Lifestyle

เชื่อ...ครุศาสตร์ไม่ตาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วรัชญ์" นักวิชาการนิด้า โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวสะท้อนมุมมองประเด็นการเปิดให้คนจบสายอื่นสอบบรรจุครูได้ คาดกลุ่มอ.มหาวิทยาลัยบางคนไปสมัครสอบ เชื่อครุศาสตร์ไม่ตาย

      แม้จะพ้นสัปดาห์มาแล้วแต่ความเคลื่อนไหวของคนในแวดวงวิชาชีพครู ทั้งจากนักวิชาการจากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ในฐานะผู้ผลิต กระทั่งครูในรั้วโรงเรียน ที่ไม่มีใครเห็นดีเห็นงามนัก กับมติคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่ง เปิดโอกาสให้ผู้ที่จบปริญญาตรีทุกสาขา สามารถสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังปรากฎให้เห็นต่อเนื่อง

      ขณะที่ในโซเชียลมีเดีย เป็นอีกพื้นที่ที่มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างหลากหลาย อย่าง ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ “Warat Karuchit” ว่า เห็นโพสต์หนึ่งในกลุ่มเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัยถามว่า "อจ มหาวิทยาลัย ท่านใดจะสอบครูผู้ช่วยบ้าง" คำตอบหนึ่งคือ "สอบแน่นอนครับเพราะเป็นข้าราชการมีความมั่นคงกว่า ส่วนอาจารย์มหาลัยไม่มีความมั่นคง เล่นพรรคพวก ไม่มีความยุติธรรม แค่ลูกจ้างเท่านั้นจะไม่ต่อสัญญาเมื่อไรก็ได้ ปีหนึ่งอาจารย์ลาออกไปเรื่อยๆ นักศึกษาจะได้รับความรู้ไม่เต็มที่ ฝากผู้บริหารศึกษาดูด้วยว่าทำไมการศึกษาไทยถึงตกต่ำครับ"

เชื่อ...ครุศาสตร์ไม่ตาย          นอกจากนี้ ก่อนหน้า ผศ.ดร.วรัชญ์ ยังโพสต์ถึงประเด็นการเปิดให้คนจบสายอื่นสอบบรรจุครูได้ ดังนี้ ไม่แน่ใจว่าสายวิชาชีพอื่น เช่น แพทย์ ทนายทำได้หรือไม่ แต่สื่อสารมวลชนไม่เคยปิดกั้น พร้อมตั้งคำถามว่า จะแก้ปัญหาครูสายวิทย์ขาดแคลนอย่างไรถ้าไม่ปรับนโยบาย รวมถึงระบุเคยได้ยินแต่ว่าในต่างประเทศรู้ว่าต้องมีใบอนุญาตในการเป็นครู แต่ไม่เคยได้ยินว่าต้องจบสาขาครุศาสตร์ ซึ่งคนเรียนครูก็ไม่ได้การันตีความเป็นครู ส่วนคนไม่ได้จบครุศาสตร์ ก็สามารถเป็นครูที่ดี มีจิตวิญญาณครูได้ เช่น ครูดีๆเก่งๆในมหาวิทยาลัย หรือในโรงเรียนเอกชน อาจต้องใช้เวลาปรับจูนหน่อย แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าคนเรียนครูที่ไม่มีใจ หรือไม่รู้จะเรียนอะไร ไม่มีความสามารถ ไม่เหมาะเป็นครู แต่จบแล้วก็ต้องออกไปเป็นครูอยู่ดี (ไม่ได้เหมาว่าคนเรียนครูนะครับ แม่ผมก็เรียนจบคณะครุศาสตร์ครับ)

เชื่อ...ครุศาสตร์ไม่ตาย

        ทั้งนี้ ผศ.ดร.วรัชญ์ ระบุด้วยว่า ผมก็ไม่เชื่อว่าสาขาครุศาสตร์จะตาย แต่ต้องปรับตัวในการเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้สำคัญสำหรับการเป็นครู ที่จะทำให้สอบได้มากกว่าคนสายอื่น ซึ่งข้อสอบก็ต้องสะท้อนด้วย เช่น ความสามารถในการถ่ายทอด การคิดอย่างมีวิจารณญาณ รวมทั้งการบริหารสถานศึกษา การทำวิจัยทางการศึกษาต่างๆ (ที่ไม่เกี่ยวกับการสอบเป็นครู) ผมว่าอาจเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยซ้ำ ในการที่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะปรับตัวให้ทันสมัยขึ้น เพราะเท่าที่เป็น เป็นคณะหนึ่งที่มีการปรับตัวน้อย ในขณะที่คณะอื่น อย่างนิเทศฯนี่บางสาขาไม่ได้เรียกว่าปรับแล้ว แต่เรียกว่ารื้อเลย

        สำหรับประเด็นการสอบ ผศ.ดร.วรัชญ์ ระบุไว้ว่า การสอบ เข้าใจว่าไม่ใช่สอบได้แล้วเป็นครูได้เลย ยังเป็นแค่ครูผู้ช่วย ต้องไปฝึกอะไรอีกจนกว่าจะบรรจุจริง ซึ่งระหว่างนั้นถ้าคนสาขาอื่นเข้ามาแล้วเห็นแววไม่ดี ไม่เหมาะกับตัวเอง ก็ออกไปเอง หรืออาจถูกประเมินไม่ผ่านก็ได้ ส่วนนศ.ที่เรียนไปแล้ว จะหมดกำลังใจมั้ย ผมว่าสามารถมีวิธีการได้เยอะแยะที่จะช่วยเหลือ เช่นเปิดโอกาสให้สอบได้ตั้งแต่จบปี 4 ก็ได้ หากได้แล้วก็รอบรรจุหลังเรียนครบ 5 ปี หากไม่ได้ปี 5 ก็สอบได้อีก และใครเรียน 5 ปี อาจจะได้ waive อะไรบางอย่างที่เรียนไปแล้วหลังสอบได้แล้ว

เชื่อ...ครุศาสตร์ไม่ตาย

         เพื่อนผมที่เป็นครูวิทยาศาสตร์ที่ ตจว. เล่าให้ฟังว่า ครูฟิสิกส์ที่ รร.ลาออกไป แล้วรอนานมากเพราะหาครูสอนฟิสิกส์ไม่ได้เลย ตัวเองสอนเคมีก็ต้องไปช่วยสอนฟิสิกส์ จนกระทั่ง ผอ.จะหาครูคนนึงให้ทำเรื่องย้ายเข้ามา ก็เอาอกเอาใจกันมาก พอมาถึงแล้วกลายเป็นคนที่นิสัยไม่ดี เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ตั้งใจสอน เพราะเห็นว่าตัวเองสำคัญ ก่อเรื่องมากมาย จนสุดท้ายครูในหมวดทนไม่ไหวต้องให้ผอ.จัดการทำเรื่องให้ย้ายออกไป ที่เล่ามาจะบอกว่า ได้รับการบอกเล่ามาว่า ครูทางวิทยาศาสตร์หายากจริงๆ

      ส่วนครูภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นวิชาที่สำคัญมาก บอกตรงๆว่าเท่าที่เห็นมา เจอครูภาษาอังกฤษที่สำเนียงดี น้อยมาก ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ หากได้ครูที่เรียนมาทางเอกภาษาอังกฤษโดยตรงน่าจะได้ครูที่มีระดับภาษาอังกฤษดีขึ้น ซึ่งในตรรกะเดียวกัน สมมติคนจบโบราณคดีมา อาจมีเทคนิคในการสอนน้อยกว่าคนจบครู แต่อาจรู้ลึกรู้จริง มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในการเล่าให้เด็กฟัง ให้เด็กหัดคิดว่าทำไมอะไรถึงเป็นอย่างนี้ ถ้าพม่าชนะตอนนี้ไทยจะเป็นยังไง ไม่ใช่เพียงแค่ประวัติศาสตร์แบบเดิมๆที่สอนกันมา และวิชาอื่นๆก็เหมือนกัน เลข ดนตรี ศิลปะ คอม ฯลฯ แบบนี้จะยิ่งเคี่ยวช่วยดึงศักยภาพเด็ก Gifted ให้มากขึ้นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะช้างเผือกในต่างจังหวัด

เชื่อ...ครุศาสตร์ไม่ตาย

      และไม่ใช่ว่าพอเปิดแล้ว จะมีใครที่ไหนไม่รู้แห่มาสมัครเป็นครูกันหมด ซึ่งมันก็ต้องสอบอยู่ดี แต่กลุ่มหนึ่งที่ผมเห็นว่าสนใจจะสมัคร ก็คือ อ.มหาลัยนี่แหละครับ ที่ปัจจุบันเป็นลูกจ้าง (พนักงานมหาลัย) ที่ต้องการหาความมั่นคงในตำแหน่งข้าราชการ ดังนั้น "คนนอก" ส่วนหนึ่งที่จะได้มา ก็อาจจะเป็นคนที่ประสบการณ์สอนมาแล้วหลายปียิ่งกว่าคนเพิ่งจบครูเสียอีก ส่วนคนที่สงสัยว่า อ.มหาลัยจะทนเด็กนร.ได้เหรอ ผมว่าเด็กป.ตรีหลายคน น่าจะยิ่งน่า...มากกว่าเด็กนักเรียนอีกนะครับ 555

      เหตุผลสุดท้าย เอาแบบง่ายๆเลยคือ การศึกษาไทยตกต่ำลงทุกวัน ในขณะที่รร.กวดวิชารวยเอาๆ มันคงต้องเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างนะครับ และเชื่อว่า "คุณภาพครู" คือหัวใจของคุณภาพนักเรียน การมีตัวเลือกมากขึ้น ตาม common sense แล้ว ก็น่าจะทำให้มีโอกาสได้คนที่ดีขึ้นใช่มั้ยครับ

        เท่าที่เขียนมา เป็นความเห็นส่วนตัวในฐานะครูคนหนึ่งเหมือนกัน เพียงแต่อาจไม่ได้เป็นครูสอนในโรงเรียน ท่านใดไม่เห็นด้วย หรือผมเข้าใจอะไรผิด ก็ช่วยกรุณาชี้แนะ อภิปรายกันได้ครับ

เชื่อ...ครุศาสตร์ไม่ตาย

ที่มา : เฟซบุ๊ก “Warat Karuchit” 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ