Lifestyle

เผยชีวิตหลังกำแพงสูงในศูนย์ฝึกฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 สายใยเพื่อนช่วยเพื่อน ให้โอกาสเยาวชนหลังกำแพงสูงในศูนย์ฝึกฯเตรียมพร้อมก้อนกลับสู่สังคม

 

     “  ทุกอย่างต้องใช้เวลาแลกกับความไว้ใจ..กว่า 1 ปี ที่ผมไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปสัมผัสกับโลกภายนอก แต่ละวันผมต้องนั่งสานตะกร้าไม่รู้กี่ใบต่อกี่ใบ วันแล้ววันเล่า...ทำแบบนี้ซ้ำ ๆ กันหลายเดือน กว่าครูจะไว้ใจกับพฤติกรรมของผม ผมพยายามทำตัวให้ดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ เพื่อขอโอกาสเหมือนเพื่อนคนอื่นบ้าง” ความรู้สึกหลากหลายที่ประดังเข้ามา

     คือคำบอกเล่าถึงวิถีชีวิตหลังกำแพงสูงในศูนย์ฝึกฯ จากปากของไอซ์(นามสมมุติ)ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา กลุ่มเยาวชนที่ทำโครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน ที่รับไม้ต่อจากรุ่นพี่ที่ต้องการใช้เวลาว่างคิดทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม นอกจากไอซ์แล้วยังมีเพื่อนร่วมทีมอย่างจักร(นามสมมุติ) และเพื่อนๆ ในศูนย์ฝึกกว่า 20 คน ที่อาสาเอาตัวและหัวใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน โดยมีครูประชิด ตรงจิต จากศูนย์ฝึกฯ เป็นที่ปรึกษาโครงการ

     “ เห็นรุ่นพี่ที่ทำโครงการนี้ได้ออกไปข้างนอกบ่อยๆ ก็อยากออกไปบ้าง การอยู่ในศูนย์ฝึกฯ เป็นเรื่องน่าเบื่อ” นั่นคือเหตุผลข้อแรกที่ทำให้จักรเข้า มาทำโครงการนี้ หลังได้ฟังรุ่นพี่เล่าประสบการณ์การทำโครงการ ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนกลุ่มอื่น ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น รวมถึงการลงพื้นที่ชุมชนในฐานะวิทยากร” ที่เป็นแรงผลักดันให้เขากล้าที่จะก้าวเดินสู่สังคมอีกครั้ง

เผยชีวิตหลังกำแพงสูงในศูนย์ฝึกฯ

     “ความคิดแว่บแรกที่ครูพาออกไปข้างนอก รู้สึกกลัว แต่ก็อยากออกไป กลัวไปเองว่าเราจะเป็นตัวประหลาดในสายตาคนอื่น กลัวว่าเพื่อนจะไม่ยอมรับ แต่อีกใจกลับคิดว่า เราออกมาหาประสบการณ์ดีๆ คิดดี ทำดี ไม่ใช่ตัวประหลาด”  จักรบอกเล่าความรู้สึกตอนแรก

      เช่นเดียวกับ ไอซ์ที่เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า ครั้งแรกที่ได้ออกมาข้างนอกรู้สึกตัวชาวาบไปเสี้ยวนาที เพราะตั้งแต่มาอยู่ที่ศูนย์ฝึกฯกว่าหนึ่งปี เขาไม่เคยได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอกเลย เวลาเดินไปไหนหรือทำอะไรต้องมีครูคอยเดินตาม หรือจับตามองทุกฝีก้าว แต่การเข้าร่วมโครงการนี้ราวกับปราการแห่งการแบ่งแยกในใจถูกทำลายลง เพราะครูประชิดปล่อยให้เขาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ ได้อย่างสบายใจโดยไม่มีการจำกัดอิสรภาพ

        “ครั้งแรกก่อนที่ครูจะพาออกไปข้างนอก ครูเข้ามาถามผมว่า ถ้าพาไปข้างนอกจะหนีไหม ตอนนั้นรู้สึกน้อยใจมาก เหมือนครูไม่ไว้ใจเรา อยู่ในศูนย์ฝึกฯ ผมทำตัวดีมาตลอด เพื่อขอโอกาส จนมาวันหนึ่งครูประชิดขออนุญาตกับทางศูนย์ฝึกฯ พาผมออกมาข้างนอก ทำให้ผมรู้สึกว่าครูคือคนที่ให้โอกาสเข้าใจและไว้ใจเรา แล้วทำไมเราต้องทำให้ครูเดือดร้อนด้วย ครูสนับสนุนทุกอย่างเพื่อให้ผมได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อน ทำให้ผมรู้สึกสนุก และทุกครั้งที่ไปร่วมกิจกรรมกับสงขลาฟอรั่มผมจะได้ข้อคิดใหม่ๆ กลับมาทุกครั้งว่าอะไรคือคุณค่าและความหมายของการใช้ชีวิต”

เผยชีวิตหลังกำแพงสูงในศูนย์ฝึกฯ

          ทั้งนี้ โครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 เป็นหนึ่งในโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ดำเนินการโดยสงขลาฟอรั่มสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยปีแรกเน้นไปที่การจัดกิจกรรมเรียนรู้เรื่องการจักสานพลาสติก การจัดจำหน่าย เพื่อนำรายได้มาเป็น “ทุน” ให้เพื่อนที่ไม่ญาติมาเยี่ยมมีเงินไว้ซื้อของใช้ส่วนตัว และเป็นเงินทุนในการเริ่มต้นประกอบอาชีพหลังได้รับการปล่อยตัว ขณะเดียวกันแกนนำเยาวชนจะได้“พัฒนาทักษะชีวิตในด้านต่างๆ คือด้านการเตรียมตัวให้พร้อมก้าวสู่สังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

            ครูประชิดระบุว่า “ความรับผิดชอบ” และ “สำนึกพลเมือง” คือโจทย์สำคัญที่ต้องทำและพัฒนาให้เยาวชนเข้าใจก่อน ซึ่งการให้ “ความรักความเข้าใจ”แก่เยาวชนจะทำให้พวกเขาก้าวข้ามผ่านความเศร้าหมองและความกลัวต่อการใช้ชีวิตในสังคมหลังพ้นโทษ ซึ่งตนมองว่า นอกจากการสานตะกร้าแล้ว ควรมีกิจกรรมให้เยาวชนกลุ่มนี้ออกไปถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจักสานแก่คนภายนอกด้วย

     เพราะอยากให้พวกเขารู้จักการให้บ้างไม่ใช่แบมือรอรับแต่เพียงอย่างเดียว โดยวางกรอบไว้ว่า แกนนำที่จะไปสอนต้องเข้าใจแนวคิด และเป้าหมายของโครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นอย่างดี เพราะนอกจากการถ่ายทอดความรู้แล้ว พวกเขาต้องสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับชาวบ้านได้โดยไม่เคอะเขิน

เผยชีวิตหลังกำแพงสูงในศูนย์ฝึกฯ

     “การเป็นวิทยากร ทำให้พวกเขารู้สึกถึงการมีวุฒิภาวะของผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นเพราะต้องควบคุมอารมณ์ การพูดจา การวางตัว รวมถึงเข้าใจหัวอกของการเป็นครูมากขึ้นว่า ยากแค่ไหนที่จะสอนให้คนอื่นเข้าใจ”

     ขณะเดียวกันการพาเด็กออกมาข้างนอกโดยไม่มีผู้คุมสักคน แม้รู้สึกกลัวว่าเด็กจะหนี แต่ครูประชิดยืนยันอย่างหนักแน่นว่าต้องพาเยาวชนกลุ่มนี้ออกมาเรียนรู้ความเป็นไปของโลกข้างนอกด้วย  โดยครูเองก็ต้องก้าวข้ามความกลัวนี้ไปให้ได้ ภายใต้“ความไว้วางใจและเชื่อใจซึ่งกันและกัน” ระหว่างครูกับศิษย์

     การรับบทบาทวิทยากรครั้งแรกให้กับกลุ่มแม่บ้านตำบลสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และกลุ่มเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทีมงานจากศูนย์ฝึกฯทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกตื่นเต้นมากเพราะเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกในนามของวิทยากร

เผยชีวิตหลังกำแพงสูงในศูนย์ฝึกฯ

      “สอนกลุ่มแม่บ้านง่ายกว่าสอนเด็กศูนย์ฝึกฯ เพราะป้าๆ แม่บ้านจะเอ็นดูเราและตั้งใจทำตามที่เราสอน ส่วนเด็กศูนย์ฝึกฯ รุ่นราวคราวเดียวกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะให้เขาสนใจ น้องบางคนในศูนย์ฝึกฯ ที่มีความตั้งใจเรียนรู้ก็มีแต่เป็นส่วนน้อย ผมไม่ขออะไรมาก ใน100 คนที่เราสอนขอเพียง 10 คนที่สานตะกร้าเป็นผมก็ภูมิใจแล้ว ไม่ได้หวังให้เขาทำเป็นทั้งหมด เพราะอย่างน้อยนั่นคือ อาชีพเสริมที่จะติดตัวไปตอนที่เขาออกจากศูนย์ฝึกฯ เหมือนผมที่มีทักษะในด้านนี้  จักรเอ่ยขึ้นหลังถูกตั้งคำถามถึงความยากง่ายของการเป็นวิทยากรทั้ง 2 กลุ่ม

          จากจุดเริ่มต้น...ที่ต้องการ “ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม” ด้วยการนำเงินที่ได้จากการขายตะกร้าไปช่วยเพื่อนที่ไม่มีญาติมาเยี่ยม ซึ่งเงินที่ได้มาจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนต่อทุน ส่วนที่นำไปช่วยเหลือเพื่อน และส่วนปันผลของสมาชิกแต่ละคน โดยครูประชิดจะให้แต่ละคนนำเงินที่ได้ไปเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อรอวันปล่อยตัวที่พวกเขาจะได้คืนสู่อิสรภาพอีกครั้

       “ถ้าเปรียบเทียบระหว่างเงิน 20,000 บาท ที่ขายยาได้ตอนนั้น ซึ่งต้องเสี่ยงกับอิทธิพลมืดและตำรวจ กับเงิน 200 บาท ที่ขายตะกร้าได้ตอนนี้ แม้ค่าเงินจะแตกต่างกันลิบลับ แต่มันเทียบกันไม่ได้เลยกับความรู้สึกถึงความภาคภูมิใจในหยาดเหงื่อแรงงาน ที่หาเงินมาได้อย่างสุจริต แลกกับการนั่งหลังขดหลังแข็งสานตะกร้าวันแล้ววันเล่า กว่าจะได้มาสักใบมันรู้สึกภูมิใจมาก”จักรบอกเล่าถึง ค่าของเงินที่แม้จะแตกต่างในจำนวน แต่ความภูมิใจที่ได้กลับมีมากกว่า

            ขณะที่ไอซ์บอกเล่าความฝัน หากได้รับอิสรภาพว่า อยากมีที่ดินสักแปลงปลูกบ้านหลังเล็ก ๆ และทำเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เขามองว่า คำสอนของในหลวงคือหลักปรัชญาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะสอนให้คนไทยรู้จักความพอเพียงพอประมาณและมีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่

      ถึงแม้การเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกฯ ของทั้ง 3 คนจะต่างที่มาต่างวาระกัน แต่ในวันนี้ทั้ง 3 คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน คือประสบการณ์ชีวิตที่ดี ที่ทำให้พวกเขาได้รับโอกาสสำคัญ นั่นคือโอกาสของการเป็น “ผู้ให้” ยิ่งพวกเขาให้ความรู้จากคนอื่นมากเท่าไร พวกเขาก็ได้รับความสุขและความภาคภูมิใจมากขึ้นเท่านั้

เผยชีวิตหลังกำแพงสูงในศูนย์ฝึกฯ

      “ข้อผิดพลาดในอดีตคือบทเรียนที่ผมต้องเรียนรู้ หลังจากที่ต้องมาใช้ชีวิตที่นี่ทำให้ผมต้องมีสติ ใจเย็นมากขึ้น และหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นอีกครั้ง เราจะไม่ได้อยู่ในจุดๆ นี้อีก และคงไม่ได้รับโอกาสดี ๆ แบบนี้อีกแล้ว ทำให้เราต้องกลับมาคิดให้ไกลกว่าเดิม เมื่อก่อนไม่รู้ว่าเวลาทำผิดแล้วเราจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้รู้แล้วว่าชีวิตที่ต้องมาอยู่ศูนย์ฝึกฯ ไกลบ้าน ไม่มีใครมาเยี่ยม เป็นอย่างไร ถามว่าใครบ้างไม่อยากกลับบ้าน ใครบ้างไม่อยากมีอิสรภาพ แต่ในเมื่อเราทำผิด เราก็ต้องชดใช้ความผิด และเมื่อรู้ตัวว่าผิด เราก็ต้องทำตัวของเราให้มีคุณค่ามากที่สุด” ไอซ์สะท้อนความรู้สึกลึกๆ ที่อยู่ในใจ

     แม้นิยามความรักจะมีคำจำกัดความหลายรูปแบบ แต่สำหรับเยาวชนกลุ่มนี้ คำนิยามความรักของพวกเขาคือ“รักคือการให้อภัย”ที่หมายรวมถึงการได้รับโอกาสจากคนรอบข้างที่พร้อมจะเปิดรับพวกเขาสู่โลกใบใหม่ในวันที่กลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง.

     0 มูลนิธิสยามกัมมาจล 0 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ