Lifestyle

มจธ.รองรับอุตสาหกรรมระบบราง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มจธ.พร้อมให้บริการห้องทดสอบระบบรางครบวงจร ตั้งเป้าตามมาตรฐานสากล

       อุตสาหกรรมการขนส่งด้วยระบบรางในอนาคต จะมีอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้น จากนโยบายภาครัฐที่ตั้งเป้าพัฒนาด้านระบบขนส่งทางราง เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ เป็นหนึ่งส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 อาทิ การวางระบบรถไฟทางคู่ และ ระบบรถไฟความเร็วสูง มจธ.จัดตั้งห้องทดสอบระบบรางตามมาตรฐานสากล เพื่อรองรับอุตสาหกรรม มุ่งมั่นทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง
         รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิศวกรรมงานเชื่อม หรือ KMUTT’S Welding Research and Consulting Center (KINGWELD) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า “ปัจจุบันมีความต้องการซ่อมบำรุงเกี่ยวกับระบบรางรถไฟเป็นจำนวนมาก เนื่องจากระบบรถไฟของประเทศไทยใช้งานมาหลายสิบปี งานระบบราง (Trackworks) เช่น หมอนรองรางรถไฟ แต่เดิมเป็นหมอนไม้ ปัจจุบันเปลี่ยนก็ได้เป็นหมอนคอนกรีต

มจธ.รองรับอุตสาหกรรมระบบราง
       

       KINGWELD ได้ให้บริการทดสอบวัสดุทางกลทั่วไปตั้งแต่ประมาณ 10 ปีก่อน ในปัจจุบันเริ่มให้บริการงานทดสอบชิ้นส่วนต่างๆของระบบราง เช่น หมอนคอนกรีต ที่จากเดิมจะต้องส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศ ทั้งที่งานมาตรฐานงานของระบบราง และมาตรฐานการทดสอบของระบบราง ที่เป็นงานวิศวกรรมที่คนไทยสามารถทำได้ KINGWELD จึงจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบระบบราง ผู้ประกอบการสามารถนำงานมาทดสอบที่มหาวิทยาลัย หรือขอคำปรึกษาทีมวิจัยเพื่อออกแบบสร้างอุปกรณ์ทดสอบติดตั้งไว้ที่โรงงานผลิต

        พร้อมทั้ง จัดส่งวิศวกรจากมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการทดสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่ส่งมอบนั้นมีคุณภาพหรือไม่ ปัจจุบัน KINGWELD มีความสามารถให้บริการทดสอบหมอนคอนกรีตสำหรับระบบรางได้เกือบครบทุกหัวข้อ รวมทั้งการทดสอบชิ้นส่วนรางรถไฟ ตามมาตรฐานงานเชื่อมต่อระบบราง อาทิ Flash Butt Welding, Thermit Welding มาตรฐานเครื่องยึดเหนี่ยวราง ทดสอบความต้านทานไฟฟ้า ถือได้ว่า KINGWELD สามารถรับงานทดสอบได้ครอบคลุมทั้งระบบราง

มจธ.รองรับอุตสาหกรรมระบบราง

      โดยทางมหาวิทยาลัยจะออกใบรับรองให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบ ผู้ประกอบการที่นำชิ้นส่วนระบบรางมาทดสอบมีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการจากประเทศออสเตรเลีย ที่ผลิตชิ้นงานในไทย โดยส่งวิศวกรมาสังเกตการณ์งานทดสอบของศูนย์ฯ สอดรับกับนโยบายแห่งชาติของรัฐบาลที่สนับสนุนเรื่องการขนส่งระบบรางภายในประเทศ ในอนาคตศูนย์ตั้งเป้าหมายว่าจะตั้งห้องปฏิบัติการที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับรองรับอุตสาหกรรมด้านนี้ เพื่อให้บริการ ทดสอบมาตรฐาน พัฒนาบุคลากร งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งราง และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อผลิตได้เอง เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังต้องซื้อเทคโนโลยีเหล่านี้จากต่างประเทศ 
        KINGWELD ได้ให้บริการด้านวิชาการเรื่องการซ่อมบำรุง กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รถไฟฟ้าบีทีเอส และแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ เป็นต้น

มจธ.รองรับอุตสาหกรรมระบบราง
       

       ด้านงานพัฒนาบุคลากร ศูนย์มีหลักสูตรพัฒนาวิศวกร ตั้งแต่ระดับช่าง วิศวกรด้านการซ่อมบำรุงเรื่องระบบรางในบางหลักสูตร นอกจากนี้ยังมีคณะและภาควิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ที่มีหลักสูตรพัฒนาบุคลากรด้านระบบรางด้วย มหาวิทยาลัยอยู่ในระหว่างการจัดตั้งกลุ่มคลัสเตอร์ระบบราง ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์วิจัยและบริการวิศวกรรมงานเชื่อม ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เพื่อให้บริการทางวิชาการ วิจัยและพัฒนาระบบรางครอบคลุมได้ทุกเรื่อง
        ระบบขนส่ง (โลจิสติกส์) ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ ระบบราง เพราะรวดเร็ว ปลอดภัย ค่าขนส่งถูก หากระบบขนส่งรางในประเทศพัฒนาและได้มาตรฐาน ในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยอาจจะเป็นศูนย์กลางในการขนส่งของอาเซียน 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ