Lifestyle

คนใช้“โซเชียลฯ”เกรี้ยวกราด จิตแพทย์ห่วงกลายเป็นวัฒนธรรมไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนไทยใช้ “โซเชียลฯ” บันเทิง-แสดงอารมณ์ จิตแพทย์ห่วงกลายเป็นวัฒนธรรมไทยที่ใช้สื่อไปในทางที่ไม่ดี มีแต่ความเกรี้ยวกราด ส่งผลให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพตามมา

    ปัจจุบันคนไทยใช้โซเชียลมีเดียกันเป็นจำนวนมาก และบ่อยครั้งที่มีการใช้เพื่อแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น กรณีรายการ The Mask singer ที่ไม่ยอมเปิดหน้ากากของหน้ากากทุเรียนที่เป็นแชมป์ว่าเป็นใคร โดยให้ติดตามต่อในสัปดาห์หน้า ก็ถูกกระแสสังคมในโซเชียลมีเดียตอกกลับในแง่ไม่ดีเช่นกัน รวมถึง อีกหลายกรณีที่เกิดขึ้น  

   นพ.ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้าที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ลักษณะการใช้โซเชียลมีเดียของประเทศไทยตอนนี้ค่อนข้างแตกต่างจากการใช้โซเชียลมีเดียของหลายๆ ประเทศเช่นญี่ปุ่น อเมริกาที่ใช้เพื่อการหาข้อมูล การศึกษาหาความรู้ต่าง ในขณะที่ประเทศไทยมีการใช้เพื่อความบันเทิง และมีการใช้เพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึกออกมาอย่างเต็มที่ เพราะคิดว่าไม่มีใครเห็น และไม่มีใครเข้าไปจัดการจึงลุกลามไปเรื่อย มีการด่าทอ ปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังกันผ่านโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็นทางสังคม การเมือง

     ทั้งนี้ ในแง่ของจิตแพทย์มองว่าหากไม่มีการจัดการจะนำสู่การกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทยที่มีใช้สื่อไปในทางที่ไม่ดี มีแต่ความเกรี้ยวกราด และจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพตามมา

    นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหานี้จะไม่มองไปที่รัฐบาลอย่างเดียว แต่ต้องสร้างสังคมโซเชียลมีเดียที่ดี เป็นพลเมืองสื่อออนไลน์ โดยทำ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. ไม่เป็นผู้สร้างความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นภาพ วิดีโอ และทางวาจา 2. ไม่ส่งต่อความรุนแรง และ 3. ช่วยกันตักเตือนคนที่กำลังสร้างความรุนแรงไม่ว่าจะทางภาพ วาจา หรือวิดีโอ โดยตักเตือนด้วยถ้อยคำที่ดีให้เขารู้ตัว แต่ไม่ไปสร้างความเกลียดชังเพิ่ม ซึ่งขณะนี้กรมสุขภาพจิตกำลังมีแผนทำโครงการนี้อยู่ คิดว่าจะมีการเชิญนักวิชาการ และเจ้าของเพจ เฟซบุ๊กที่มีคนติดตามจำนวนมากเข้ามาพูดคุย เรื่องของการใช้โซเชียลมีเดียอย่างถูกต้องไม่สร้างความรุนแรง มิเช่นนั้นความรุนแรงจะกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ