Lifestyle

“เรียนไป ระแวงไป” @ อุดมศึกษาไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

งานเข้า..อุดมศึกษาไทยอีกแล้ว เมื่อ"บอร์ดกกอ." เปิดรายชื่อ ม.เอกชน 10 แห่ง ที่มีปัญหาคุณภาพ 98 หลักสูตรไม่มีมาตรฐาน ... 0 ชุลีพร อร่ามเนตร 0 รายงาน

       งานเข้า…อุดมศึกษาไทยอีกแล้ว เมื่อคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ยอมเปิดรายชื่อมหาวิทยาลัยเอกชน 10 แห่ง ใน 98 หลักสูตร แบ่งเป็น หลักสูตรในที่ตั้ง 20 หลักสูตร และหลักสูตรนอกที่ตั้ง 78 หลักสูตร ที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพไม่มีมาตรฐาน 

     ดังนี้ 1.มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, 2.มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ 3.มหาวิทยาลัยปทุมธานี 4.มหาวิทยาลัยพิษณุโลก 5.มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.ปทุมธานี 6.วิทยาลัยทองสุข 7.วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม 8.สถาบันเทคโนโลยีแห่งอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 9.สถาบันรัชต์ภาคย์ และ10.มหาวิทยาลัยราชธานี จ.อุบลราชธานี

     หลังจากที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ออกประกาศคสช.ที่ 2/2559 เรื่องจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีคำสั่งไปแล้ว 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)สุรินทร์ ,มรภ.ชัยภูมิ ,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ต.ตะวันออก และมหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา คราวนี้มาถึง ส่วนม.เอกชน 10 แห่ง ที่ได้รับการร้องเรียนว่าจัดการศึกษาไม่มีคุณภาพนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2559

      โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ เป็นเรื่องอาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ครบตามที่กำหนด และรับนักศึกษาเกินกว่าจำนวนที่แจ้งไว้ ทั้งนี้ ในบางมหาวิทยาลัยแจ้งว่าปิดบางหลักสูตรไปแล้ว แต่เท่าที่มีการตรวจสอบพบว่ายังไม่ได้ปิดจริง แถมมี 1 มหาวิทยาลัย อย่าง มหาวิทยาลัยราชธานี ที่ไม่เคยส่งข้อมูลใดๆมาให้กับทาง สกอ.ดังนั้น กกอ.จึงมีมติให้แจ้งไปยังมหาวิทยาลัยส่งข้อมูลมาให้ เบื้องต้นมหาวิทยาลัยประสานมาว่าจะจัดส่งข้อมูลให้แก่ สกอ.โดยเร็วที่สุด

     ทั้งนี้ หากพิจารณารายชื่อ ม.เอกชน 10 แห่ง เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีการเปิดเผยรายชื่อสถาบันที่เปลี่ยนประเภทมาเป็นมหาวิทยาลัย ไม่เกิน 10 ปี และได้รับการร้องเรียนในเรื่องของคุณภาพมาตรฐาน ล้วนเป็นรายชื่อเดิมๆ อย่าง มหาวิทยาลัยราชธานี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยปทุมธานี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี สถาบันรัชภาคย์ เป็นต้น ซึ่งดูแล้วก็รู้สึกเศร้าแทนอุดมศึกษาไทย นักศึกษาไทยที่ต้องเข้าสู่วงจรวงเวียนของมหาวิทยาลัยขาดความรับผิดชอบ เปิดสอนแต่ปริญญาไร้การรับรอง

     กว่าคนหนึ่งคนจะเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาไทย อาจจะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับครอบครัวฐานะร่ำรวย แต่สำหรับครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง และยากจนแล้วนั้น การเข้าเรียนมหาวิทยาลัย นั้นหมายถึงในเบิกทางสู่อาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง และเป็นความหวังของครอบครัว

     ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการกกอ. กล่าวว่า สกอ.มีแนวทางการดำเนินการกับสถาบันอุดมศึกษาที่มีปัญหา โดยต้องดำเนินการตามลำดับขั้นตอน ตั้งแต่การแก้ไขหลักสูตร มหาวิทยาลัยจะต้องส่งแผนและเข้ามาชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหา ปรับปรุงหลักสูตร

      ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาทั้งหมด มีเฉพาะบางหลักสูตร คาดว่า จะให้เวลาในการปรับปรุงการเรียนการสอน เป็นเวลา 1 ภาคเรียน หรือประมาณ 6 เดือน

     “หากไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ก็จะต้องดำเนินตามมาตรการต่อไป อาทิ ให้งดรับนักศึกษาในหลักสูตรที่มีปัญหา และเยียวยานักศึกษาที่เหลือให้ได้รับการศึกษาตามหลักเกณฑ์ที่ สกอ.กำหนด แต่หากแก้ไขไม่ได้ก็จะต้องให้สถาบันอุดมศึกษางดรับนักศึกษา ปิดคณะ หรือ ปิดสถาบันอุดมศึกษา”ดร.สุภัทร กล่าว

   อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ใช้อำนาจมาตรา 24 วรรค (5) เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิของบุคคลทั่วไป ในการนี้ จะระบุชื่อสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วยก็ได้ ของพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2550

     นักศึกษาสามารถตรวจสอบรายชื่อดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการเลือกที่เรียน โดยจะนำรายชื่อหลักสูตรที่ไม่รับทราบแจ้งให้นักศึกษารับทราบทางเว็บไซต์ของ สกอ.http://www.mua.go.th/ohec/ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ