Lifestyle

ติง“โฮมสคูล” ประเมินไร้ทิศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

    “การศึกษาทางเลือก หรือโฮมสคูล” อีกรูปแบบของการศึกษาไทยที่เปิดโอกาสให้คนไทยสามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้หลายรูปแบบแล้วแต่พ่อแม่ผู้ปกครองจะจัดกระบวนการเรียน

       พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  มาตรา 12 เปิดช่องให้คนไทยทุกคน (ใครก็ตามแต่)มีโอกาสและสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้เอง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎหมายรองรับ การจัดการศึกษาทางเลือก มาหลายสิบปี แต่ว่ากันว่า “สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือสพฐ.” ในฐานะผู้ออกกรอบระเบียบการปฏิบัติ ประเมินกลุ่มเด็กการศึกษาทางเลือก ผู้เรียนที่จัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือบ้านเรียน ยังไม่ราบรื่นมากนัก

     ผู้ปกครองมองว่าระเบียบปฏิบัติ ไม่ส่งเสริมให้การจัดการเรียนรู้ของครอบครัวให้เป็นไปด้วยคุณภาพตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

ติง“โฮมสคูล” ประเมินไร้ทิศ

        วัสสาวดี วัฒนสุวรรณ  ผู้ปกครองในกลุ่มภาคีเครือข่ายบ้านเรียน กล่าวว่าเด็กไทยควรได้รับการศึกษาแบบศตวรรษที่ 21 ควรเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา มีอิสระในการเลือกเรียนรู้ ไม่ใช่ถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตของวิชาตามหลักสูตรเพียงอย่างเดียว

      ซึ่งการศึกษาทางเลือก เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้เด็กได้ขวนขวาย เรียนรู้สิ่งที่พวกเขาต้องการ

       “การศึกษาทางเลือก เป็นอีกหนึ่งการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ เรียนสิ่งที่ตนเองชอบ สนใจ มีความถนัด ปัจจุบันมีเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาทางเลือกจำนวนมาก และตามกฎหมายอนุญาตให้บุคคลจัดการศึกษาได้ ไม่ได้รวมอำนาจอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ แต่ตอนนี้ กลับพบปัญหา เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จัดหลักสูตร 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้และมีการประเมินความรู้ความสามารถของเด็กจากการสอบ  ขณะที่การจัดการศึกษาทางเลือกไม่ได้จัดตามหลักสูตรแบบสพฐ. ทำให้การประเมินต้องแตกต่างกันแต่ การประเมินกลับเหมือนกัน และส่งผลต่อการวัดประเมินคุณภาพของเด็ก”

ติง“โฮมสคูล” ประเมินไร้ทิศ

        เหตุผลคือ ผู้ประเมินยังไม่มีความเข้าใจว่าการจัดการศึกษาทางเลือกเป็นเช่นใด ทำให้เกณฑ์การประเมินเด็กๆ ในกลุ่มการศึกษาทางเลือกผิดแผกไปตามหลักที่ควรจะเป็นด้วย เพราะถ้าเอาระบบการสอนแบบ 8 กลุ่มสาระวิชา มาใช้กับเด็กการศึกษาทางเลือกคงไม่ได้

         “เรื่องนี้ มีการพูดมาหลายปี และทางกลุ่มการศึกษาทางเลือกเองพยายามเรียกร้องให้มีการประเมิน ทดสอบศักยภาพของเด็กตามการจัดการเรียนการสอนแบบการศึกษาทางเลือก เช่น เรียนดนตรี กีฬา การทำอาหาร ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ มีการนำหลักคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมมาใช้ แต่จะให้มานั่งทำข้อสอบ เด็กคงตอบไม่ได้ เพราะเราไม่ได้สอนแบบนั้น  ระบบการศึกษาจึงไม่ควรจะมีการประเมินแบบแกนสาระเท่านั้น แต่ต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ประเมินตามความสามารถของเด็กจริง”

ติง“โฮมสคูล” ประเมินไร้ทิศ

      ถ้าระบบการศึกษายังยึดการทดสอบคนด้วยข้อสอบ ไม่ใช่ทดสอบจากการปฏิบัติจริง  

      วัสสาวดี  บอกว่าพลเมืองไทยในอนาคตจะทำอะไรไม่เป็น การศึกษาทางเลือก เด็กเป็นตัวตั้ง กิจกรรมเป็นตัวเสริมศักยภาพ และจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้ทำ เรียนรู้ตามสิทธิเด็ก การศึกษาต้องนำมาซึ่งเสรีภาพ และคุณธรรม ทำให้เด็กเข้าใจโลกนี้ ไม่ใช่เพียงตอบคำถามได้  ตอนนี้ระบบการประเมิน การทดสอบเด็กการศึกษา โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบทางนี้ยังไม่เข้าใจ ยังใช้ความเคยชิน ยึดติดกับข้อสอบ ประเทศไทยจึงไม่เกิดปฎิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง

       ระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นในประเทศ มีเป้าหมายเหมือนกัน คือ การพัฒนาคน แต่วิธีการจัดการเรียนการสอนอาจแตกต่างกัน  วัสสาวดี บอกต่อไปว่าอยากให้เปิดโอกาสให้เด็กการศึกษาทางเลือก โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่าง กระทรวงศึกษาธิการ  มีหน่วยงานที่ดูแลการศึกษาทางเลือกโดยเฉพาะ คัดเลือกคนที่มีความรู้ ความเข้าใจมาดูแล และช่วยสนับสนุนการจัดการศึกษา โรงเรียนทางเลือก ที่ไม่เชื่อระบบท่องจำ ทำข้อสอบอย่างการเรียนในระบบ  แต่ควรจัดระบบการบริหาร การประเมิน ให้เหมาะสมกับวิธีการของโรงเรียนแต่ละประเภท เพราะระบบการศึกษาแบบไหนก็ช่วยพัฒนาเด็ก มีศักยภาพ จบออกมาทำงาน เป็นทรัพยากรบุคคลของประเทศ

ติง“โฮมสคูล” ประเมินไร้ทิศ

         ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าเด็กจากโฮมสคูล ต้องจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และมีมาตราฐานตัวชี้วัดชัดเจน ซึ่งโฮมสคูลต้องจัดทำแผนการเรียนรู้ให้ตรงกับตัวชี้วัดดังกล่าวโดยวิธีการสอนจะทำอย่างไรก็ได้  เช่น จัดการเรียนการสอนรูปแบบใดก็ได้ กิจกรรมใดก็ได้ แต่เด็กต้องอ่านได้ คำนวณได้ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตร  เมื่อจบหลักสูตรต้องมีการประเมินเพื่อการันตีว่าจบตามหลักสูตรจริงๆ

       “ปัญหาของโฮมสคูลเท่าที่ทราบ ยังมีผู้ที่มีความรู้ด้านนี้ค่อนข้างน้อย ซึ่งบางจังหวัดอาจจะขาดผู้รู้ เข้าใจรูปแบบการเรียนการสอนแบบโฮมสคูล เมื่อมีการประเมินต้องทำความเข้าใจหลักสูตรไม่ตรงกันก็อาจสื่อสารต่อกันไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาได้ แต่บางจังหวัดก็จัดการเรียนการสอนโฮมสคูลได้ดีมาก ดังนั้น ตอนนี้เป็นความรับผิดชอบการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว” ปลัดศธ.กล่าว

ติง“โฮมสคูล” ประเมินไร้ทิศ

         อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการเรียนการสอนแบบโฮมสคูล(Homeschool) ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการในลงนามในกฏกระทรวง ว่าด้วยสิทธิการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ 2547 แล้ว โดยจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้ 1. เตรียมความพร้อมโดยศึกษาข้อมูลความรู้ในระดับพัฒนาการของลูก และค้นหาความสนใจพิเศษ 2. ยื่นขอข้อมูลและระเบียบการได้จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามที่คุณอาศัยอยู่ เพื่อทำหลักสูตรหรือแผนการสอนของลูก 3.หลักฐานวุฒิการศึกษาของผู้ปกครองต้องไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า

         4. หากเด็กมีความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อ่อนคณิตศาสตร์ ทางเขตจะให้ระยะเวลาซ่อมเสริม เพื่อประเมินใหม่อีกครั้ง 5. ให้ครอบครัวประเมินความรู้ของเด็กตามหลักเกณฑ์ในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน โดยทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะตรวจสอบปีละ 1 ครั้ง ว่ามีพัฒนาการตรงตามที่ครอบครัวประเมินไว้หรือไม่ และกำหนดความสามารถของเด็กว่าเทียบได้ในระดับชั้นใด และ6. หากครอบครัวใดมีความพร้อมลดลง ไม่สามารถทำโฮมสคูลให้ลูกได้ เด็กสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ตามปกติ ตามระดับชั้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้เทียบไว้

ติง“โฮมสคูล” ประเมินไร้ทิศ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ