Lifestyle

ตะลึงอุดมศึกษาไทยมี1.7พันหลักสูตรเถื่อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลขากกอ.แจง หลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มี 1,790  หลักสูตรส่วนใหญ่เป็นปัญหาจำนวนอาจารย์ผู้สอน รับนักศึกษาไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด

  หลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า การดำเนินงานหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาที่ส่งรายงานเมื่อเดือนตุลาคม 2559 จำนวน 150 แห่ง จากทั้งหมด 154 แห่ง มีการรายงานผลการดำเนินงานหลักสูตรจำนวนทั้งสิ้น 8,949 หลักสูตร มีหลักสูตรไม่เป็นไปตามมาตรฐานจำนวน 2,030 หลักสูตร และมีสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งรายงานผลการดำเนินงานไม่ครบถ้วนทุกหลักสูตร จึงมีผลกระทบต่อการรับรองคุณวุฒิเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพเช่นกัน 

       ดร.สุภัทร  จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ออกมาชี้แจงถึงหลักสูตรเถื่อน ไร้มาตรฐาน ว่าขณะนี้มีหลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำ ของสกอ.จริง แต่ไม่ถึง 2,000 กว่าหลักสูตรอย่างที่มีการเปิดเผยข้อมูล โดยจากการตรวจสอบหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2557 โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2559 นั้นพบว่ามีหลักสูตรที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จำนวน 1,790  หลักสูตรเท่านั้น และสกอ.ก็ส่งข้อมูลดังกล่าวไปให้ทางสตง. ซึ่งตัวเลขจำนวนหลักสูตรไม่ตรงกัน  ก็ไม่แน่ใจว่า ข้อมูล ที่ สตง.เปิดเผยเป็นข้อมูลจากที่ใด และปีการศึกษาใด สตง.คงต้องออกมาชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าว มีที่มาอย่างใด  

     “มหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรไม่เป็นไปตามมาตรฐานนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาจำนวนอาจารย์ผู้สอน รับนักศึกษาไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ มหาวิทยาลัยสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ และทุกมหาวิทยาลัยที่สกอ.ส่งหนังสือไปให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข มหาวิทยาลัยก็พร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อประโยชน์ของผู้เรียน”    ดร.สุภัทร กล่าว 

    ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ กกอ.ได้่เปิดเผยมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีปัญหา 10 แห่งที่มีปัญหาหลักสูตรรวมแล้ว 98 หลักสูตร แบ่งเป็น หลักสูตรในที่ตั้ง 20 หลักสูตร และหลักสูตรนอกที่ตั้ง 78 หลักสูตร ดังนี้

1.มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี,

2.มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่

3.มหาวิทยาลัยปทุมธานี

4.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก

5.มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.ปทุมธานี

 6.วิทยาลัยทองสุข

7.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม

8.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

9.สถาบันรัชต์ภาคย์

และ10.มหาวิทยาลัยราชธานี จ.อุบลราชธานี

     ดร.สุภัทร กล่าว ต่อว่า ส่วนกรณีปัญหา 10 มหาวิทยาลัยเอกชน ที่สกอ. ลงไปสอบทานข้อมูล (หลายแห่งให้ความร่วมมือเข้าชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม และได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว)

       แบ่งเป็น หลักสูตรนอกสถานที่ตั้ง 78 หลักสูตร ที่จัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ใน 5 สถาบัน ได้รับความร่วมมือจากสภามหาวิทยาลัย ขอปิดหลักสูตรไปแล้ว 56 หลักสูตร เหลือ 22 หลักสูตร ซึ่งสกอ. ขอให้งดรับนักศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 

        นอกจากนั้น ในจำนวนดังกล่าว พบว่ามี 2 หลักสูตรที่ยังเปิดการเรียนการสอน ซึ่งสกอ. จะลงไปตรวจสอบ เพราะขอให้งดรับนักศึกษาไม่ได้ขอให้ปิดหลักสูตร ดังนั้น มหาวิทยาลัยอาจจะเปิดสอนนักศึกษาให้จบการศึกษาก่อน รวมทั้ง ในมี 3 หลักสูตรขอเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2560 ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องปรับปรุงการเรียนการสอนให้เป็นไปตามมาตรฐาน 

     “ส่วน อีก 20 หลักสูตร ใน 8 มหาวิทยาลัย ที่จัดการศึกษาไม่ได้มาตรฐานนั้น สภามหาวิทยาลัย ขอปิดไปแล้ว 3 หลักสูตร แจ้งให้งดรับนักศึกษา 3 หลักสูตร แก้ไขหลักสูตรตามเอกสาร 9 หลักสูตร รอดูการดำเนินการ 5 หลักสูตร โดย 2 ใน 5 หลักสูตรมีปัญหาจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามที่สภาวิชาชีพกำหนด โดยรับนักศึกษาเกินกว่าที่สภาวิชาชีพกำหนด”เลขาธิการกกอ.กล่าว  

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ