Lifestyle

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“พิพิธภัณฑ์สัมผัส"จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ด้านการแพทย์และเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยเพื่อผู้การ”

      เข้าสู่ปีที่ 5 ที่พิพิธภัณฑ์สัมผัสเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2556 และในโอกาสที่โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล จะครบรอบ 129 ในวันที่ 26 เมษายน 2560ได้จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ด้านการแพทย์และเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยเพื่อผู้การ” ณ พิพิธภัณฑ์สัมผัสเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารอดุลยเดชวิกรม ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

         ภายในห้องรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ 82 ตางรางเมตร ของพิพิธภัณฑ์สัมผัสฯ ประกอบด้วยฐานการเรียนรู้ 15 ฐานที่เกี่ยวกับการแพทย์และเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ได้แก่ 1. พัฒนาการทารกและเด็กแฝด 2. ระบบทางเดินอาหาร 3. อาหารอุดตันหลอดลม 4. โรคเบาหวาน 5. หนอนพยาธิ 6. นิ่วในระบบปัสสาวะ

         7. บุหรี่กับมะเร็งปอด 8. ไรฝุ่น 9. สัตว์ร้ายใกล้ตัว 10. อาจารย์ใหญ่ 11. ซีอุย 12. พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล 13. นักโบราณคดี 14. มนุษย์กับไฟ 15. เครื่องมือยุคหิน มาจัดแสดงเพื่อให้ผู้พิการทางสายตา (ตาบอด) และการได้ยิน (หูหนวก) ได้เรียนรู้

        ก่อนเข้าสู่ภายในพิพิธภัณฑ์ เจ้าหน้าที่จะมอบอุปกรณ์ “Pick Up“ พร้อมหูฟังให้แก่ผู้เข้าชมที่พิการทางสายตา สวนคนพิการทางการได้ยินจะได้รับอุปกรณ์แท็บเล็ตและหูฟัง ที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนไกด์นำชมและเล่าเรื่องราวแต่ละฐาน

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

        วิธีการเรียนรู้ในแต่ละฐาน เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณ ผู้พิการทางสายตาจะใช้มือขวาจับและรูดมาไปตามราวโลหะด้านข้าง เมื่อสัมผัสแผ่นยางนูนจะหยุดและหันซ้ายกลับมา เป็นฐานวางสิ่งแสดง สูงระดับเอว บริเวณมุมขวาล่างของโต๊ะทุกตัวจะมีกล่องติดไว้ ก็จะนำเจ้า “Pick Up” ที่ได้รับชี้ไปที่กล่องพร้อมกับกดปุ่มนูน 1 ครั้งก็จะมีเสียงบรรยาย ความรู้ในเรื่องนั้น และผู้พิการทางสายตา ก็สามารถใช้มือคลำและสัมผัสสิ่งจัดแสดงได้ เมื่อเสร็จสิ้นก็ใช้มือขวาจับราวเหล็กไปยังฐานต่อไป

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

        ทั้งนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์สัมผัสจะมี 3 ฐานการเรียนรู้ที่มีเรื่องราวภายเคลื่อนไหวสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน คือ เครื่องมือยุคหิน,ซีอุย และอาจารย์ใหญ่ โดยที่ป้ายก็จะมีสัญลักษณ์เครื่องแท็บเล็ต แสดงไว้ ตรงนี้ผู้พิการทางการได้ยิน จะสามารถชมภาพเคลื่อนไหว คำบรรยายเรื่องราวผ่านแท็บเล็ตในมือได้

มาทำความรู้จักแต่ละฐานการเรียนรู้กันเถอะ!!

        เริ่มที่ฐานที่ 1 พัฒนาการทารกและเด็กแฝด (กายวิภาคศาสตร์) อธิบายถึงต้นกำเนิดของมนุษย์จากเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย ที่เรียกว่า เซลล์อสุจิ กับเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง ที่เรียกว่า เซลล์ไข่ พัฒนาการต่างๆที่นำไปสู่การฝังตัวที่ผนังมดลูกของแม่ จากนั้นก็เริ่มสร้างหัวใจเป็นอวัยวะแรก ตามด้วยอวัยวะอื่นๆ

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

        พร้อมกับจำนวนเซลล์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พัฒนาเป็นรูปร่างทารกที่เติบโตอยู่ในครรภ์ เป็นเวลา 9 เดือนกระทั่งคลอด และถ้าทารกในครรภ์มีมากกว่าหนึ่ง เรียกว่าทารกแฝด เกิดจากเซลล์ไข่และเซลล์อสุจิ ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว แบ่งตัวแยกออกจากกัน ทำให้แต่ละกลุ่มเซลล์ต่างเจริญเติบโตต่อไป เป็นเด็กทารกในครรภ์มารดา 2 คน และมีหน้าตาคล้ายกันมาก

        ฐานที่ 2 ระบบทางเดินอาหาร (กายวิภาคศาสตร์) ความมหัศจรรย์ของระบบทางเดินอาหาร คือการแปรรูปอาหารมาเป็นพลังงาน ไปเลี้ยงร่างกาย อธิบายอวัยวะต่างๆผ่านเกมป้อนอาหาร

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

        ฐานที่ 3 อาหารอุดตันในหลอดลม (นิติเวช)

        อธิบายให้รู้ว่า เหตุใดทำไมเมื่อเราสำลักอาหาร จึงรู้สึกแสบคอแสบจมูก บางคนถึงขั้นหายใจไม่ออก เหมือนมีอะไรอุดหลอดลมอยู่ โดยให้สัมผัสไปตามหุ่นจำลองพร้อมแนะนำวิธีการปฐมพยาบาลขั้นต้น และสิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาด เมื่ออาหารอุดตันหลอดลม

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

        ฐานที่ 4 โรคเบาหวาน (พยาธิวิทยา)

        อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน มีการจำลองฝ่าเท้าที่เป็นแผลจากการติดเชื้อ ที่เกิดจากโรคเบาหวาน พร้อมแนะวิธีการป้องกันที่ทำได้ ด้วยการรับประทานอาหารหวานในปริมาณที่พอเหมาะ และตรวจน้ำตาลในเลือด หรือในปัสสาวะอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

        ฐานที่ 5 หนอนพยาธิ (ปรสิตวิทยา)

        ให้ความรู้ในเรื่องของ หนอนพยาธิ ที่อยู่ในอาหารที่กึ่งสุกกึ่งดิบ โดยมีการจำลองตัวอย่าง เช่น เนื้อวัว ที่เมื่อสัมผัสจะรู้สึกถึงเม็ดกลมนูนกระจายอยู่บนผิวเนื้อ เรียกว่า เม็ดสาคู เป็นถุงตัวอ่อนของพยาธิตืดวัว เป็นต้น

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

        ฐานที่ 6 นิ่วในระบบปัสสาวะ (พยาธิวิทยา)

     อธิบายถึงกลไกร่างกาย.. มีกลไกในการกำจัดของเสีย ด้วยกันหลายทาง ทั้งทางเหงื่อ ทางการขับถ่าย ทางการหายใจ และทางปัสสาวะ การอั้นปัสสาวะนานๆ ไม่ทำให้เกิดโรคนิ่ว แต่การดื่มน้ำน้อยเป็นประจำ จะทำให้ปัสสาวะมีความข้นจนเกิดการตกตะกอนได้ง่าย

        ดังนั้น เราควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย วันละ 5 ถึง 8 แก้ว อาหารประเภทเนื้อสัตว์และอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ถั่ว ปลาตัวเล็ก กุ้งแห้ง และอาหารรสเค็ม ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี

        ฐานที่ 7 บุหรี่กับมะเร็งปอด (พยาธิวิทยา)

         อธิบายถึงควันบุหรี่ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดโรคเรื้อรังหลายโรค เช่น หลอดเลือดตีบตัน หัวใจโต ถุงลมโป่งพอง มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด แม้ผู้นั้นจะไม่ได้สูบบุหรี่ โดยมีการจำลองหุ่นคนครึ่งตัว เปิดให้เห็นปอดในช่องอก และอธิบายแต่ละส่วน

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

        ฐานที่ 8 ไรฝุ่น (ปรสิตวิทยา) มีการแบบจำลองสัตว์ ที่เป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ หรือเรียกว่า “ไรฝุ่น”

        ฐานที่ 9 สัตว์ขาข้อมีพิษ (ปรสิตวิทยา)

        ฐานนี้ ผู้เข้าชมจะได้เล่นเกมค้นหา สัตว์ขาข้อมีพิษ ที่ชอบแอบซ่อนอยู่ในของใช้ใกล้ตัวเช่น ในรองเท้าวางอยู่ 1 คู่ ลองล้วงมือเข้าไปหยิบออกมาเป็น “ตะขาบ” ในเสียงจะบรรยายถึงลักษณะของตะขาบ สัตว์ขาข้อชนิดหนึ่งที่มีพิษ มักอาศัยอยู่ตามพื้นดิน ก้อนหิน เปลือกไม้ รวมถึงอาการเมื่อถูกกัด การรักษา เป็นต้น

 

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

        ฐานที่ 10 อาจารย์ใหญ่ (กายวิภาคศาสตร์) อาจารย์ใหญ่ ในทางการแพทย์ คือร่างกายที่เสียชีวิตแล้ว ของผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งได้บริจาคร่างของตนไว้ขณะยังมีชีวิตอยู่ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ในการศึกษาอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ว่าทำงานสัมพันธ์กันอย่างไร ในฐานนี้ได้มีการนำท่อนแขน ตั้งแต่หัวไหล่ถึงปลายนิ้วมือ ที่ผ่านกระบวนการรักษาสภาพ โดยวิธี “พลาสติเนชั่น” หรือ “การกำซาบพลาสติก”แล้วของอาจารย์ใหญ่ มาแสดงเพื่อให้ศึกษา

ฐานที่ 11 ซีอุย (นิติเวชศาสตร์)

        มีการจำลองร่างครึ่งตัวของซีอุย หรือ ซีอุย แซ่อึ้ง ชายชาวจีนรูปร่างเล็กตำนาน “ซีอุย” มนุษย์กินคนก่อคดีเสทือนขวัญ แต่ประเด็นการกินหัวใจและตับของมนุษย์ ยังสร้างความสงสัยให้กับแพทย์ ว่าเกิดจากความผิดปกติทางจิตหรือไม่ ซึ่งเข้าสู่การผ่าสมองเพื่อศึกษาระบบภายในด้วย แม้ว่าคดีซีอุยจะผ่านมานานหลายปี แต่ชื่อของเขายังคงอยู่ในความทรงจำ

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

        ฐานที่ 12 พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล (นิติเวชศาสตร์)

        ฐานนี้เป็นการสมมติให้เป็นคดีฆาตกรรม ให้ผู้เข้าชมช่วยเก็บหลักฐานเบื้องต้นจากชิ้นส่วนแขนมนุษย์ ที่พบรวมกับชิ้นส่วนอื่น ข้อมูลหรือหลักฐานที่ได้ จะนำไปพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล และหาตัวฆาตกรต่อไป

ฐานที่ 13 นักโบราณคดี (กายวิภาคศาสตร์)

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

        แสดงการทำงานของนักโบราณคดี อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน โดยจะอธิบายรูปทรงลักษณะของอุปกรณ์แต่ละชิ้นที่ เช่น แผ่นเหล็กรูปสามเหลี่ยม มีด้ามจับ เรียกว่า เกรียง ใช้สำหรับขุดแซะดิน รอบๆโบราณวัตถุชิ้นเล็ก เป็นต้น

          ฐานที่ 14 มนุษย์กับไฟ (กายวิภาคศาสตร์)

        บอกเล่าถึงวิวัฒนาการของมนุษย์กับไฟ ในสมัยโบราณ โดยจำลองการชุดการจุดไฟ 2 วิธี คือ จุดไฟด้วยหิน 2 ก้อน และจุดไฟโดยใช้ไม้ปั่น ตลอดจนกล่าวถึงมนุษย์สายพันธุ์แรก ที่เริ่มรู้จักใช้ไฟคือ โฮโมอิเรคตัส

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

ฐานที่ 15 เครื่องมือยุคหิน (กายวิภาคศาสตร์)

        จำลองอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ยุคหิน ทั้ง 3 ยุค ได้แก่ ยุคหินเก่า หินกลาง หินใหม่ ใหความรู้และให้เล่นเกมเพื่อแยกแต่ละยุค

พิการสายตา-ได้ยิน เที่ยวพิพิธภัณฑ์สัมผัสได้

        สำหรับผู้สนใจทั้งผู้พิการทางสายตา ผู้พิการทางการได้ยิน และบุคคลทั่วไปสามารถเข้าชม “พิพิธภัณฑ์สัมผัส” ได้ภายในพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช อาคารอดุลยเดชวิกรม ชั้น 2 ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2560 เป็นต้นไป เวลา 10.00-17.00 น.สอบถามเพิ่มเติม 0-2419-2617-9,0-2419-2601 โทร.0-2419-2618-9,0-2419-6363

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ