Lifestyle

คมนาคมไทย เอื้อผู้พิการ แค่40%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  เผยคมนาคมไทย เอื้อบริการผู้พิการแค่ 40%  ลิฟท์ บันไดเลื่อน พื้นที่ทางราบ  ล้วนไม่เอื้อต่อการเดินทาง ฝากรัฐสนับสนุนคมนาคมขนส่งเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง

 

      "เมื่อรถไฟฟ้าเป็นโอกาส ทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึง" คงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ และไม่ใช่เพียงหน้าที่ของผู้พิการที่ต้องออกมาร้องถาม หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งต้องรับผิดชอบเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน 

     นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต จึงจัดเสวนาร่วมหาคำตอบ  สร้างการรับรู้ให้กับคนรุ่นใหม่และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน 

    ณิชชารีย์ เป็นเอกธนะศักดิ์  วิทยากรผู้สร้างแรงบันดาลใจ กล่าวว่า เธอไม่ได้พิการแต่กำเนิด แต่ประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถไฟฟ้าที่ต่างประเทศ ทำให้ต้องสูญเสียขา ทำให้เข้าใจและเห็นมุมมองทั้งผู้พิการและคนปกติ โดยก่อนหน้านี้ ไม่ได้สังเกตว่าผู้พิการจะใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างไร  ไม่ได้ใช้ใจ หรือสายตามอง แต่พอพิการและต้องใช้ระบบการขนส่ง กลับเห็นข้อบกพร่องหลายด้าน

      เช่น บันไดเลื่อนขึ้นแต่ไม่มีบันไดเลื่อนลง บางสถานีมีลิฟท์ บางสถานีไม่มี  พื้นที่ข้างล่าง อย่างฟุตบาท ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทาง เป็นต้น ซ่งหากให้สิทธิผู้พิการได้ใช้บริการ BTS  ฟรีได้ ก็ควรช่วยเหลือด้านอื่น ๆเพิ่มเติมด้วย  

     มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อนสิทธิผู้พิการ เครือข่ายขนส่งมวลชน ทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า ผู้พิการที่นั่งรถวิลแชร์ เจอปัญหาระบบการขนส่งต่างๆมากมาย ตั้งแต่ออกจากบ้าน ผู้พิการไม่สามารถใช้บริการรถเมล์สาธารณะได้ ต้องใช้แท็กซี่ ซึ่งก็ไม่ค่อยรับผู้พิการ

       แต่ผู้พิการก็ไม่มีทางเลือกต้องใช้บริการ เสียค่าใช้จ่ายวันละ 300 บาท อย่างต่ำ  พอจะมาใช้บริการ BTS ไม่ได้สะดวกหรือเอื้อต่อการเดินทางของผู้พิการอย่างแท้จริง  ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง เรามีลิฟท์ มีทางราบ แต่ก็ไม่อำนวย 

      "ผู้พิการมีความหลากหลาย บางคนมาจากครอบครัวที่ช่วยสนับสนุนได้เต็มที่ ขณะที่บางครอบครัวก็ไม่สามารถช่วยสนับสนุนผู้พิการได้  โอกาสย่อมต่างกัน ดังนั้น  หน้าที่ทุกคน ต้องช่วยสนับสนุน คนที่อ่อนแอกว่าให้แข็งแรง
ขึ้นมาในระดับที่ดีขึ้น หากผู้พิการยังต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อการเดินทาง  เหลือเงินเดือนเพียงนิดเดียว แล้วจะทำให้ผู้พิการได้พัฒนาตนเองอย่างไร"มานิตย์ กล่าว

      อย่างไรก็ตาม ระบบการขนส่งในไทย ไม่ได้สนับสนุนคนพิการเท่าที่ควร รถไฟฟ้าเส้นใหม่ๆ มีการช่วยเหลือผู้พิการ มากขึ้น แต่ยังไม่มากพอ มีเพียง 40%เท่านั้น 

      ระบบการคมนาคมขนส่งเพื่อทุกคน ตอนนี้มีนโยบายชัดเจน แต่ระดับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการบริการที่เข้าถึงทุกคนจริงๆ โดยเฉพาะผู้พิการ
      เพราะอนาคตไม่มีใครรู้ว่าจะมีผู้พิการเพิ่มจำนวนมากน้อยขนาดไหน และไม่มีใครรู้ว่า วันหนึ่งตนเองจะเป็นผู้พิการหรือไม่ ขณะเดียวกัน ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเดินทางจะช่วยสร้างโอกาส ทั้งการศึกษา การใช้ชีวิต การทำงาน แก่ทุกคนได้จริงๆ แต่คงไม่เพียงพอ

     "คนปกติ ไม่รู้หรอกว่าคนพิการใช้ชีวิตอย่างไร แต่ถ้าวันหนึ่งมีโอกาสเรียนรู้โลกของผู้พิการอาจทำให้ได้รับมุมมองดีๆ" 
      ฐานิดา เก้ากิตติ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ตอนแรกที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอวัยวะที่ 33 กับการเดินทางของชีวิต  เธอรู้สึกเพียงว่าผู้พิการคงใช้ชีวิตได้จากระบบอำนวยความสะดวก การเข้าถึงการบริการขนส่งต่างๆ

      แต่เมื่อได้มาสังเกตการณ์ ได้เห็นการใช้ชีวิต การเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะ ทำให้เข้าอกเข้าใจ และรู้ถึงความรู้สึกของผู้พิการว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างลำบากมาก เพราะบางทีจุดเล็กๆ ที่เราเห็น เช่น ไม่มีบันไดเลื่อน ไม่มีลิฟท์ เราก็มองว่า ไปทางอื่นได้

     แต่สำหรับผู้พิการ นั่นหมายถึง การใช้ความพยายามในการเดินทางมากขึ้นไปอีก ทั้งทีตอนนี้ ทุกอย่างดูจะสะดวก เข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนปกติ กลับพบว่าไม่ได้ง่ายเลยสำหรับผู้พิการ 
     "อยากให้ทุกคนเข้าใจผู้พิการ และร่วมเป็นกระบอกเสียง หรือนึกถึงใจเขาใจเรา เพราะคงไม่มีใครเลือกเกิดได้ แต่สังคมที่มีเทคโนโลยี ความก้าวหน้า และการหยิบยื่นสิ่งดี ต่อกันคงไม่ใช่เรื่องยาก "น.ส.ฐานิดา กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ