Lifestyle

อนุรักษ์วัฒนธรรมรามเกียรติ์ ครั้งที่ 1

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หัวใจไทยวันนี้ ติดตามงาน “อนุรักษ์วัฒนธรรมรามเกียรติ์ ครั้งที่ 1”ที่โรงละครกาดเธียเตอร์ จังหวัดเชียงใหม่เพื่อเป็นการฟื้นฟูการแสดงโขน นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย

      เมื่อเร็วๆนี้ “วีระ โรจน์พจนรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “อนุรักษ์วัฒนธรรมรามเกียรติ์ ครั้งที่ 1”ที่โรงละครกาดเธียเตอร์ จังหวัดเชียงใหม่เมื่อเร็วๆนี้   

      โดยงานครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูการแสดงโขน และอนุรักษ์นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยไว้เป็นมรดกของชาติสืบทอดสู่คนรุ่นหลัง โดยจัดแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน “ทศกัณฐ์สั่งลา รูปอินทราครวญ”  ซึ่งเป็นตอนที่หาชมได้ยากและสูญหายไปกว่า100 ปี 

อนุรักษ์วัฒนธรรมรามเกียรติ์ ครั้งที่ 1

        และที่ผ่านมาไม่มีการนำออกมาจัดแสดงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งในครั้งนี้ได้มีการรื้อฟื้นนำมาจัดการแสดงอีกครั้ง เพื่ออนุรักษ์สืบสานมรดกของชาติต่อไป  โดยเนื้อหาของโขนตอนดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับศึกสุดท้ายของทศกัณฐ์ก่อนที่จะจบชีวิตโดยได้แปลงกายเป็นพระอินทร์มี 10 หน้า 

         นอกจากนี้ กิจกรรมภายในงานยังมีการขับร้องเพลงในหลวงของแผ่นดิน โดยด.ช.อิสระ ไชยศิริ นักเรียนชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนวารี จ.เชียงใหม่ การแสดงชุดสามมหาเทพประทานพร โปรยข้าวตอก ที่นำออกแสดงเป็นครั้งแรกโดยผู้เชี่ยวชาญประธานผู้ประกอบพิธีไหว้ครู การแสดงระบำนารายณ์เจ็ดปาง

อนุรักษ์วัฒนธรรมรามเกียรติ์ ครั้งที่ 1

       ซึ่งเป็นบทละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง กรุงพานชมทวีป ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน ทศกัณฑ์เกี้ยวนางสีดำ ซึ่งนำแสดงโดยศิลปินรุ่นเยาว์ และนิทรรศการ “อนุรักษ์วัฒนธรรมรามเกียรติ์ ครั้งที่ 1” บอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของโขน เป็นต้น

      นายวีระ กล่าวว่า  ขอชื่นชมกับศิลปินแห่งชาติและบรรดาลูกศิษย์ที่รวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสังคมโดยการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ได้นำมาจากมหากาพย์รามายณะหรือรามเกียรติ์ ซึ่งไทยและประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับมาจากอินเดียเข้าสู่ประเทศ และมีการพัฒนาในรูปแบบของนาฏศิลป์และศิลปกรรมอาทิ ภาพจิตรกรรมฝาผนังรามเกียรติ์ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว)  ประติมากรรมในโบราณสถานต่างๆที่กัมพูชา เป็นต้น   

อนุรักษ์วัฒนธรรมรามเกียรติ์ ครั้งที่ 1

      ทั้งนี้  ที่ผ่านมาวธ.ได้ให้การส่งเสริมและเผยแพร่การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์มาอย่างต่อเนื่อง  อาทิ การจัดงาน“มหกรรมรามยณะอาเซียน”  การสนับสนุนให้โรงเรียนต่างๆจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับโขน รวมถึงการส่งสริมให้โรงเรียนที่จัดการศึกษาให้แก่เด็กพิเศษสอนโขนให้เด็กๆกลุ่มนี้   และจัดตั้งคณะโขนเยาวชน รวมทั้งวธ.จะผลิตหัวโขนสำหรับเด็กขึ้นมาโดยเฉพาะอีกด้วย

         “โขนเป็นนาฏกรรมชั้นสูงที่มีการอนุรักษ์และสืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน  ถือเป็นมรดกอันทรงคุณค่าของชาติที่แสดงถึงเอกลักษณ์โดดเด่นของไทยและเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ มีการแสดงท่าทางที่อ่อนช้อย สง่า สวยงาม รวมทั้งมีศิลปกรรมการแต่งกาย การจัดทำฉาก จัดทำบท และการบรรเลงเพลงประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยอย่างโดดเด่น

     ดังนั้น วธ.จะเสนอโขนให้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)ประกาศขึ้นบัญชีจารึกเป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติภายในเดือนมีนาคมนี้โดยยูเนสโกจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ2 ปีตามวาระปกติหลังจากนั้นจะเสนอนวดไทย มวยไทยและอาหารไทย  ซึ่งล้วนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยที่มีคุณค่าและสืบทอดมาอย่างยาวนาน เพื่อประกาศขึ้นบัญชีดังกล่าวด้วย” รมว.วธ. กล่าวทิ้งท้าย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ