Lifestyle

กว่า 9 ปีบนเส้นทางที่งัดข้อบริษัทน้ำเมา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“อะไรเกิดขึ้นแล้ว ดีเสมอ” นพ.สมานโพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวหลังถูกย้ายพ้นตำแหน่งที่ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เพียง2วัน เบื้องลึกลือให้หึ่งบริษัทน้ำเมาอยู่เบื้องหลัง

        หลังนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)ลงนามคำสั่งโยกย้ายนพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้ได้ชื่อว่ามือปราบน้ำเมา จากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปเป็นผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คร. เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 จากนั้น 2 วันนพ.สมานโพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “อะไรเกิดขึ้นแล้ว ดีเสมอ”

          นพ.สมาน ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกับการโยกย้ายครั้งนี้ว่า ไม่ได้ติดใจ เพราะได้ไปรับตำแหน่งใหม่ในสำนักที่ใหญ่ขึ้น ความรับผิดชอบมากขึ้น แต่แรงกดดันน้อยลง

      แม้การโยกย้ายครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นการปรับโยกตามปกติพร้อมกับข้าราชการคนอื่นในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักอีก 7 คน ทว่าในตำแหน่งที่นพ.สมานนั่งอยู่เดิมนั้น อาจจะไม่ปกติก็เป็นได้

     ก่อนที่จะมีคำสั่งโยกย้าย นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์(ครปอ.) เปิดเผยว่า ทราบมาว่ามีการส่งต่อข้อความในกลุ่มไลน์รวมถึงมีการพูดคุยกันชัดเจนในงานสัมมนาเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าในเร็วๆนี้จะมีคำสั่งฟ้าผ่า ย้ายนพ.สมาน โดยงานนี้มีธุรกิจน้ำเมายักษ์ใหญ่ค่ายหนึ่งอยู่เบื้องหลัง สาเหตุที่มีการสั่งย้าย เนื่องจากเขาระบุว่า นพ.สมานไม่เอื้อต่อการทำมาค้าขาย ขัดขวางการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีคำสั่งย้ายแน่นอน

     ตลอดเวลากว่า 9 ปีที่นพ.สมานนั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักฯควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นผู้อำนวยการคนแรกนับแต่ที่พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2551  ได้มีการดำเนินการตามพรบ.ดังกล่าวมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจจับความผิดตามมาตรา 30 ที่ห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะที่เป็นการส่งเสริมการขายทั้งการลด แลก แจก แถมมาตรา 32 ที่ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ ที่คล้ายกับเป็นการงัดข้อกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการน้ำเมาโดยตรง ที่ล้วนมีการนำกลยุทธ์ทางการตลาดและโฆษณารูปแบบใหม่ๆมาใช้เสมอ

     ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งวงการน้ำเมาและวงการบันเทิง คือ การดำเนินการความผิดที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านโซเชียลมีเดียของศิลปินดารานักแสดงและผู้มีชื่อเสียงในสังคม  จากการที่โพสต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เห็นยี่ห้อชัดเจนลงในสื่อโซเชียลมีเดียส่วนตัวของดาราแต่ละคน ซึ่งเข้าข่ายความผิดเรื่องการห้ามโฆษณา จนต้องเชิญศิลปินดาราที่ปรากฎการโพสต์ภาพดังกล่าวเข้าให้ข้อมูลกว่า 30 คน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีหลายคนที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทน้ำเมาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลศิลปินที่ถูกเรียกสอบ 

     นำมาสู่การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยแยกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กรณีลงรูปภาพโดยลำพัง ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเป็นการเฉพาะตัวบุคคล กลุ่มที 2 กรณีลงรูปโดยมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดและบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกลุ่มที่ 3 ดำเนินคดีกับบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขั้นตอนการดำเนินคดีตามกฎหมาย

       การออกมาเปิดโปงถึงกลยุทธ์มิวสิค มาร์เก็ตติ้งมาใช้ในการโฆษณาและส่งเสริมการขายของบริษัทน้ำเมา ผ่านการเป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดเทศกาลงานดนตรีต่างๆ และมีการเปิดซุ้มจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในงาน ซึ่งนพ.สมานได้เคยนำทีมเข้าตรวจสอบเทศกาลดนตรีบางเทศกาลก็พบการกระทำความผิด เนื่องจากมีการแจกเบียร์ให้มีการดื่มฟรีมีการเชิญชวนให้เข้ามาซื้อเบียร์ดื่ม การลดราคา การให้สิทธิ์ในการเข้าชมงาน หรือการให้เข้าร่วมชิงโชคของรางวัล เป็นต้น

     นอกจากนี้ นพ.สมาน ยังเคยออกฟันลานเบียร์ที่มีการเปิดจำนวนมากโดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว โดยระบุว่า ลานเบียร์เป็นกิจกรรมที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 32 ซึ่งได้มีการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการด้านคดี จนนำมาแรงกระเพิ่มจากสังคมไม่น้อย โดยเฉพาะในกลุ่มนักดื่มที่มองว่าการกระทำเป็นลักษณะสุดโต่งเกินไป

      ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการตรวจจับการจำหน่าย ส่งเสริมการขายและโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามงานประจำปี งานกาชาดหรือเทศกาลงานต่างๆด้วย ที่มักมีซุ้มเหล้าเบียร์แจกให้ทดลองดื่มฟรี หรือมีการเชิญชวนให้ซื้อดื่ม ซึ่งเข้าข่ายความผิดทั้งสิ้น ทำให้มีหลายจังหวัดต้องปรับเปลี่ยนงานประจำปีให้กลายเป็นงานกาชาดปลอดเหล้า หรือการตรวจจับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีรูปแบบต่างออกไปจากเดิม เช่น การตรวจจับการจำหน่ายเบียร์แท่งที่บริเวณตลาดกลางคืนย่านสวนลุมพินี รวมถึง การผลักดันกฎหมายห้ามไม่ให้มีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษาในระยะ 300 เมตร

      อาจเรียกได้ว่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดการโฆษณาหรือส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รูปแบบใหม่ออกมาจากผู้จำหน่ายมากมายเพียงใด การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อยู่ในมือก็เดินหน้าทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้าตรวจจับได้ทันท่วงทีเสมอ

    จึงไม่แปลกที่เมื่อมีการโยกย้ายครั้งนี้เกิดขึ้น สังคมจึงมีคำถามว่าเป็นเพราะใบสั่งจากใครหรือบริษัทใดหรือไม่ ????

    “เป็นใบสั่งจากบริษัทน้ำเมาหรือไม่ ผมไม่ทราบว่าเป็นจริงหรือไม่ แต่ถ้าจริงก็ถือเป็นเรื่องดี ที่สะท้อนให้เห็นแนวทางการดำเนินการเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำมานั้นเดินมาถูกทางแล้ว”นพ.สมานกล่าว

      อย่างไรก็ตาม ในแวดวงของกรมควบคุมโรคและข้าราชการ มองเรื่องนี้เป็นเพียงการปรับย้ายตำแหน่งข้าราชการตามปกติเท่านั้น โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งเกิน 4 ปีก็สมควรที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเติบโตไปในตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น และว่ากันว่า ก่อนการโยกย้ายก็ได้มีการแจ้งให้ข้าราชการในกรมแจ้งความประสงค์ว่าใครต้องการปรับย้ายบ้าง และต้องการไปในตำแหน่งใด

      ดูเหมือนแรงกดดันนับจากนี้จะตกอยู่ที่ นพ.นิพนธ์ ชินนท์เวช ผู้อำนวยการฯควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คนใหม่ที่จะต้องเดินหน้าตรวจจับความผิดฐานต่างๆตามพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ได้อย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน มิฉะนั้น จะถูกสังคมมองว่า “ปกป้องธุรกิจน้ำเมา”ทันที!!!!!!

0 พวงชมพู ประเสริฐ รายงาน 0

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ