Lifestyle

"สมพงษ์"อ.จุฬาออกโรงป้องครูหวั่นอาชีพอื่นแย่งงาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครูจุฬาฯ ตั้งวงถกคนเก่งไร้ตั๋วเป็นครูได้(ดี)จริงหรือ ? "สมพงษ์"อ.ครุศาสตร์ จุฬาหวั่นเป็นจุดด่างของวิชาชีพครู ที่ปล่อยให้วิชาชีพอื่นมาแย่งงาน


       หลังมติคณะกรรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่เปิดทางให้ผู้จบปริญญาตรีทุกสาขา สมัครเข้ารับคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีเสวนา "มุมมองเชิงวิชาการต่อการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูสอบบรรจุครูได้" ที่ระดมอาจารย์ของครูมาวิพากษ์เรื่องนี้

     โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เปิดฉากเสวนา ว่า 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพิ่งปรารภในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าอยากให้ฟื้นกรมการฝึกหัดครูขึ้นมาทำให้เบาใจว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับวิชาชีพครู แต่เมื่อมีมติ ก.ค.ศ.ที่เปิดให้สหวิชาชีพอื่นๆมาสอบแข่งขันเป็นครูผู้ช่วยได้ก็เป็นความขัดแย้งเชิงนโยบายอย่างพิลึก 
       ประเด็นคุณภาพการศึกษาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทั้งคะแนนทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ตกต่ำ หรือแม้แต่คะแนนการทดสอบนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซา ที่ตามหลังประเทศอื่นๆ ต้องยอมรับว่าการศึกษาไทยเข้าขั้นไอซียูทั้งประเทศ อยู่ในภาวะไฟลนก้นต้องพยายามทำทุกอย่างให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ซึ่งวิธีการของคณะครุฯ/ศึกษาศาสตร์ จึงเน้นที่กระบวนการสร้างการเรียนรู้ ให้เด็กได้เผชิญปัญหา แก้ไขโจทย์ต่างๆได้ 
        ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว กล่าวว่าปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยเราวิเคราะห์โรคถูก แต่ฉีดยาผิด ทำให้เรากำลังก้าวเข้าสู่ความผิดพลาด การให้คนเก่งๆรู้เนื้อหามากๆมาสอนหนังสือ มันไม่มีเสน่ห์ เหมือนสากเบือ ไม่มีชีวิตชีวา ไม่รู้ว่าต้องนำเด็กเข้าบทเรียนอย่างไร สอนอย่างไรให้เด็กสนใจ ซึ่งจุดต่างของวิชาชีพครูกับวิชาชีพอื่นๆคือ เรามีต้นทุนทางวิชาชีพ มีการวัดแววความเป็นครู เด็กที่เรียนมาด้วยความตั้งใจ มีแรงบันดาลใจที่จะเป็นครู

         อีกทั้งการเรียนครู มีปรัชญา ศาสตร์ องค์ความรู้เฉพาะ เช่นการออกแบบหลักสูตร การจัดการเด็กที่มีปัญหา การวัดประเมินผลที่สอดแทรกให้กับนิสิต นักศึกษาตลอดการเรียนตั้งแต่ปี 1-5 เช่นเดียวกับการสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพ              

      "เวลานี้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เหมือนถูกย่ำยีมาก ถูกมองข้ามความสำคัญ ขณะที่คุรุสภาที่เป็นองค์กรวิชาชีพครูกลับนิ่งเฉย ซึ่งน่าจะต้องพิจารณาบทบาทตัวเองด้วย ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาสู้คราวนี้ก็จะเป็นจุดด่างของวิชาชีพครู ที่ปล่อยให้วิชาชีพอื่นมาแย่งงาน"ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ