Lifestyle

ส่องอนาคต...เด็กเกิดปี 2560  ทำงานเพิ่ม 2 เท่าเลี้ยงคนแก่  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อนาคตการทำงานของเด็ก 1 คนจะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ 2 คน เท่ากับว่าเด็กที่เกิดในปี 2560 จะต้องสร้างรายได้มากกว่า 2 เท่า ต้องมีรายได้เฉลี่ย 40,000 บาท/เดือน

    “อนาคตการทำงานของเด็ก 1 คนจะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ 2 คน เท่ากับว่าเด็กที่เกิดในปี 2560 จะต้องสร้างรายได้มากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับปัจจุบันเพื่อดูแลผู้สูงวัย เฉลี่ยต่อคน ต่อเดือนประมาณ 40,000 บาท”

     อีก 10-20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เยาวชนที่เป็นวัยแรงงานจะต้องทำงาน 2 เท่าของในปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อเดือนประมาณ 40,000 บาท เพื่อจะเป็นภาษีในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ

      สำนักงานส่งสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายสื่อสารด้านการปฏิรูป (Thai Reporter 4.0) จัดเสวนาวิชาการขับเคลื่อนประเด็นศูนย์เด็กเล็ก ต้นทาง การลดช่องว่างสังคม ผู้สูงวัย สู่การเตรียมความพร้อม เด็กปฐมวัย โดยมีการระบุข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เดือนมกราคม 2560 สะท้อนให้เห็นถึงอัตราการเกิดที่ต่ำลง ทำให้อนาคตกลุ่มเด็กเยาวชนจะต้องแบกรับภาระในการเปลี่ยนผ่านสังคมผู้สูงวัยมากขึ้น 

ส่องอนาคต...เด็กเกิดปี 2560  ทำงานเพิ่ม 2 เท่าเลี้ยงคนแก่  

     ส่วนข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ว่าในปี 2576 ประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29 ส่วนประชากรเด็กจะเหลือเพียงร้อยละ 14 หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.07 เท่า หมายความว่าเด็ก 1 คนจะต้องแบกรับภาระผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าตัวในอีก 16 ปีข้างหน้า 

      ทว่า จากข้อมูลโครงการวิจัยบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ พบว่า รายจ่ายด้านการศึกษารวมของประเทศไทย ตามระดับการศึกษาในปี 2551-2556 เห็นได้ว่าในระดับเด็กก่อนวัยเรียน 14,150 ล้านบาท ก่อนประถมศึกษา 87,776 ล้านบาท การประถมศึกษา 62,531 ล้านบาท มัธยมศึกษาสายสามัญ 66,878 ล้านบาท มัธยมศึกษา (อาชีวะ) 43,442 ล้านบาท สถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย 68,564 ล้านบาท ทำให้เห็นว่าการลงทุนด้านการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยนั้นยังได้รับงบประมาณที่ไม่มากพอในการพัฒนาศักยภาพเด็กตั้งแต่เริ่มต้น

      ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัยและนโยบาย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ให้ความเห็นว่า การลงทุนด้านการศึกษาปฐมวัยในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า จะมีความสำคัญหากประเทศไทยต้องการเปลี่ยนผ่านสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์และหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยในปี 2578 อัตราเด็กและผู้สูงอายุจะเปลี่ยนไป 2 เท่าตัว คือ การทำงานของเด็ก 1 คนจะต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ 2 คน 

ส่องอนาคต...เด็กเกิดปี 2560  ทำงานเพิ่ม 2 เท่าเลี้ยงคนแก่  

      “เท่ากับว่าเด็กที่เกิดในปี 2560 จะต้องสร้างรายได้มากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับปัจจุบันเพื่อดูแลผู้สูงวัย แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายดูแลผู้สูงอายุ ทั้งเบี้ยคนชรา 500 บาทต่อเดือน นโยบายการออมในผู้สูงอายุ หรือสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีการผลักดันนโยบายมีลูกเพื่อชาติ” ดร.ไกรยสกล่าว 

     การลงทุนการศึกษาในเด็กปฐมวัย ดร.ไกรยส บอกว่า งบประมาณการลงทุนไม่มากพอเมื่อเทียบกับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเด็กยากจน จากข้อมูลบัญชีการศึกษาพบว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์แรก มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้เรียนในระดับอุดมศึกษา อีก 95 เปอร์เซ็นต์ ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 การพัฒนาการศึกษาจึงไม่มีผลเพราะเด็กได้ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยที่กำลังเดินหน้าเป็นไทยแลนด์ 4.0 ต้องเพิ่มจำนวนประชากรที่เป็นแรงงานทักษะขั้นสูง 3-4 เท่า

     “ประเทศไทยต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อเดือนประมาณ 40,000 บาท โดยสรุป คือ ในอีก 10 ปี เยาวชนที่เป็นวัยแรงงานจะต้องทำงาน 2 เท่าของในปัจจุบัน เพื่อจะเป็นภาษีในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ หรือในอีก 20 ปีที่จะก้าวออกจากกำดักรายได้ปานกลางจะต้องเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จะต้องมีโครงสร้างแรงงานทักษะขั้นสูงครึ่งหนึ่ง เพราะในปัจจุบันมีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นมาตรการที่ควรลงมือปฏิบัติควรเป็นการดูแลเด็กตั้งแต่เกิดให้ได้รับการพัฒนาที่ดี” ดร.ไกรยส กล่าว

ส่องอนาคต...เด็กเกิดปี 2560  ทำงานเพิ่ม 2 เท่าเลี้ยงคนแก่  

     ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรมาก แต่ในวัยปฐมวัยไม่ได้การพัฒนาที่เพียงพอ จึงทำให้การเรียนรู้ขาดช่วง เมื่อเด็กเข้าสู่วัยประถมวัยทำให้เกิดปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และเมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไม่มีมาตรการบังคับเรียน เด็กจึงก้าวเข้าสู่วัยแรงงาน และที่สำคัญอัตราการเกิดของประชากรในประเทศมีจำนวนลดลง การลงทุนการศึกษาในช่วงปฐมวัยจึงเป็นการพัฒนากำลังคนไปสู่อนาคต

  0 ศูนย์เด็กเล็ก High Scope 0 

    ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้า ผู้จัดการโครงการลดความเหลื่อมล้ำดัวยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (RIECE Thailand) ร่วมกับสสค. กล่าวว่า การลงทุนการศึกษาในเด็กปฐมวัยจะเกิดความยั่งยืน คุณภาพการศึกษากับเด็กปฐมวัยจะสามารถปลูกฝังติดตัวเด็กไปสู่การเติบโตที่สมวัย โครงการ RIECE Thailand มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้าร่วมทั้งหมด 50 ศูนย์ ใน จ.มหาสารคามและกาฬสินธุ์ 

     ใช้แนวคิดแบบ High Scope ของ ศ.เจมส์ เจ.แฮคแมน ที่เน้นการสร้างความพร้อมและการกระตุ้นการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน ในการวางแผน ลงมือทำตามขั้นตอน และการแชร์ข้อมูลแบบ Plan Do Review การลงทุนในระดับเด็กปฐมวัย จะมีความคุ้มค่าสูงในอัตราส่วน 1 ต่อ 7 คือลงทุน 1 บาท แต่ได้ผลคืนกลับราว 7-12 บาท

      “การเรียนแบบลงมือปฏิบัติจะทำให้เด็กมีโอกาสเลือกในสิ่งที่อยากทำ เป็นการตัดสินใจของเด็ก เด็กจะเรียนผ่านสิ่งที่ทำ ครูและเด็กก็จะเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาพร้อมส่งเสริมในสิ่งที่เด็กทำ ในงานวิจัยปรากฏผลชัดเจนว่า ไม่จำเป็นต้องเร่งให้เด็กอ่านออกเขียนได้ เพราะผลลัพธ์ในระยะยาวอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นการส่งเสริมการเรียนในศูนย์เด็กเล็กของเด็กจึงตอบโจทย์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและพัฒนาคน เพราะในอนาคตประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เด็กจะต้องหันกลับมาดูแล ดังนั้นเด็กจะต้องเก่ง มีกระบวนการคิดที่ดีเพื่อนำไปใช้ในการทำงานในอนาคต สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ” ผศ.ดร.วีระชาติ กล่าว

     นายทรงเกียรติ ล้านพลแสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองตอกแป้น จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า เปลี่ยนศูนย์เด็กเล็กมาใช้หลักสูตรการแบบ High Scope ตามโครงการลดความเหลื่อมล้ำดัวยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (RIECE Thailand) เป็นระยะเวลา 2 ปี กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์  เปลี่ยนจากศูนย์กินนอนสู่การพัฒนาปฐมวัยอย่างมีคุณภาพ

ส่องอนาคต...เด็กเกิดปี 2560  ทำงานเพิ่ม 2 เท่าเลี้ยงคนแก่  

     ผลออกมาชัดเจนในเด็กปฐมวัย เพราะเป็นช่วงวัยที่พร้อมจะรับความรู้ต่างๆ ทำให้เด็กที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีพัฒนาในการกล้าแสดงออก การตั้งคำถาม สนใจในสิ่งรอบตัวมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงในการมีภาวะผู้นำ อีกทั้งยังช่วยในส่วนของผู้ปกครองที่ไม่มีกำลังทรัพย์ส่งเรียนในตัวเมือง หรือช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองในระหว่างการทำงาน

      “ศูนย์เด็กเล็กเน้นการกระทำให้เด็กเกิดความเคยชินในการทำกิจวัตร เด็กที่นับเลขจะมีสมาธิมากขึ้น ไม่นับข้ามเลข เด็กมีกระบวนการคิดที่ดี ในอนาคตเชื่อว่าสิ่งที่เด็กในศูนย์เด็กเล็กจะมีต้นทุนที่ดีในด้านการดำรงชีวิต เปรียบเทียบกับการปลูกต้นไม้ที่จะทำให้ต้นกล้าเล็กๆ แข็งแรง เราต้องเอาใจใส่ ทั้งใส่ปุ๋ย เมื่อเราแยกออกไปปลูกที่อื่นก็จะเติบโตแบบแข็งแรง” นายทรงเกียรติ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ