Lifestyle

กฎหมาย"คุมโฆษณานมผง" หมอแบ่ง 2 ฝ่าย พ่อแม่มึน!!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พ่อแม่มึนตึ๊บ...อาหารเด็กเล็ก แพทย์แบ่ง2ฝ่ายจะเชื่อใครดี? 0 พวงชมพู ประเสริฐ รายงาน 0

     นับว่าร่างพรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ... หรือร่างพรบ.โค้ดมิลค์ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สร้างแรงกระเพื่อมในวงวิชาการแพทย์ไม่น้อย ส่งผลให้แพทย์แตกความคิดเห็น 2 ฝ่าย แม้ทั้งหมดจะเห็นด้วยในหลักการของร่างพรบ.นี้ที่มุ่งเน้นควบคุมการส่งเสริมการขายและโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก โดยในนิยามให้ความหมายไว้ว่า อาหารนี้ หมายถึง นมและอาหารอื่นที่เหมาะสมในการใช้เลี้ยงทารกและเด็กเล็ก ส่วนใหญ่จึงครอบคลุมถึง “นมผง”สำหรับเด็กแรกเกิดถึง 3 ปีเป็นหลัก แต่ในประเด็นใหญ่ยังคงมีความเห็นต่าง!!!

      ฝ่ายเครือข่ายกุมารแพทย์ เห็นว่า ไม่ควรควบคุมให้ครอบคลุมถึงอาหารสำหรับเด็กอายุ 3 ปี ขณะที่ฝ่ายเครือข่ายนมแม่ มองว่า ควรควบคุมถึงอายุเด็ก 3 ปี

    เครือข่ายกุมารแพทย์ ยืนยันในหนังสือที่ยืนถึงประธานสนช.เพื่อแสดงข้อกังวลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพรบ.นี้ว่าการควบคุมการตลาดอาหารเด็กเล็กอายุ 1-3 ปี ไม่เกิดผลในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังทำให้พ่อแม่ขาดช่องทางที่จะเข้าถึงข้อมูลอาหารเด็กเล็กที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองในวัยที่สำคัญที่สุด แต่สามารถได้รับข้อมูลของอาหารอื่นๆ ที่ไม่ถูกควบคุมการตลาด ซึ่งอาจเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการด้อยกว่าอาหารที่ถูกควบคุม จึงอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อเด็กและคุณภาพของประชากรไทยในอนาคต

      ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา อดีตประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ในนามเครือข่ายกุมารแพทย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักการของร่างพรบ.นี้ แต่ควรคุมเฉพาะอาหารทารกอายุ 1 ปีเท่านั้น เพราะการควบคุมถึงอาหารสำหรับเด็กเล็กอายุ 3 ปีมองว่าไม่เกิดประโยชน์ในการเพิ่มอัตราการกินนมแม่ อีกทั้ง ในประเทศพัฒนาแล้วทั้งโซนยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น ก็ไม่มีการออกกฎหมายควบคุมลักษณะเช่นนี้ เพราะประชาชนมีความรู้ การที่ประเทศไทยจะออกกฎหมายจะเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลของพ่อแม่

กฎหมาย"คุมโฆษณานมผง" หมอแบ่ง 2 ฝ่าย พ่อแม่มึน!!!

        รวมถึง ยังมีการห้ามบริษัทจัดประชุมอบรมวิชาการแก่แพทย์ด้วย ซึ่งเรื่องของความรู้หากไม่มีการมาพัฒนาให้ทันสมัยก็จะล้าหลังจนตามไม่ทัน แต่การออกมาห้ามเช่นนี้เหมือนดูถูกว่าแพทย์ไม่ฉลาด หรือไม่กลัวว่าแพทย์จะต้องเชื่อข้อมูลจากบริษัทไปเสียหมด ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เพราะแพทย์เองก็ต้องมีการไปค้นคว้าเพิ่มเติม และการออกมาเรียกร้องนี้ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าอยากให้เด็กไทยในอนาคตเจริญเติบโตสมวัยฉลาด ซึ่งหาก พ.ร.บ.ดังกล่าวสามารถทำได้ก็จะไม่คัดค้านแต่อย่างใด

       ขณะที่ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในเรื่องนี้ว่า รู้สึกซาบซึ้งอย่างที่สุดที่กลุ่มกุมารแพทย์มีความเป็นห่วงต่อภาวะโภชนาการและอนาคตของเด็กไทย ในประเด็นสำคัญคือ 1.เกรงว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้เกิดช่องว่างที่พ่อแม่จะเข้าถึงข้อมูลอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและสมองของทารกและเด็กเล็กนั้น แต่มีคำถามต่อท่านว่า ท่านต้องการให้พ่อแม่รับข้อมูลที่โอ้อวดเกินจริง การตลาดที่ไร้จริยธรรมของธุรกิจนมผง แบบลด แลก แจก แถม ล่อลวงให้แม่ที่ไม่มีปัญหาให้นมลูกเข้าใจผิด หลงไปใช้นมผงแบบเดิมอีกใช่หรือไม่

      2.ท่านเป็นห่วงว่า พ่อแม่อาจได้ข้อมูลอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเด็กเล็ก โดยที่อาหารเหล่านั้นไม่ถูกควบคุมตามกฎหมาย จึงมีคำถามต่อท่านว่า "ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่มีข้อตกลงในการปฏิบัติระหว่าง สธ.กับสมาคมธุรกิจนมผง (Code of marketing for breastmilk substitutes) ที่ไทยรับคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกมาปฏิบัติ แต่ไม่มีบทลงโทษนั้น ท่านและราชวิทยาลัยกุมารฯ และแพทยสภา เคยออกมาทักท้วงการละเมิดข้อตกลง Code ของธุรกิจนมผงหรือไม่ อย่างไร ท่านมีส่วนทำให้เด็กไทยเสียโอกาสได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่ธรรมชาติมอบให้ผ่านนมแม่หรือไม่

กฎหมาย"คุมโฆษณานมผง" หมอแบ่ง 2 ฝ่าย พ่อแม่มึน!!!

 

สาระสำคัญร่างพรบ.โค้ดมิลค์

มาตรา 3 กำหนดว่า อาหารทารกและเด็กเล็ก หมายความถึง นมหรืออาหารอื่นที่มีส่วนประกอบที่เหมาะสมและเพียงพอที่ใช้เลี้ยงเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปี

มาตรา 14 ห้ามผู้ใดโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก

มาตรา 17 ห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายอาหารทารกและเด็กเล็กหรือตัวแทนส่งเสริมการตลาดด้วยการลด แลก แจก แถมและห้ามติดต่อหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่มีบุตรที่เป็นทารกหรือเด็กเล็กไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

มาตรา 22 ห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายหรือตัวแทนบริจาคอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กให้แก่หน่วยบริการสาธารณสุขหรือบุคลากรด้านสาธารณสุข เว้นแต่การบริจาคที่มีวัตถุประสงค์พิเศษเพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรคหรือผู้ที่มีความผิดปกติของร่างกายและการบริจาคในกรณีจำเป็นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง

ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 17 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท

ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 22 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

 

โฆษณานมผงแบบข้ามผลิตภัณฑ์

  เคยมีการเปิดเผยของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยว่าผู้ประกอบการนมเด็กจะใช้งบประมาณในการโฆษณาเฉลี่ยปีละ ประมาณ 10,000-12,000 ล้านบาท ผ่านสื่อต่างๆ

        นายบวรสรรค์ เจี่ยดำรง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีบอกว่า มูลค่าทางการตลาดของธุรกิจนมผงอยู่ที่ 25,000ล้านบาท มีผู้ผลิตรายใหญ่ 7บริษัท จากการศึกษาและติดตามกลยุทธ์ทางการตลาด พบว่ามีการใช้ 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.การโฆษณา ผ่านสื่อต่างๆ 2. การส่งเสริมการขายลด แลก แจก แถม 3. การตลาดทางตรง โดยติดต่อตัวคุณแม่โดยตรง ผ่านการจัดกิงานต่างๆ มีข้อมูลว่ามีการใช้งบประมาณจัดงานในห้างใหญ่ๆประมาณ 100 ล้านบาทต่อครั้ง 4. การตลาดทางอินเตอร์เน็ต ถือเป็นการตลาดทางตรงยิ่งกว่าทางตรง เพราะสื่อสารกับคุณแม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดความภักดีในยี่ห้อสินค้า และการตลาดผ่านโทรศัพท์มือถือและแอพลิเคชั่น เฉลี่ย 3 โพสต์ต่อวันเป็นอย่างน้อย และ 30 โพสต์ต่อวันต่อ 1 ยี่ห้อ เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการตลาด เชิญชวนร่วมกิจกรรม เคล็ดลับการดูแลสุขภาพคุณแม่ การดูแลลูกและโภชนาการ

     “มีการโฆษณาหรือส่งเสริมการตลาดแบบข้ามผลิตภัณฑ์(Cross Promotion) คือ มีการโฆษณานมผงสูตร 3 ที่เป็นสูตรสำหรับเด็ก1ปีขึ้นไปและทุกคนในครอบครัว ซึ่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ไม่ได้ห้ามโฆษณา แต่มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์และสัญลักษณ์ให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับนมสูตร 1 สำหรับทารก 0-12 เดือนและนมสูตร 2 สำหรับเด็ก 6 เดือน- 3 ปี ซึ่งประกาศอย.ห้ามโฆษณา เมื่อเป็นเช่นนี้จะส่งผลต่อคุณแม่เวลาไปเลือกซื้อ เมื่อเห็นนมสูตร 1,2 ที่มีสัญลักษณ์คล้ายสูตร 3ที่เห็ฯทางโฆษณาก็จะเลือกซื้อนมสูตร1,2นั้นด้วย ทั้งที่ไม่ได้โฆษณานมสูตรนี้โดยตรง”นายบวรสรรค์กล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ