟ นาฬิกาแขวน สมุดทำมือ กล่องอเนกประสงค์ กระเป๋า กรอบรูป และกระเช้าอเนกประสงค์ ผลงานทั้งหมดที่บุคลากรในสาขาได้สร้างสรรค์ขึ้น อยู่บนแนวคิดพื้นฐานคือ 3 ประการคือ ทำง่าย แปลกใหม่ และใช้ได้จริง โดยมุ่งหวังให้ชุมชนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนไปสู่เชิงพาณิชย์ในอนาคตเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งและสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชนสืบไป

         ขั้นตอนการผลิต เริ่มจากการเตรียมยางคอมปาวน์ตามสูตรที่ได้คิดคำนวณและทำการทดลองแล้วว่าให้คุณสมบัติที่ดีที่สุดโดย เริ่มจากนำยางแผ่นรมควันหรือยางแท่ง มาบดด้วยเครื่องผสมแบบเปิดชนิด 2 ลูกกลิ้ง (two roll mill) แล้วเติมกากสาคูที่แห้งสนิทลงไปผสมกับยาง โดยกากสาคูที่ใช้นั้นต้องผ่านกระบวนการแยกแป้งสาคูแล้ว และนำมาล้างทำความสะอาดและตากให้แห้งสนิท จากนั้นเติมสารเคมีที่จำเป็นในการแปรรูปยาง เช่น สารวัลคาไนซ์ สารตัวเร่ง สารเพิ่มความแข็ง และสีมาสเตอร์แบทช์ ให้ได้สีสันตามที่ต้องการ เมื่อผสมสารเคมีทุกตัวเข้ากันดีแล้ว จะรีดเป็นแผ่นบางประมาณ 1 ซม. นำไปอัดขึ้นรูปให้เป็นแผ่นบางประมาณ 2-3 มม. ด้วยเครื่องอัดเบ้า ที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 นาที เมื่อได้แผ่นไม้เทียมเรียบร้อยแล้ว จะนำไปวาดแบบแล้วตัดตามแบบ จากนั้นนำไปประกอบเป็นชิ้นงานต่างๆ โดยใช้เทคนิค การตัด การเจาะ การเย็บ ฯลฯ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการ เช่น โคมไฟ นาฬิกา ที่ใส่ปากกา กระเช้าดอกไม้ หรือกระถางกล้วยไม้

โชว์สินค้าจากยางพาราผสมกากสาคู

โชว์สินค้าจากยางพาราผสมกากสาคู โชว์สินค้าจากยางพาราผสมกากสาคู

        ที่ผ่านมา สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ร่วมกับแผนกบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดโครงการส่งเสริมศูนย์เรียนรู้การอนุรักษ์แป้งสาคูแบบครบวงจร การผลิตไม้เทียมจากกากสาคู เพื่อถ่ายทอดเทคนิคการสร้างผลงานจากไม้เทียมแก่กลุ่มเกษตรกร บ้านกะโสม หมู่ที่ 4 ตำบลกะปาง อำเภอ ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งรับความสนใจเป็นอย่างมาก หากกลุ่มชาวบ้านได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันจะทำให้เกิดรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น และเป็นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อไปในอนาคต

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ