Lifestyle

หิน 216 ตย.จากขั้วโลก ชี้ทิศทางโลกอนาคต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักธรณีวิทยาของไทย จากมก.เผยพบหินแร่ หินแปร 216 ตัวอย่าง จากทวีปแอนตาร์กติก บ่งชี้ถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกและสิ่งแวดล้อมในอนาคต

       "หากสามารถสนับสนุนให้นักวิจัยไทยได้เดินทางไปทำงานวิจัยที่ขั้วโลกใต้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะยังประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ"พระราชดำริฯสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

        โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้มีการส่งนักวิทยาศาสตร์ไทยไปร่วมวิจัยที่ขั้วโลกใต้กับคณะสำรวจแอนตาร์กติกของประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) หนึ่งในหลายมหาวิทยาลัยไทยได้สานต่อการเข้าร่วมทีมสำรวจวิจัยอย่างต่อเนื่อง

         ดร.ประหยัด นันทศีล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มก. ที่ได้รับคัดเลือกให้ไปร่วมทีมสำรวจทวีปแอนตาร์กติก ของประเทศญี่ปุ่น ในปี 2559-2560 ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.2559-22มี.ค.2560 กล่าวว่าได้เก็บตัวอย่างหินจำนวนทั้งสิ้น 216 ตัวอย่าง ซึ่งมีน้ำหนักรวมกัน 281 กิโลกรรม เพื่อนำมาวิเคราะห์ที่มก.และเครือข่ายวิจัยในประเทศญี่ปุ่นและยุโรปต่อไป รวมถึงวางแผนให้นิสิตระดับปริญญาโท-เอก ด้านธรณีวิทยา ร่วมศึกษาวิจัย เพื่อสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่รองรับนวัตกรรมวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย

        ตัวอย่างหินทั้งหมดที่  "ดร.ประหยัด" เก็บมามีความหลากหลาย ทั้งแง่ของธรณีประวัติ นั่นคือ หินที่มีแร่ที่สามารถบันทึกเวลาได้ดีอยู่ร่วมกับแร่ที่สามารถบันทึกสภาวะของการแปรสภาพได้อย่างดี เช่น แร่เซอร์คอน แร่ไบโอไทต์ และแร่โมนาไซต์ เป็นแร่ที่มีธาตุกัมมันตรังสีในปริมาณที่พอเหมาะต่อการใช้หาอายุของเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาในอดีต  รวมถึงการบันทึกสภาวะอุณหภูมิและความดันขณะเกิดการชนกัน  หรือขณะที่หินถูกยกตัวขึ้นมาจากใต้เลือกโลกถึงผิวโลก เช่น แร่การ์เน็ต แร่ไพรอกซีน แร่แอมฟิโบล แร่ไบโอไทต์ แร่แซฟฟิรีน และแร่แพลจิโอเคลสเฟลด์สปาร์ เป็นต้น 

         "การวิจัยครั้งนี้ ทำให้เข้าใจเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาที่เคยเกิดมาแล้วในอดีตหลายร้อยหลายปีถึงหลายพันล้านปี มีเหตุการณ์เกิดขึ้นกี่ครั้งและแต่ละครั้งรุนแรงมากน้อยแค่ไหน  ศึกษาความเป็นมาในอดีตและสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของแอนตาร์กติกาเพื่อที่จะทำนายแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาการและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์หรือมนุษย์ รวมถึงยังได้พบตัวอย่างหินแปรที่เป็นแหล่งกำเนิดของพลอย ไพลินและทับทิม ซึ่งผลจากการศึกษาตัวอย่างสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางเศรษฐกิจได้ เช่น ช่วยทำให้เข้วใจการเกิดและประเมินศักภาพของแหล่งพลอยในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักที่ป้อนให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีในประเทศไทยได้ เนื่องจากทวีปแอฟริกาและแอนตาร์กติกเคยอยู่ร่วมกันเป็นทวีปเดียวกันมาก่อน" ดร.ประหยัด กล่าว 

         การไปเยือน "ขั้วโลกใต้" ดูจะไม่ไกลเกินฝัน ดร.ประหยัด กล่าวทิ้งท้ายว่า จริงๆแล้วซึ่งที่นักวิจัยศึกษา ล้วนมีจุดหมายเดียวกัน คือการทำความเข้าใจเรื่องทีเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นอยู่ และทำนายอนาคตว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ตอนนี้สิ่งที่เห็นชัด คือ สภาพอากาศที่มีทั้งแง่ดี และแง่ไม่ดี ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตของผู้คน ที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ