Lifestyle

สะตออบแห้งช่วยเหลือชาวภาคใต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สะตออบแห้งสร้างรายได้วันละ 300 บาท เกิดวงจรธุรกิจเพิ่มมูลค่าให้สะตอ สามารถเก็บไว้ได้นาน6เดือนโดยไม่เน่าเสีย รสชาติ กลิ่นเหมือนเดิมเพียงแช่น้ำทิ้งไว้ไม่เกิน 1ชม.

          สะตออบแห้งอาศัยชาวบ้านในชุมชนใช้แรงงานปอกฝักสะตอรายได้วันละ 300 กว่าบาท ธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ชาวบ้านรับจ้างปอกฝักสะตอ ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของสวนขายสะตอได้ราคาดีขึ้น จากเมื่อก่อนฝักละ 1 บาท อาจจะขายได้ฝักมากกว่านั้นเป็น 5 เท่า 10 เท่า สามารถอบแห้งเก็บไว้ขาย 5 เดือน 6 เดือน ข้างหน้าได้
          ผศ.ดร. หมุดตอเล็บ หนิสอ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.)กล่าวว่า โครงการสะตออบแห้งเกิดจากที่ผู้ประกอบการเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ปลูกสะตอมากที่สุดในนครศรีธรรมราช และในภาคใต้เกือบทุกที่จะปลูกสะตอกันเป็นส่วนใหญ่ มีผลผลิตออกมาเป็นช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม ราคาก็จะถูกตามปกติทั่วไป

สะตออบแห้งช่วยเหลือชาวภาคใต้

ผศ.ดร. หมุดตอเล็บ หนิสอ

          จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้สะตอขายได้ในราคาดีขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่ม และตอบรับกับความต้องการของตลาด เพราะว่าสะตอเป็นเมนูหลักในภัตตาคารหรือร้านอาหาร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยิ่งต่างประเทศร้านอาหารไทยต่างประเทศมีความนิยมสูง ถ้าเป็นสะตอสดไม่สามารถขนส่งได้ ณ ตอนนี้ที่มีขายอยู่ในตลาดเป็นสะตอจากมาเลเซีย ที่รักษาโดยการแช่คล้ายๆการดองมีความใกล้เคียงกับสะตอสดอยู่เป็นผลิตภัณฑ์เดียวที่มีอยู่ในท้องตลาด
          สะตอแห้งคือ สะตอที่สามารถคืนตัวได้ ต้องแห้งและสามารถคืนตัวได้เมื่อแช่น้ำ การคืนตัวหมายถึงกลับมาสดเหมือนเดิม เป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการตั้งใจผลิตขึ้น เพราะหากทำได้อย่างนั้นข้อดีคือ การขนส่งจะสะดวกมากขึ้น การเก็บรักษาได้นาน เพราะเมื่อแห้งแล้วไม่ขึ้นราไม่มีปัญหาเรื่องเกิดการเน่าเหม็นหรือเสียหาย แต่ปัญหาคือ ถ้าการทำแห้งที่มีปัจจุบันใช้เทคโนโลยีลมร้อน โดยใช้อุณหภูมิค่อนข้างสูง ใช้อากาศในการอบแห้งทั่วไป ซึ่งปัญหาของการทำแห้งดังกล่าว แห้งแล้วจะแข็ง แข็งแล้วเมื่อนำไปแช่น้ำมันก็จะไม่กลับมาเหมือนเดิม ไม่นิ่ม ไม่คืนสภาพ และเสียสภาพ

สะตออบแห้งช่วยเหลือชาวภาคใต้


          ผศ.ดร. หมุดตอเล็บ กล่าวต่อว่า การหาเทคโนโลยีใหม่เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการพยายามทำมาพอสมควร ทั้งการทดลองเอง ทดลองกับนักวิจัยที่อื่น และเริ่มมาทำกับเมื่อต้นปีที่แล้วก็ใช้เวลาอยู่เกือบปีในการที่พยายามพัฒนาวิธีการต่างๆที่จะทำแห้ง ตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีไมโครเวฟความดันต่ำ เป็นการทำแห้งอุณหภูมิต่ำ มันก็จะสามารถทำแห้งได้แล้วคืนตัวได้ แต่ปัญหาก็คือว่าผลิตในปริมาณมากทำยาก เพราะอาจต้องผลิตเป็นวันละหลายร้อยกิโลกรัม เมื่อทำแห้งน้ำหนักมันก็เหลือแค่ 1 ใน 4 โดยสมมุติว่าสะตอ 20 กิโลกรัม เมื่อผ่านขั้นตอนการอบแห้งแล้วจะเหลือน้ำหนักไม่ถึง 5 กิโลกรัม ทำให้การอบแห้งที่จะต้องพยายามทำยังไงให้สูญเสียคุณสมบัติต่างๆของสะตอให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะสี กลิ่น เนื้อ และสารอาหาร 
          โดยพยายามทดลองและหาวิธีการจนพบว่าถ้าอบที่อุณหภูมิต่ำที่สุด สามารถทำให้น้ำระเหยได้ จะทำให้สามารถรักษาคุณภาพพื้นฐานทั้ง 4 อย่างของสะตอได้อย่างค่อนข้างครบถ้วน โดยการใช้วิธีนี้สามารถทำแห้งได้เกือบแห้ง ความชื้นเกือบเป็นศูนย์ และก็สามารถเก็บรักษาได้ 6 เดือน เก็บรักษาสภาพได้ใกล้เคียงกับสภาพเดิม สามารถแช่น้ำคืนตัวได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง
          หลังจากที่พัฒนาอบแห้งในห้องแล็บแล้ว ลองจำหน่ายช่วงปลายปีที่แล้ว จำหน่ายเป็นสินค้าของฝากในสนามบินและร้านค้าที่มีนักท่องเที่ยวซื้อของฝากได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร ตอนนี้กำลังพัฒนาเครื่องอบที่สามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ สามารถผลิตรองรับความต้องการของตลาดที่มากขึ้น โดยได้งบประมาณวิจัยจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมาใช้ในการสร้างเครื่อง ตอนนี้รอเข้าสู่ฤดูกาลช่วงนี้สะตอที่จำหน่ายจะเป็นสะตอทาง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งยังเป็นสะตอนอกฤดูกาล เมื่อถึงช่วงนั้นที่สะตอออกผลมารีบผลิตเก็บไว้ เครื่องตอนนี้ที่พัฒนาก็จะเสร็จช่วงที่เป็นฤดูกาลของสะตอพอดีและทำงานได้ตามที่วางแผนเอาไว้
          จากการเก็บข้อมูลสะตออบแห้งยังไม่มีใครขายในท้องตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์นียังไม่มีคู่แข่ง แต่สักระยะก็คงมีเพราะวิธีการที่เราทำไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพียงแต่ว่าต้องมีเคล็ดลับนิดหน่อย สำหรับวิสาหกิจชุมชนไม่มีงบประมาณจะซื้อเทคโนโลยีต่างประเทศก็เข้าร่วมงานกับทางมหาวิทยาลัยเป็นช่องทางหนึ่งที่สร้างเทคโนโลยีที่จะทำให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะแบ่งปันได้ 

สะตออบแห้งช่วยเหลือชาวภาคใต้

          นอกจากนี้ยังมีลู่ทางในการไปขายต่างประเทศได้ หากสามารถขอเครื่องหมายฮาลาลได้ ซึ่งดำเนินการอยู่ทั้งมาตรฐานการผลิตอาหาร GMP หากได้เครื่องหมายเหล่านี้มาก็สามารถเปิดตลาดได้มากขึ้น ก็สามารถจ้างงานชาวบ้านได้มากขึ้น
          ราคาของสะตออบแห้งอยู่ที่ 1 ซอง ราคา 100 บาท โดยภายในซองจะมี 2 แพ็คย่อย ใน 1 แพ็คมีน้ำหนักอยู่ที่ 15 กรัม หรือหากเปรียบเป็นสะตอสดอยู่ที่ 4-5 ฝักต้นทุนอยู่ที่ฟักละ 1 บาท หมายความว่าถ้าขายสะตอสดจะได้ราคาประมาณ 5 บาทถ้ามาทอบแห้งราคาจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 100 บาท 1 แพคทานได้ 1 ครอบครัว สะตอสามารถนำไปผัดกับกุ้ง หรือจะทานสดๆกับน้ำพริกได้ เมื่อแช่น้ำน้ำหนักก็จะขยายขึ้น 4-5 เท่า และข้อดีของสะตอคือไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงลดการใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยไม่ต้องเยอะมากเพราะเป็นพืชที่ดูแลตัวเองได้ดีอีกด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ