Lifestyle

เจาะเวลาหาเคมีโอลิมปิก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใกล้เข้ามาทุกขณะ กับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ (49th International Chemistry Olympiad) ครั้งที่2 ของไทย จัดขึ้นวันที่ 6-17 ก.ค.นี้

        โดยการเป็นเจ้าภาพเคมีโอลิมปิกของไทยในปีนี้มีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) สมาคมเคมีแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล  เป็นผู้จัดการแข่งขัน

       ล่าสุดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรม Science Cafe : The 49th International Chemistry Olympiad in Thailand; Chemistry talk series ตอน “Back to the IChO” ขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์การจัดงานเคมีโอลิมปิกครั้งที่ 49 นี้

         ดร.นภดล ไชยคำ อาจารย์พิเศษโครงการบัณฑิตศึกษานิติวิทยาศาสตร์  เป็นอาจารย์ที่ผ่านประสบการณ์ด้านการช่วยงานเคมีโอลิมปิก ในฐานะของวิทยากรในค่าย และอาจารย์ผู้ควบคุมทีมในระดับนานาชาติ กล่าวว่า การแข่งขันเคมีโอลิมปิกได้เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2512 

         ประเทศไทยได้ส่งเยาวชนไทยไปร่วมแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นการแข่งขันเคมีโอลิมปิก ครั้งที่ 22  ณ สหพันธ์สาธารณรัฐฝรั่งเศส  ผลการแข่งขันปรากฏว่า ผู้แทนเยาวชนไทยได้รับรางวัลเหรียญทองแดง 1เหรียญ  จากนางสาววรรณวิมล  ศิริวัฒน์เวชกุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาโท ด้านวิศวกรรมเคมี จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (Cal Tech) ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ จาก ฮาร์วาร์ด บิสซิเนส สคูล ประเทศสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นเคมีโอลิมปิกเหรียญแรกของไทย

เจาะเวลาหาเคมีโอลิมปิก

ดร.นภดล ไชยคำ

       หลังจากนั้นผลการแข่งขันของวิชาเคมีแสดงถึงความสามารถของเยาวชนไทยที่พัฒนาขึ้นเป็นลำดับในการแข่งขันครั้งที่ 46  ณ ประเทศเวียดนามนั้น ผู้แทนประเทศไทยสามารถทำผลงานอยู่ในอันดับที่ 8 จากผู้เข้าร่วมแข่งขัน 75 ประเทศ โดยได้รับรางวัล 1 เหรียญทอง และ 3 เหรียญเงิน โดยผลงานที่ดีที่สุดของประเทศไทย คือ พ.ศ. 2553 แข่งขันที่ญี่ปุ่น ได้ 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน นับสถิติเป็นอันดับที่ 2จากประเทศผู้เข้าร่วมทั้งหมด 68 ประเทศ  โดยปีนั้นนางสาวพิณนรี เตี่ยมังกรพันธุ์ ยังได้รับรางวัลผู้ทำคะแนนสอบภาคทฤษฎีได้เต็ม

        “การจัดส่งคณะผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันเคมีโอลิมปิก ประกอบด้วยคณะอาจารย์หัวหน้าทีม รองหัวหน้าทีม ผู้สังเกตการณ์ และผู้จัดการทีม คณะนักเรียนที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี ยังไม่ได้ลงทะเบียนเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เมื่อเดินทางไปถึงก็จะมีการแยกที่พักและแยกกิจกรรมระหว่างอาจารย์กับนักเรียน  โดยคณะอาจารย์จะเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับข้อสอบ แปลข้อสอบ ตรวจข้อสอบ และประชุมตัดสินผลคะแนน ต่อรองคะแนนกับคณะกรรมการ ส่วนกิจกรรมหลักของคณะนักเรียนจะสอบทฤษฎี ปฏิบัติ และทัศนศึกษา เป็นต้น”

        ดร. ต่อศักดิ์ ล้วนไพศาลนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  อดีตผู้แทนประเทศไทยจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เจ้าของเหรียญเงินเคมีโอลิมปิก  เมื่อปี พ.ศ. 2542 ครั้งที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ เป็นครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีประเทศเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 51 ประเทศ

เจาะเวลาหาเคมีโอลิมปิก

ดร. ต่อศักดิ์ ล้วนไพศาลนนท์

        ภายหลังจากจบศึกษาต่อด้านเคมีในระดับปริญญาเอก "ดร.ต่อศักดิ์" ได้กลับประเทศไทยมาทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับการชักชวนจาก ดร. เอกสิทธิ์ สมสุข อดีตผู้แทนประเทศไทยเคมีโอลิมปิก รุ่นแรก เข้าร่วมเป็นอาจารย์ผู้ควบคุมทีม ซึ่งได้เรียนรู้งาน และล่าสุดรับหน้าที่เป็นอาจารย์หัวหน้าทีมนำคณะนักเรียนไปแข่งขันที่ต่างประเทศ  โดยประเทศที่ทำผลงานโดดเด่นมาตลอด ได้แก่  จีน สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ไต้หวัน  ซึ่งรักษาระดับผลคะแนนไว้ดีมากอย่างสม่ำเสมอ

        “การที่รัฐบาลได้สนับสนุนนักเรียนไทยด้านโอลิมปิกวิชาการนั้น ผมมองว่าผู้ได้รับประโยชน์นั้นอยู่ในวงกว้าง ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงเยาวชนที่มีศักยภาพสูงจำนวนน้อยนิดเท่านั้น  แต่จริงๆ แล้ว นักเรียนที่ได้รับประโยชน์สามารถแสดงได้ในรูปแบบของปิรามิดหัวตั้ง  เริ่มจากฐานปิรามิด ซึ่งเป็นนักเรียนทั่วไปที่มีใจรักทางวิทยาศาสตร์ สามารถมีช่องทางพัฒนาตัวเอง เพราะกระบวนการเตรียมตัวสอบแข่งขันเข้าร่วมโครงการโอลิมปิกวิชาการทำให้ได้มาซึ่งความรู้ความใจในเนื้อหาวิชาการ รวมทั้งได้กระบวนการคิดวิเคราะห์ หรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ 

       ถัดขึ้นไป ก็เป็นนักเรียนที่สอบผ่านเข้าโครงการ ฯ ได้ร่วมเข้าค่ายโอลิมปิก ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ อย่างลึกซึ้งมากกว่าปกติ  ได้เรียนรู้จากอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ เกิดเจตคติหรือแรงจูงใจมากขึ้นทางวิทยาศาสตร์  ยิ่งตอนนี้มีศูนย์ สอวน. มีการจัดค่าย สอวน. กระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ ในทุกภูมิภาค ก็ยิ่งกระจายโอกาสในการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น    และสุดท้าย ก็คือ ผู้แทนประเทศไทย ที่ได้มีประสบการณ์ในการแข่งขันเวทีนานาชาติ ได้สร้างเครือข่ายทางวิทยาศาสตร์กับประเทศอื่น และมีโอกาสศึกษาต่อยอดในระดับสูงขึ้น”

เจาะเวลาหาเคมีโอลิมปิก

        ความจริงแล้ว การแข่งขันเคมีโอลิมปิก ยังมีประโยชน์เกี่ยวข้องในด้านอื่นๆ เช่น การวัดความสามารถในการจัดการทางวิชาการ จากการที่เราได้เห็นว่าประเทศอื่นมีการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แตกต่างกันไปอย่างไร ก็จะนำไปสู่การปรับปรุงการสอนของตัวเอง ได้นำแนวคิดไปพัฒนาปรับปรุงการศึกษาของชาติ เป็นต้น

        นอกจากนั้น เคมีโอลิมปิก ยังได้สร้างคนที่มีความสามารถด้านเคมีมากมาย ให้เป็นบุคลากรที่มาช่วยพัฒนาประเทศ ผ่านการทำวิจัย หรือการปฏิบัติงานอาชีพต่าง ๆ  ซึ่งเชื่อมั่นว่าประสบการณ์ที่ได้จากการไปแข่งขันเคมีโอลิมปิกของอดีตผู้แทนประเทศไทย ได้มีส่วนในการนำไปพัฒนาชาติตามมุมมองของพวกเขา ตามบริบทของอาชีพต่าง ๆ ที่พวกเขาทำ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็ตาม  

 

                                       

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ