Lifestyle

ชูการศึกษา4.0 ต้องสอนเด็กมีผลผลิตนวัตกรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิชาการ ชี้การศึกษา 4.0 ต้องมองวงกว้าง ไม่ใช่ผลิตคนเป็นวัตถุดิบทางเศรษฐกิจเท่านั้น ย้ำต้องเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ สอนให้เด็กมีผลผลิต

เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2560 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคณะครุศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดเสวนา ในหัวข้อ "การศึกษา 4.0เป็นยิ่งกว่าการศึกษา" โดยมีรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.)  กล่าวว่าThailand  4.0  เป็นโมเดลเรื่องเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ความมั่นคั้ง มั่งคง ยั่งยืน ซึ่ง Thailand 4.0  ความหมายโดยตรงไม่ใช่เป็นเรื่องการพัฒนาสังคม หรือลดความเหลื่อมล้ำ  เป็นรหัสของรัฐบาล เพื่อสื่อให้รู้ว่าปรารถนาจะเป็นเศรษฐกิจใหม่ให้มีรายได้ต่อหัวสูงภายใน 5-6 ปี เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม  เปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ให้เป็นสินค้านวัตกรรม  ปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมให้เป็นเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม  การปรับเปลี่ยนสินค้าให้เป็นเรื่องบริการมากขึ้น ดังนั้น ไทยแลนด์ 4.0 ต้องการพัฒนาวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนาแล้วต่อยอดในกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย

รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อไปว่าสำหรับการศึกษา 4.0 ถ้ามองในฐานะที่ต้องการสร้างเศรษฐกิจจะเป็นการสร้าง พัฒนาคนที่มี ความรู้พื้นฐาน มีสมรรถนะในการปรับตัว มีใจบริการ แต่การศึกษา 4.0 ต้องมองในวงกว้าง ไม่ใช่เป็นเพียงการผลิตคน เพื่อเป็นวัตถุดิบทางเศรษฐกิจเท่านั้น  แต่ต้องเป็นเครื่องมือในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ   เพื่อสร้างคนมีคุณภาพ เป็นพลเมืองขึ้นมา ไม่ใช่มองเพียงด้านเศรษฐกิจ ความกินดีอยู่ดีเท่านั้น  รวมถึงต้องจุดประกายความตื่นตัวในการดำรงชีวิต และเป็นเครื่องมือในการผลักให้เกิดความสมดุลในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ ของประเทศ

ชูการศึกษา4.0 ต้องสอนเด็กมีผลผลิตนวัตกรรม

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสกศ. กล่าวว่าข้อเสนอระยะเร่งด่วน(1-3 ปี) การศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนสู่ประเทศไทย 4.0 นั้น ต้องเสริมสร้างศักยภาพผู้มีความสามารพิเศษ รวบรวมจัดระบบข้อมูลผู้ที่มีความสามารถพิเศษ อบรมพัฒนาขีดความสามารถ  และมอบหมายโครงงานสร้างนวัตกรรมตามความต้องการของประเทศนอกจากนั้นต้อง พัฒนากำลังคนระดับอาชีวศึกษา ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ  และผู้ปฎิบัติงานที่เป็นฐานผลิตใหม่ของประเทศไทย ขณะที่มหาวิทยาลัยต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคน งานวิจัย และนวัตกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ถึงประเทศจะนำเรื่องเศรษฐกิจมาเป็นตัวตั้ง แต่ถ้าจะก้าวสู่ Thailand 4.0  ต้องไม่ลืมหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต้องมีหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ

ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อาจารย์อาวุโส วิทยาลัยครุศาสตร์ มธบ.กล่าวว่า การศึกษาในอดีตเป็นการศึกษาบริโภคนิยมที่สอนให้คนถนัดในการซื้อ กิน และใช้ ซึ่งถ้ายังเป็นอย่างนี้ การศีกษาไทยจะแย่ ดังนั้น การศึกษายุคใหม่ต้องไม่ใช่การผลิตผู้บริโภค แต่ต้องสร้างนักผลิต โดยการศึกษา 4.0 เป็นการสอนให้เด็กมีผลผลิต มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม ทั้งนี้ การที่มหาวิทยาลัยประกาศเป็นมหาวิทยาลัย 4.0  ไม่ใช่เพียงปรับปรุงสถานที่ให้สวยงาม
แต่ต้องเป็นการผลิตนวัตกรรม สินค้าที่เป็นประโยชน์  ทั้งนี้ การศึกษาเดิมเริ่มจากการสร้างความรู้ สร้างให้เข้าใจ ต่อมาก็ปรับให้รู้จักคิดวิเคราะห์ตีความ ทำงานเก่ง แต่การศึกษา 4.0 ไม่ได้เพียงเท่านั้นต้องเป็นการสร้างทำให้ผู้เรียนสร้างผลผลิตหรือนวัตกรรมใหม่ออกมาได้โดยกระบวนการศึกษา ต้องให้เด็กได้แสวงหาโอกาส นำไปสู่การออกแบบ คิดวิเคราะห์ จากนั้นลงมือปฎิบัติ และนำสู่การสร้างผลผลิตออกมาใช้ประโยชน์

"การจัดการศึกษาไทย 4.0 เกิดขึ้นจริง ประสบความสำเร็จได้ ต้องเริ่มจากผู้บริหาร ผู้สอนต้องเปลี่ยนวิธีคิด ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบเอาคะแนนสูง ทำให้นักเรียนถูกจำกัดอยู่ในกรอบ ไม่สามารถคิดนอกกรอบได้  ครูต้องให้เสรีภาพเด็กเลือกเรียนตามความถนัด โดยส่งเสริม เติมเต็มตามศักยภาพของเด็ก ซึ่งเป็นการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิคมาก รวมถึงต้องเป็นเป้าหมายการศึกษาของชาติ  สร้างเด็กสร้างนวัตกรรม  เลิกการบรรยาย แต่ให้เด็กได้ลงมือทำ เด็กทุกคนต้องมีผลงานและเห็นความสำเร็จอยู่ที่ผลงาน การเรียนการสอนทุกวิชาต้องเป็นแบบเดียวกัน มีการดำเนินการต่อเนื่อง  และทุกคนต้องร่วมมือกันทำ"ศ.กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ