Lifestyle

เอกชนหนุนนโยบายหนังสือยืมเรียน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เอกชนหนุนหนังสือยืมเรียน แนะหนังสือเรียนให้จัดพิมพ์อย่างดี เช่น กระดาษถนอมสายตา ส่วนแบบฝึกหัดพิมพ์ระดับกลางและแจกทุกปี ขณะที่บางวิชาให้ใช้สื่ออื่นแทนหนังสือ

        เมื่อวันที่ 23 ก.พ.60 ดร.ชัยพฤกษ์  เสรีรักษ์  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้นายศุภเสฏฐ์ คณากูล  นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน  ได้เข้าพบและหารือถึงแนวทางการดำเนินการ ตามนโยบายหนังสือยืมเรียน ในโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ที่ให้เปลี่ยนจากแจกรายบุคคลมาเป็นให้ยืมเรียน ซึ่งทางสมาคมฯ เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว และมีข้อเสนอแนะ ว่า ควรแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ หนังสือยืมเรียน ควรจัดพิมพ์อย่างดี ไม่ให้ฉีกขาดง่าย และใช้กระดาษถนอมสายตา   ส่วนแบบฝึก จัดพิมพ์ระดับปานกลาง อนุญาตให้นักเรียนสามารถขีด เขียน คำตอบลงในแบบฝึกหัดได้ และขอให้ซื้อใหม่ทดแทนปีต่อปี รวมถึงยังมีความเห็นว่า  บางวิชาไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเรียน อาทิ วิชาพลศึกษา ซึ่งเน้นการปฏิบัติจริง  หรือบางวิชาสามารถใช้สื่ออิเล็คทรอนิค แทนหนังสือเรียนได้ อาทิ วิชาการงานและพื้นฐานอาชีพ วิชาภาษาอังกฤษ  เป็นต้น ดังนั้น การจัดพิมพ์หนังสือยืมเรียนควรพิจารณาตามธรรมชาติของแต่ละรายวิชา 

         อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ดี จึงมอบหมายให้สำนักนโยบายและแผน  สำนักงานปลัดศธ. หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกศน. ไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้นพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา

      ปลัดศธ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในส่วนของงบสนับสนุนหนังสือยืมเรียน ในปีงบประมาณ 2561   เบื้องต้น จะเสนอตามกรอบงบประมาณเดิมตามโครงเรียนฟรี เรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ในส่วนค่าใช้จ่ายหนังสือเรียนฟรี  ประมาณ  8,177 ล้านบาท แบ่งเป็น สพฐ. 5,125ล้านบาท  สอศ. 1,425  บ้านบาท  สช.1,249 ล้านบาท และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 378ล้านบาท  ซึ่งแม้จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินการจากหนังสือเรียนฟรี มาเป็นหนังสือยืมเรียน แต่รมว.ศึกษาธิการ ก็ไม่มีนโยบายที่จะโอนงบประมาณที่เหลือไปทำอย่างอื่น แต่อยากให้บริหารจัดการงบที่เหลืออยู่ไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนส่วนอื่น ๆ ในโครงการเรียนฟรีฯ ต่อไป

             “ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางแนวทางการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น วิธีการยืมหนังสือ ว่าจะให้นักเรียนนำกลับไปที่บ้านด้วยหรือไม่  รวมถึงจะให้ยืมเรียนในระดับชั้นใดบ้าง เพราะหากเด็กเล็กเกินไป อาทิ ระดับอนุบาล หรือชั้นประถมศึกษาตอนต้น ก็อาจจะยังไม่เหมาะที่จะให้หนังสือยืมเรียน   เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สำนักพิมพ์ องค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา( สกสค.) ได้เตรียมวางแผนการทำงาน เพื่อให้เริ่มดำเนินการได้ภายในปีการศึกษา 2561”ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ