Lifestyle

5 เรื่องแชร์โซเชียลฯ อย.บอก“ไม่จริ๊ง” อย่าหลงเชื่อ!!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“คม ชัด ลึก” รวบรวม 5 เรื่องที่มีการส่งต่อกันในโซเชียลมีเดียและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ออกมาให้ข้อมูลว่าไม่เป็นความจริง 

    มีการส่งข้อมูลและสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์หรือดซเชียลมีเดียจำนวนมากมาย หากประชาชนไม่ตรวจสอบแต่หลงเชื่อแบบง่ายๆก็จะนำมาสู่อันตรายที่เกิดขึ้นกับร่างกาย “คม ชัด ลึก” รวบรวม 5 เรื่องที่มีการส่งต่อกันในโซเชียลมีเดียและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ออกมาให้ข้อมูลว่าไม่เป็นความจริง 

      1. จุลชีพกำจัดเซลล์มะเร็ง  มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงว่า สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ด้วยการใช้จุลชีพกำจัดเซลล์มะเร็ง  อย.ได้ทำการตรวจสอบพบว่า ไม่มีข้อมูลการขึ้นทะเบียนยาทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ รวมทั้งไม่พบข้อมูลการอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกด้วย นอกจากนี้ข้อความโฆษณาอาหารที่มีการอวดอ้างสรรพคุณในทางยาหรืออวดสรรพคุณในการป้องกัน บำบัด บรรเทาหรือรักษาโรคนั้น อย. ไม่อนุญาตให้โฆษณาแต่อย่างใด ฉะนั้น อย่าหลงเชื่อ และอย่าส่งต่อข้อความโฆษณาเกินจริงนี้ เพราะอาจมีผิดฐานโฆษณาเกินจริงได้

5 เรื่องแชร์โซเชียลฯ อย.บอก“ไม่จริ๊ง” อย่าหลงเชื่อ!!!

    2.แผ่นหยกขับสารพิษ จากข้อความโฆษณาทางสื่อออนไลน์ของผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ “แผ่นหยกให้ความร้อน” ที่อ้างสรรพคุณว่า สามารถช่วยเร่งการขับสารพิษหรือของเสียออกจากร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบต่าง ๆ เช่น ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ สามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต หรือโรคมะเร็ง นั้น ล้วนเป็นข้อความโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทั้งสิ้น

    จากฐานข้อมูลการขออนุญาตด้านเครื่องมือแพทย์จาก อย. เกี่ยวกับแผ่นหยกให้ความร้อน ไม่พบข้อมูลที่มีสรรพคุณหรือข้อบ่งใช้และประโยชน์ใด ๆ เหมือนที่โฆษณากล่าวอ้าง ที่สำคัญ หากซื้อมาใช้โดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้แผ่นหยกให้ความร้อนอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงจากผลของความร้อนโดยคาดไม่ถึง เช่น กระตุ้นให้ภาวะของโรครุนแรงมากขึ้น และยังอาจเกิดอันตรายร้ายแรงจากผลของกระแสไฟฟ้าดูดจากไฟรั่ว หรือไฟฟ้าลัดวงจรการเกิดเพลิงไหม้ หรือการเกิดอันตรายที่เกิดจากการใช้อย่างผิดวิธี ตลอดจนเกิดภาวะผื่นแดงหรืออาการแพ้ต่าง ๆ ได้

5 เรื่องแชร์โซเชียลฯ อย.บอก“ไม่จริ๊ง” อย่าหลงเชื่อ!!!

   3.สมุนไพรมาเมะ จากกรณีที่มีการแอบอ้างชื่อกระทรวงสาธารณสุข เพื่อโฆษณาหลอกขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรสลายไขมันยี่ห้อ “มาเมะ” ทางสื่อโซเชียลมีเดีย นั้น ถือว่าเข้าข่ายโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง นอกจากนี้ อย.ได้ตรวจสอบพบว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสลายไขมัน “มาเมะ” ไม่ได้ขออนุญาตกับ อย. และแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการแอบอ้างชื่อกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้ชื่อเพจว่า “สมุนไพรสลายไขมัน ของแท้จากกระทรวงสาธารณสุข” และการอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถลดน้ำหนักได้นั้นถือเป็นการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง

5 เรื่องแชร์โซเชียลฯ อย.บอก“ไม่จริ๊ง” อย่าหลงเชื่อ!!!

     4.กระชาย น้ำผึ้งและมะนาวบำรุงกระดูก-ปรับสมดุลเลือด  จากข้อมูลข่าวแชร์ที่ว่าน้ำกระชายปั่นผสมกับน้ำผึ้งและมะนาวมีสรรพคุณบำรุงกระดูก ปรับสมดุลเลือดได้นั้น ณ ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดๆมารองรับผลการรักษาดังกล่าว จึงไม่ใช่ข้อมูลที่ควรนำไปแชร์ต่อเพราะอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้

        ทั้งนี้กระชายมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งช่วยขับลม ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้จุกเสียด จึงสามารถนำมาประกอบอาหารเพื่อให้ได้รับประโยชน์ดังกล่าวได้

5 เรื่องแชร์โซเชียลฯ อย.บอก“ไม่จริ๊ง” อย่าหลงเชื่อ!!!

      และ5.มะนาวและเกลือถูหน้าผากบรรเทาไมเกรน จากข้อมูลที่แชร์ในโลกออนไลน์ที่ให้นำมะนาวและเกลือมาถูหน้าผากเพื่อบรรเทาอาการไมเกรนนั้นไม่เป็นความจริง!!!เพราะการนำมะนาวหรือน้ำมะนาวหรือเกลือมาถูบริเวณหน้าผากนั้น ไม่สามารถทำให้เกิดการดูดซึมสารใดๆที่เป็นประโยชน์ในการบรรเทาอาการปวดไมเกรนเข้าสู่ร่างกายและอาจเกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังจากความเป็นกรดอ่อนๆของมะนาวได้

5 เรื่องแชร์โซเชียลฯ อย.บอก“ไม่จริ๊ง” อย่าหลงเชื่อ!!!

     แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าไมเกรนนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร อาจจะเกิดจากความผิดปกติที่ระดับสารเคมีในสมอง การสื่อประสาทในสมอง หรือการทำงานที่ผิดปกติของหลอดเลือดสมองก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามควรจะไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสอบอย่างละเอียดและได้รับการรักษาที่ถูกต้องและปลอดภัย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ