Lifestyle

ผู้เชี่ยวชาญไวรัสแนะเพิ่มคัดกรอง"โรคซิกา"ในการบริจาคเลือด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผชช.ไวรัสแนะศูนย์รับบริจาคเลือดทุกแห่ง เพิ่มข้อคัดกรองโรคซิกา เผยโอกาสรับเชื้อมี 30% วอนสอดแทรกความรู้ป้องกันโรคในละคร ขณะที่รพ.จุฬาฯเปิดศูนย์ฯโรคอุบัติใหม่

     เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่อาคารสิริมังคลานุสรณ์ รพ.จุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อภิปรายเรื่อง "ทำไมเราต้องกังวลไวรัสซิกา" ในงานเปิดตัวศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ว่า สภากาชาดไทยได้เพิ่มข้อคัดกรองการบริจาคเลือด โดยให้ระบุว่าผู้บริจาคเลือดที่เคยไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ด้วย

        เนื่องจากผู้ที่รับเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา มีโอกาสติดเชื้อประมาณ 30% แต่ตัวเลขนี้ยังไม่แน่ชัด ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันจึงต้องมีระบบการคัดกรองเลือดที่มากขึ้น ซึ่งศูนย์รับบริจาคเลือดของโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศควรเพิ่มคัดกรองเช่นนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะต้องวิตกกังวลจนไม่กล้าบริจาคเลือด มิเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาขาดเลือดขึ้นอีก โดยขณะนี้การบริจาคเลือดมีระบบการคัดกรองในระดับหนึ่ง แต่ตัวผู้บริจาคต้องตระหนักและให้ข้อมูลก่อนการบริจาคให้ชัดเจนด้วย เช่น เคยไปพื้นที่ระบาดมาก่อนหรือไม่ หรือเคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกเมื่อเร็วๆ นี้หรือไม่ เป็นต้น   

ผู้เชี่ยวชาญไวรัสแนะเพิ่มคัดกรอง"โรคซิกา"ในการบริจาคเลือด

     "ตอนนี้สิ่งที่ยังไม่รู้และต้องศึกษาต่อไป คือ เมื่อมีการนำเลือดที่รับบริจาคไปเก็บในตู้เย็นแล้ว จะต้องใช้เวลานานกี่วันจึงจะสามารถนำเลือดที่รับบริจาคมาไปใช้ได้ โดยที่ไม่มีการแพร่เชื้อไวรัสซิกาไปให้ผู้ที่รับบริจาค ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาต่อไป"ศ.เกียรติคุณนพ.ประเสริฐกล่าว 

     ศ.เกียรติคุณ นพ. ประเสริฐ กล่าวอีกว่า ชาวบ้านจะไม่ค่อยทราบหรือสนใจเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคภัยที่ราชการมอบให้เท่าใดนัก ดังนั้น จึงต้องมีการสอดแทกข้อมูลความรู้เรื่องสุขภาพ การควบคุม ป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคซิกา หรือการกำจัดลูกน้ำยุงลายไปในละครต่างๆ รวมถึงการปลูกฝังและสอนเรื่องนี้ภายในโรงเรียนด้วย เพื่อให้เห็นความสำคัญตั้งแต่เด็กๆ และสร้างวินัยในการกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วยตัวเอง โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรมองดรื่องเหล่านี้บ้าง เพื่อให้สามารถเอาไปใช้ได้ คนไทยอ่านหนังสือน้อย กี่ปีมาแล้วการอ่านหนังสือไม่ได้ดีขึ้นเลย ดังนั้นต้องปลูกฝังการอ่านให้มาก

ผู้เชี่ยวชาญไวรัสแนะเพิ่มคัดกรอง"โรคซิกา"ในการบริจาคเลือด

        ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา  ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า ศูนย์นี้เปิดให้บริการ ม.ค.2560 แต่มีการทำงานมากว่า 15 ปีแล้ว ทั้งนี้ การตรวจและระบุเชื้อก่อโรคสำคัญๆ ในป้จจุบันสามารถตรวจระบุได้ไม่ถึง 50% จึงต้องมีการพัฒนาการตรวจต่อไป เพราะเชื้อก่อโรคในมนุษย์กว่า 70% เกิดจากสัตว์ การตรวจเพื่อให้รู้ว่าสัตว์ตัวไหนก่อโรคในคนนั้น จะช่วยให้สามารถนำมาเทียบเคียงความชุกของพื้นที่ที่จะเกิดโรคได้ หรือการเกิดโรคจะเกิดขึ้นในฤดูไหน ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราควบคุมการระบาดของโรคได้ โดยศูนย์มีบทบาทและหน้าที่ในการศึกษาพยาธิกำเเนิดของโรค การรักษา วัคซีนและการเฝ้าระวังโรค เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงในการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อุบัติใหม่ และเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ