Lifestyle

กรนเสียงดัง เสี่ยงหยุดหายใจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนไทยนอนไม่หลับถึง 20%  กรนเสียงดัง เสี่ยงหยุดหายใจ  สมองพักผ่อนไม่เพียงพอ ความจำไม่ดี เพิ่มอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

      นพ.วชิระ เพ็งจันทร์   อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดงานวันนอนหลับโลก  ว่า อาการกรนที่เกิดในขณะหลับ เป็นเสียงที่เกิดขึ้นจากการสั่นสะเทือนของลมหายใจ ผ่านช่องทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบลงและหายใจออก และอาจจะนำไปสู่การเกิดการหยุดหายใจในขณะหลับได้ ซึ่งผู้ที่มีอาการภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น จะนอนกรนเสียงดัง  หยุดหายใจ หายใจสะดุด หรือเฮือกสำลัก ทำให้สมองพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ เมื่อตื่นนอนจะทำให้ไม่สดชื่น เหมือนนอนไม่อิ่ม มึนศีรษะ ระหว่างวันรู้สึกง่วงนอน อาจมีเผลอหลับ เพลีย หงุดหงิดง่าย ความจำไม่ดี

       ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น มีสาเหตุจากภาวะอ้วน หรือความหย่อนของกล้ามเนื้อในช่องคอหรือโครงสร้างกระดูกใบหน้าที่เล็กผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยบางคนมีปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ก็พบว่าผู้ป่วยที่ผอมก็มีอาการหยุดหายใจขณะหลับได้ อีกทั้ง การสูบบุหรี่ก็ทำให้เมือกในช่องคอเหนียวข้นมากขึ้น และการดื่มสุราทำให้กล้ามเนื้อช่องคอหย่อนขึ้น รวมถึงผู้มีโรคประจำตัว ส่วนการรักษา ต้องรับการตรวจวินิจฉัยจากห้องปฏิบัติการการนอนหลับก่อน เพื่อประเมิน ความรุนแรงและปัจจัยที่มีผลต่อการกรน

        “ผู้ที่นอนกรนมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนั้น อาจต้องใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก เพื่อลดปัญหาการอุดตันของทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นการรักษาการหายใจผิดปกติได้โดยตรง หรืออาจใช้การฝึกท่านอนให้นอนตะแคง เพราะการนอนหงายมีผลทำให้นอนกรน อาจใช้ทันตอุปกรณ์เพื่อกันลิ้นตกหรือปรับตำแหน่งของกรามในขณะที่นอนหลับ ก็จะลดปัญหาการนอนกรนได้”นพ.วชิระกล่าว
          ด้าน ศ.พญ.อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์  นายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนเราจะใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตในการนอนหลับ การนอนหลับที่มีคุณภาพจึงมีความสำคัญ จากการเก็บข้อมูลในทุกกลุ่มวัยของโรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าคนไทยมีปัญหานอนไม่หลับถึง 20% อย่างไรก็ตาม การนอนหลับที่ไม่เพียงพอยังส่งผลกระทบกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตอีกด้วย โดยที่พบบ่อยในวัยทำงาน คือ มีความง่วงนอนระหว่างวัน ทำให้ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนในวัยเด็กก็จะมีปัญหาเรื่องพัฒนาการในด้านต่างๆที่มีพัฒนาการไม่สมวัย ไม่มีสมาธิระหว่างเรียนทำให้ผลการเรียนแย่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบความปกติจากการนอนไม่หลับและที่พบบ่อย  ได้แก่ นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ภาวะขาอยู่ไม่สุข การนอนละเมอ เป็นต้น 

       “ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากการอุดกั้นพบความชุกในประเทศไทยในเพศชาย 4.8% ในเพศหญิง1.9% และในเด็ก 1 % โดยภาวะการหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นจะทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะนอนหลับ ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่สนิทจนทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรค ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง และยังเพิ่มอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกด้วย” ศ.พญ.อรุณวรรณกล่าว

      วิธีการสังการอาการว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคนอนไม่หลับหรือไม่ ได้แก่ หากนอน 30 นาที แล้วยังไม่หลับ ก็ให้สงสัยว่าอาจมีความเสี่ยง หรือนอนหลับแต่เมื่อตื่นขึ้นมากลับรู้สึกไม่สดชื่น มีความอ่อนเพียร ก็ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคดังกล่าวได้และควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจ เป็นต้น เช่นเดียวกับการนอนละเมอที่ถือเป็นความผิดปกติของร่างกาย แต่จะผิดปกติจนส่งผลกระทบหรือไม่ต้องดูที่ลักษณะการละเมอ เช่น หากละเมอแล้วลุกขึ้นเดินไปที่ต่างๆ ก็ต้องหาทางแก้ไข เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เป็นต้น ส่วนวิธีการรักษานั้นมีตั้งแต่การหาสาเหตุของการนอนไม่หลับและแก้ที่สาเหตุไปจนถึงการให้รับประทานยา เป็นต้น 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ